คนจนเมืองเชียงใหม่ เผชิญต้นทุนแพง เป็นเมืองที่ไม่รองรับความหลากหลาย

นักวิจัย ชี้ การพัฒนาเมือง “เชียงใหม่เน้นเป็นเมืองสง่างามที่ไม่มีระบบขนส่งมวลชน” ต้นทุนแพง และไม่รองรับความหลากหลายคนจนเมือง โควิด-19 เปิดแผลความไม่มั่นคงในชีวิตทุกมิติ เสนอรัฐใช้นโยบายเยียวยาแบบ “คัดออก” แทนการ “คัดเข้า” มอบสถานะกึ่งพลเมืองให้แรงงานต่างชาติ

26 ม.ค. 2565 – รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในนักวิจัยชุด “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” กรณีศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า เชียงใหม่ตามแผนนโยบายพัฒนาเมืองของรัฐ ถูกจัดวางให้เป็นเมืองหลักในภาคเหนือหลากหลายด้าน ทั้งการท่องเที่ยว การศึกษา ศูนย์การปกครอง เมื่อปี 2554 รัฐบาลประกาศให้เป็น “นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม” จึงถูกคาดหมายในแง่ของการท่องเที่ยวและการพัฒนาด้านนี้มาต่อเนื่อง สะท้อนชัดเจนจากข้อมูลปี 2560 มีนักท่องเที่ยวราว 16 ล้านคน มูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 90,000 ล้านบาท 

“การฟื้นฟูย่านเก่าให้เกิดการท่องเที่ยวขยายกว้างขวาง การเปลี่ยนอันนี้ไม่ใช่แค่รัฐ แต่เอกชน ประชาสังคม กระโดดเข้าไปร่วม การเปลี่ยนเป็นมรดกโลกทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพื้นที่ เช่น การสร้างตึกสูง ตึกสี การฟื้นฟูคลอง และมีผู้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่หายไปและนำมาซึ่งสถานการณ์ที่ตึงเครียดจากการเปลี่ยนแปลงอันนี้” 

คนจนเมือง เชียงใหม่

งานวิจัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการศึกษา 3 ชุมชน โดย รศ.สมชาย ใช้วิธีเปรียบเทียบเป็นลักษณะชุมชนแบบ ชุมชนฉำฉาชุมชนต้นหญ้า และชุมชนดอกนุ่น กล่าวคือ หากเป็นชุมชนฉำฉา จะมีลักษณะเป็นชุมชนขนาดใหญ่ มี 500 ครัวเรือน มีประวัติการต่อสู้เรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน มีความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ และเติบโตพร้อมกับการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยว ผู้คนประกอบอาชีพสัมพันธ์กับเมืองอย่างแนบแน่นประชากรส่วนใหญ่คือคนจนทั้งไทยและชาติพันธุ์

ส่วน ชุมชนต้นหญ้า คือ ชุมชนคนจนขนาดเล็ก 5-10 ครอบครัว ไม่สามารถไปอาศัยในชุมชนแรกได้ อยู่ในพื้นที่กลาง ใกล้เมือง ผู้คนสามารถหากินอยู่กับตลาดและย่านใกล้เคียง มีลักษณะการบุกเบิกพื้นที่รกร้าง พื้นที่ตาบอด (ไม่มีทางเข้าออก) และพร้อมจะถูกไล่รื้อได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจากหน่วยงานรัฐหรือเอกชน และมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นของชุมชนลักษณะนี้อีกมากในเชียงใหม่

และชุมชนดอกนุ่น ซึ่งเป็นชุมชนแรงงานไทใหญ่ อาศัยอยู่รอบ ๆ เขตเมืองด้วยการเช่าห้องเป็นส่วนใหญ่ ทำงานรับจ้าง แรงงานก่อสร้าง กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในเมืองเชียงใหม่ มีเครือข่ายความสัมพันธ์ในกลุ่มค่อนข้างมาก เพราะอพยพตามเครือญาติ  และมี 2 รุ่น คือรุ่นพ่อแม่ และลูกหลานที่มาเกิดในไทย สามารถเรียนหนังสือได้ แต่ยังคงติดปัญหาเรื่องสถานะบุคคล

