ก้าวไกล ส่ง ‘วิโรจน์’ ชิงผู้ว่าฯ กทม. ประกาศพร้อมชน ส่วย – ราชการ – นายทุน

พรรคก้าวไกล เปิดตัว ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร‘ แคนดิเดต ผู้ว่าฯ กทม. ประกาศกวาดล้างเงินใต้โต๊ะ ทลายระบบราชการ หน่วยงานทับซ้อน และไม่เอื้อประโยชน์นายทุน ซัด 8 ปีที่ผ่านมา คนกรุงฯ ถูกผู้ว่าฯ ลอยแพมานานแล้ว

วันนี้ (23 ม.ค. 2565) ที่อาคารอนาคตใหม่ พรรคก้าวไกล เปิดเวทีปราศรัย พร้อมเปิดตัวผู้สมัครชิงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำโดย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล สำหรับชื่อแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ที่พรรคก้าวไกลส่ง คือ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

พิธา ก้าวไกล

“ผมตัดสินใจเอาเสาหลักของพรรคก้าวไกลในสภา มาปักลงกลางกรุงเทพมหานคร เพื่อทำงานให้กับประชาชน วิโรจน์ จะเป็นผู้ว่าฯ ที่เราจะเชื่อได้อย่างสนิทใจ ว่าเขาจะไม่คลอนแคลนเมื่อเจอปัญหา พร้อมประสานงาน เมื่อประสานไม่ได้ ก็ต้องพร้อมชน”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

พิธา กล่าวว่า กว่า 47 ปีของกรุงเทพมหานคร ที่คนกรุงเทพฯ สามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ด้วยตนเอง แต่ตนยังไม่เคยเห็นผู้ว่าฯ คนไหนสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งที่ กทม. มีทั้งทรัพยากร งบประมาณ แต่ทุกปัญหายังสะสม และหมักหมมอยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งปัญหาเรื่องขยะ สิ่งแวดล้อม น้ำท่วม รถติด เราต้องการ ผู้ว่าฯ ที่ไม่ได้เป็นปลัด กทม. เท่านั้น เพราะผู้ว่าฯ ไม่ใช่ข้าราชการประจำ เราต้องการผู้ว่าฯ ที่พร้อมชนทุกปัญหา และไม่มีข้ออ้างใดที่จะหยุดการพัฒนากรุงเทพฯ

8 ปีที่ผ่านมา คนกรุงเทพฯ ไม่สามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ เป็นแรงเฉื่อยของเมือง ที่หยุดยั้งการพัฒนากรุงเทพฯ ปีนี้จึงเป็นปีที่พิเศษ ที่คนกรุงเทพฯ จะสามารถใช้สิทธินั้นได้อีกครั้ง พิธา กล่าวว่า เมื่อปีนี้เป็นปีที่แสนพิเศษ แคนดิเดตผู้ว่าฯ ของพรรคก้าวไกล ก็จำเป็นต้องเป็นคนพิเศษ ไม่ใช่เพียงพิเศษแค่การศึกษา หน้าที่การงาน เท่านั้น แต่ต้องไม่ซุกปัญหาไว้ใต้พรม พร้อมประสาน และทำงานกับทุกภาคส่วน ถ้าประสานไม่ได้ ก็ต้องพร้อมชน โดยเอาผลประโยชน์ของประชาชนคนกรุงเทพฯ เป็นที่ตั้ง

“หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม ถึงเวลาเลือกผู้ว่าฯ ที่พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ ทำไมไม่ประสาน ร่วมมือผมตั้งคำถามว่า จะประสานอย่างไร ต้องชนเท่านั้น ถ้าผู้ว่าฯ ยอมรับชะตากรรม จำนนต่อข้อจำกัด นั่น คือการบอกคนกรุงเทพฯ ให้อยู่กับเมืองนี้ให้ได้แม้จะห่วยแค่ไหน นั่นไม่ใช่ผู้ว่าฯ ที่ชื่อวิโรจน์แน่นอน”

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
 วิโรจน์ ก้าวไกว กทม.

วิโรจน์ ประกาศบนเวทีปราศรัยว่า หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม ถึงเวลาเลือกผู้ว่าฯ ที่พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุผลที่ต้องชน ตนตั้งคำถามว่า จะประสานอย่างไร กับ ‘ส่วยกรุงเทพฯ’ หรือ เงินใต้โต๊ะ เงินสินบน ที่ทุกคนยอมรับว่ามีอยู่จริง และเป็นตัวบ่อนทำลายอนาคตคนกรุงเทพฯ หากจัดการปัญหานี้ได้กรุงเทพฯ ในหลายมิติจะดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ชาวบ้าน พ่อค้า แม่ขายรายเล็ก ๆ กลับต้องมาโดนรีดไถ ท่ามกลางค่าครองชีพแพงอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องจ่ายค่าคุ้มครองชีพให้กับผู้ใดอีก

