ปัญหาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย กฎหมายที่กระทบต่อวิถีชีวิตวัฒนธรรมประชาชน ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข
วันนี้ (19 ม.ค. 2564) ตัวแทน ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ นำโดย จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟ ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ประกาศปักหลักชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็น ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. เป็นต้นไปอย่างไม่มีกำหนด เพราะหลังชุมนุมครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ต่อสู้เรียกร้องจนได้บันทึกข้อตกลงการแก้ไขปัญหารายกระทรวง แต่ก็ยังไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหารายกรณีและเชิงนโยบายได้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รัฐบาลเปิดให้มีการเจรจาทางช่องทางออนไลน์
“สถานการณ์การละเมิดสิทธิยังคงปรากฏอยู่ทั่วทุกหัวระแหง พวกเรายังคงเผชิญความลำบากยากแค้น ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่รัฐบาลและข้าราชการยังคงใช้ลมปากหลอกลวงหล่อเลี้ยงเราให้อยู่ได้ด้วยความหวังไปวัน ๆ สถานการณ์ทางนโยบายยังคงเดินหน้ากดทับ ลดทอนสิทธิอันพึงมีของพวกเราอย่างต่อเนื่อง กฎหมายหลายฉบับกำลังเรียงแถวออกมามีผลบังคับใช้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของพวกเราว่าเราไม่ต้องการ ในขณะที่กฎหมายและนโยบายที่พวกเราลงแรงผลักดัน กลับไม่ได้รับการเหลียวแล”
แถลงการณ์ระบุ
ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟ ได้แถลง 12 ข้อเรียกร้องเชิงนโยบายที่ต้องได้รับความชัดเจน คือ 1. ต้องยกระดับการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ให้เป็นหนึ่งในรูปแบบการกำกับดูแลการ บริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาตรา 10 (4) และขอให้สำนักงาน คทช. รับพื้นที่โฉนดชุมชน โดยเริ่มจากพื้นที่สมาชิก ขปส. ที่เสนอเป็นพื้นที่การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนอยู่แล้ว 193 กรณี
2. ต้องเร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาป่าไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้าน และเยียวยาประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้
3. ต้องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยาน แห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติทั้ง 2 ฉบับ
4. กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้นำมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนทั้ง 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน
5. รัฐบาลต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่าง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) และสนับสนุน “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง สิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ….. ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ
6. ข้อเสนอต่อการปฏิรูปที่ดิน ตามกลไกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) บจธ. ต้องทบทวน ปรับปรุงคณะกรรมการ บจธ. พัฒนา สร้างนวัตกรรมรูปแบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและถือครองที่ดินใหม่รูปแบบใหม่ๆ
7. ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนสมาชิกของ ขปส.ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน
8. ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบ โฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และขอให้เร่งรัดจัดการประชุมคณะทำงานฯ ดังกล่าว เป็นกรณีเร่งด่วน
9. ข้อเรียกร้องกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาผลกระทบรายกรณีในทุกมิติ
10. รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบให้มี แนวทางที่ชัดเจน
11. แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ กำกับ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและ กะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553
12. กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
โดยกลุ่มพีมูฟ ย้ำว่า ทุกประเด็นต้องนำขึ้นสู่การเจรจาและเข้าสู่คณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบเท่านั้น
“เรายืนยันว่าในการชุมนุมปักหลักในครั้งนี้ ทุกกรณีจะต้องนำเข้า ครม. เพื่อให้เห็นชอบเท่านั้น และยืนยันว่าการบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 จนถึงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ปัญหาของพี่น้องไม่ได้รับการแก้ไข แม้แต่เรื่องปากท้อง เรื่องค่าครองชีพ ซึ่งทำให้ข้าวยากหมากแพง เราก็ ยืนยันอีกครั้งว่าการชุมนุมครั้งนี้จะเป็นการชุมนุมเพื่อเจรจากับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลที่เป็นเผด็จการเป็นการชุมนุมและเจรจากับรัฐบาลนี้ครั้งสุดท้าย โดยให้มีการเจรจาโดยเปิดเผย เราพร้อมที่จะขับเคลื่อนให้สังคมได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม”
จำนงค์ หนูพันธ์
ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟยังยืนยันว่า การกลับมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ไม่ใช่การร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่รัฐและกลุ่มชนชั้นนำได้สร้างขึ้นมาเพื่อกดทับคนจน แต่คือการที่พวกตนในนามประชาชน จะกลับมาทวงคืนสิทธิอันพึงมีที่ถูกพรากไป ประกาศให้สังคมตระหนักว่า สิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินั้น คือรากฐานตั้งต้นแห่งความเป็นคนในสังคมประชาธิปไตย