สำหรับการเก็บข้อมูลงานวิจัยในช่วงแรก เกิดขึ้นก่อนสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ได้ข้อมูลความหวังและความฝันของคนรุ่นลูกที่ฝันจะมีงานที่ดี เพราะมีโอกาสทางการศึกษามากขึ้น รู้ภาษาไทย มีอนาคตที่ดีกว่าพ่อแม่ จึงขยับอาชีพไปสู่ทักษะอื่น ๆ เช่น งานบริการในโรงแรม แต่พอเจอสถานการณ์โควิด-19 เข้ามา ได้ทลายความฝันของคนกลุ่มนี้ไม่น้อย โดยเฉพาะความรู้สึก “ไทยไม่ใช่ ไทใหญ่ก็ไม่เชิง” รศ.สมชาย เปรียบเทียบว่า เกิดภาวะเหมือนนุ่นที่ปลิวมาจากที่อื่นมาตกที่ไทย ตกลงเป็นใครกันแน่

“โควิด-19 เหมือนแว่นขยายปัญหาคนจนให้เห็นชัดเจนมากขึ้น อาชีพกระทบถ้วนหน้า ที่พักอาศัย ชุมชน 2 แบบอย่างต้นหญ้าและดอกนุ่น กระทบหนักมาก โดยเฉพาะอาชีพที่สัมพันธ์กับการท่องเที่ยว ก่อสร้าง ชุมชนที่จ่ายค่าเช่ายิ่งกระทบหนัก ขณะที่การเยียวยาจากรัฐบาลคนจนไทยและชาติพันธุ์เข้าถึงได้แต่ยาก เพราะติดด้านเทคโนโลยี แต่แรงงานไทใหญ่แบกรับภาระเองเพราะการเยียวยาให้สิทธิเฉพาะคนไทย” 

สำหรับข้อเสนอในงานวิจัยกรณีเชียงใหม่ มีประเด็นสำคัญหลัก ๆ ได้แก่ การกำหนดความเป็นไปของเมืองต้องอยู่บนความเป็นธรรมในการเข้าถึงจากเมืองที่งดงามสู่เมืองที่เป็นธรรม การใช้ประโยชน์ของเมืองอย่างเท่าเทียม ต้องไม่ใช่การมุ่งเน้นเศรษฐกิจและความงดงามของท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว หากต้องคำนึงถึงคนจนที่เป็นเส้นเลือดสำคัญของเมืองด้วย

“คนจนที่เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเมือง ควรมีสิทธิมีส่วนกำหนดในการสร้งเมืองด้วย”

ขณะเดียวกัน ควรปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่ดินของรัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่มีความจำเป็นต้องนำมาสนองต่อคนจน เช่น ที่ดินราชพัสดุ ที่สาธารณะ โครงการบ้านมั่นคง ต้องสร้างกลไกให้คนจนเข้าถึงมากขึ้น อุดหนุนคนเช่าบ้านไม่ว่าจะด้านอุปสงค์อุปทาน

“เชียงใหม่เป็นเมืองสง่างามที่ไม่มีระบบขนส่งมวลชน ต้นทุนแพงมาก บ้านเช่าขนาดเล็กคนจนส่วนใหญ่อยู่ขอบเมือง เช่น คอนโดเอื้ออาทร คนจนจึงมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น ควรพัฒนาบ้านขนาดเล็กให้คนจนได้เช่าในเขตเมือง อุดหนุนห้องเช่า ทั้งอุปสงค์และอุปทาน เรื่องพวกนี้ต้องถูกคิดถึง”

คนจนเมือง เชียงใหม่

ส่วนนโยบายการเยียวยาของรัฐบาล ถ้ามีวิกฤตควรคิดถึงว่าทุกคนได้รับผลกระทบ เปลี่ยนเป็นนโยบายแบบครอบคลุมแล้วค่อย ๆ คัดออก “นโยบายการเยียวยาต้องคิดในแง่สวัสดิการสังคมไม่ใช่สงเคราะห์” 