ประเด็นที่สอง วิโรจน์ มองว่าปัญหาของกรุงเทพฯ คือ ระบบราชการส่วนกลาง และหน่วยงานที่ทับซ้อนในพื้นที่ ปัญหาที่สะท้อนเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน คือ การจัดการกับโควิด-19 ทำให้เห็นว่ากรุงเทพฯ ขาดระบบสาธารณสุขที่ดี โรงพยาบาลมากมายสังกัด กทม. กรมการแพทย์ ทหาร ตำรวจ แต่ไม่เคยบูรณาการกัน หน่วยงานมากมายของ กทม. ที่ต้องปรับรูปแบบการทำงาน ให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

และที่สำคัญต้องพร้อมชนกับราชการส่วนกลางด้วย เช่น โครงการจองคิวฉีดวัคซีนของ กทม. ผ่านโครงการไทยร่วมใจ แต่สุดท้ายวัคซีนไม่มาตามแผน ทำให้การฉีดวัคซีนของคนกรุงเทพฯ เสียโอกาสในการปกป้องชีวิตของตัวเอง และคนในครอบครัว เพราะเรามีผู้ว่าฯ ที่ยอมรับชะตากรรม ยอมรับข้อจำกัด เหมือนกำลังลอยแพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ให้เผชิญกับโรคระบาดตามยถากรรม ถ้าผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์ จะพร้อมชนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะตนเคยชนมาแล้ว และไม่กลัว เพราะไม่ได้ชนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

และประเด็นที่สาม คือ พร้อมชนกับนายทุน วิโรจน์ กล่าวว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องพร้อมเป็นกันชน ที่ปกป้องผลประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ เพราะตอนนี้คนกรุงเทพฯ ถูกสูบเลือดสูบเนื้อจากนายทุน ที่ชัดเจนที่สุด คือ ค่ารถไฟฟ้า ที่ตอนนี้ราคาต่อเที่ยวแพงกว่าสิงคโปร์ ฮ่องกง แต่คนกรุงเทพฯ ก็จำเป็นต้องจ่าย เพราะต้องการการเดินทางที่ดี ค่าโดยสารที่แพง มาจากสัญญาสัมปทานที่พัวพันมากกว่า 10 ฉบับ

หากตนเป็นผู้ว่าฯ จะต้องเปิดเผยสัญญาที่ทำกับบริษัทเอกชน อย่างตรงไปตรงมา เพราะไปเกี่ยวข้องกับคำสั่ง คสช. 3/2562 ที่ยังไม่เปิดเผย คนกรุงเทพฯ ไม่รู้เงื่อนไขว่าไปเจรจา ตกลงอะไรกันไว้ หรือประเคนอะไรให้นายทุนไปแล้วบ้าง นอกจากนั้น ยังต้องเป็นหลักในการผลักดันให้เกิดตั๋วร่วมของรถไฟฟ้าทุกสาย

“กรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่มีระบบรางยาวที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าคนกรุงเทพฯ ไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ เราไม่ต้องการผู้ว่าฯ ที่จะมาสร้างรถไฟฟ้า เราต้องการผู้ว่าฯ ที่ทำให้คนทุกคนขึ้นรถไฟฟ้าได้ต่างหาก”

ก้าวไกล ผู้ว่าฯ กทม.

นอกจากนั้น วิโรจน์ ยังกล่าวถึงแนวทางการพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัย ของคนกรุงเทพฯ ที่สามารถเข้าถึงได้ในราคาถูก และการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองที่ถูกต้อง รวมถึง สวัสดิภาพและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นขณะที่มีคนเดินข้ามทางม้าลาย แล้วเสียชีวิตเพราะถูกรถชน วิโรจน์ มองว่านอกจากเรื่องการออกแบบให้มีความปลอดภัยที่สุด คือ การเจรจากับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ให้ดำเนินการอย่างจจริงจัง และเด็ดขาด หากวิโรจน์ฯ เป็นผู้ว่าฯ ต้องไม่มีคนตายเพราะเดินข้ามทางม้าลาย

สำหรับ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็น ส.ส. คนสำคัญของพรรคก้าวไกล ที่ถูกจดจำผ่านลีลาการอภิปราย ที่สนุก เร้าใจ แม้จะเป็น ส.ส. สมัยแรก แต่ทำหน้าที่ในสภาฯ ได้อย่างดีจนเป็นที่รู้จักของสังคม ครั้งหนึ่ง เคยเกิดวิวาทะกับ อนุทิน ชาญวีรกูล เรื่องการอภิปรายความล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีนด้วย โดยเขาระบุว่า สำหรับงานในสภาฯ จะทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการการศึกษา ในประเด็น ‘แบน T-CAS’ เป็นงานสุดท้าย เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากระบบรับเข้านี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้