และประเด็นสุดท้าย การยอมรับแรงงานข้ามชาติเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ให้ สถานะกึ่งพลเมือง เพราะนโยบายที่ผ่านมาเป็นการขูดรีด ทั้งที่คนเหล่านี้มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในอนาคตสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาวัยแรงงานกลุ่มนี้ นโยบายอนาคตจึงต้องคิดถึงการปรับเปลี่ยน สถานะของคนกลุ่มนี้ในรุ่นลูก ให้เป็นสถานะกึ่งพลเมืองที่จะได้มีสิทธิและสวัสวัสดิการ

ด้าน วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระ ผู้ทรงคุณวุฒิให้ความเห็นกรณีพื้นที่ภาคเหนือ ในมุมมองแรงงาน ว่า งานวิจัยคนจนเมือง เปรียบเหมือนพรมแดนวิชาการและพรมแดนนโบาย ที่การแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้มีหลายหน่วยงานทำอยู่หลายกระทรวง ในมุมมองของนักแรงงานจะจัดแบ่งกรณีศึกษาทั้ง 3 กลุ่มว่า เป็นแรงงานในและนอกระบบ แต่ในแวดวงวิชาการทั้งไทยและต่างประเทศที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีคำนิยามคนจนเมืองที่ชัดเจนมากนัก แม้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้นิยามว่าเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ขณะที่การเคลื่อนตัวทางสังคม และการเคลื่อนย้ายแรงงานจากการพัฒนาเมืองมีความสำคัญและเห็นคำอธิบายในงานวิจัย ซึ่งการเลื่อนชั้นจะพิจารณาทั้ง การศึกษา การเรียนรู้ การจ้างงานที่เป็นธรรม สิทธิแรงงาน และการคุ้มครองทางด้านสังคม ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในแง่ของการทำงานต่อในอนาคตเชิงประเด็น และจะเห็นแนวโน้มในการลดคนจนลงรวมถึงที่อยู่อาศัย

“ควรมีการทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อเสนอและแก้ปัญหาในระดับนโยบาย ฐานข้อมูลที่สำคัญคือการรวบรวมที่ดินที่ยังคงไม่ถูกใช้ประโยชน์ในเขตเมือง และใครเป็นคนถือครอง ข้อมูลนี้นักวิชาการก็อาจจะทำไม่ได้ ต้องให้หน่วยงานรัฐหรือสำนักงานสถิติฯ เข้ามาช่วย”

ด้าน สุวารี วงศ์กองแก้ว  ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ ในมุมมองนักพัฒนาเมืองเห็นว่า พลวัตของคนจนเมืองในโจทย์งานวิจัยชิ้นนี้น่าสนใจ และต้องอธิบายให้เห็นพลวัตดังกล่าวอย่างชัดเจน ภาพฝันของคนจนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรับฟังเพื่อร่วมวางแผนและกำหนดอนาคตของการพัฒนาเมืองร่วมกัน แต่จะทำอย่างไรในแง่วิธีการ ระบบกลไกที่เปิดให้เข้ามีส่วนร่วม

“การไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตเมืองเป็นข้อความที่น่าสนใจในมุมนักพัฒนาเมือง ที่ผ่านมาการพัฒนาเมืองเราพยายามอุดฐานรากแต่อาจยังเข้าไม่ถึงแรงงาน แต่เราคิดว่าเมืองต้องการความสวยงามและเมืองที่เป็นธรรมควรควบคู่กันไป แต่จะทำอย่างไร งานวิจัยมีอะไรบ้างที่ตอบในแง่ของวิธีการทำงาน”

ทั้งนี้ ยังมีข้อเสนอให้มีการรวบรวมทำข้อมูลในเชิงสถิติและรวบรวมงานวิจัยที่ศึกษาในพื้นที่เชียงใหม่ ร่วมกันถกเถียงและหาข้อเสนอทางนโยบายเพื่อร่วมกันเดินหน้าแก้ปัญหาจริงจังอีกด้วย 

สำหรับงานวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง รวมระยะเวลาศึกษา 2 ปี (กรกฎาคม 2562 – มิถุนายน 2564) จาก 7 นักวิชาการทั่วทั้ง 5 ภูมิภาคของไทย ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล, ภาคตะวันออก, ภาคเหนือ, ภาคใต้,และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 


อ่านเอกสารสรุปผลงานวิจัยชุด“คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ทั้งหมดได้ที่นี่

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส