น้ำมันดิบรั่ว 4 แสนลิตร จากนิคมฯ มาบตาพุด จ.ระยอง หวั่นกระทบท่องเที่ยว ประมงพื้นบ้าน

เกิดเหตุน้ำมันดิบรั่วจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล คืนวันที่ 25 มกราคม ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดักจับน้ำมันไม่ให้กระทบกับประชาชนและระบบนิเวศ

เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 บริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่งจำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า เวลา 21.06 น. บริษัทฯ ตรวจพบน้ำมันดิบรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล (SPM) ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยชี้แจงว่าในทันทีที่เกิดเหตุ บริษัทฯ ได้ระดมทีมเพื่อควบคุมสถานการณ์ตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน อีกทั้งหยุดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมดตามขั้นตอนความปลอดภัย พร้อมแจ้งหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ชุมชน ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมสิ่งแวดล้อม ศูนย์บัญชาการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและกระจายข่าว และกลุ่มบริษัทข้างเคียง 

บริษัทฯ ขออภัยในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และจะดำเนินการสืบสวนเพื่อหาสาเหตุของเหตุการณ์ดังกล่าว ทั้งนี้บริษัทฯ ขอย้ำว่า เราคำนึงถึงความปลอดภัยของพนักงาน ผู้รับเหมา ชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบข้างเป็นสำคัญ

และในวันนี้ 26 มกราคม บริษัท สตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่งจำกัด (มหาชน) ได้ออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า  หลังจากที่เกิดเหตุ ทีมตอบโต้ภาวะฉุกเฉินได้ทำการควบคุมสถานการณ์ตามขั้นตอนการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน และได้ทำการหยุดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมดตามขั้นตอนความปลอดภัย และ “สามารถควบคุมได้และหยุดการรั่วไหลตั้งแต่เวลา  00:18 น. ของวันนี้” และได้ดำเนินการใช้เรือฉีดพ่นน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน เนื่องจากเวลาที่เกิดเหตุเป็นเวลากลางคืน บริษัทฯ จะทำการสำรวจบริเวณที่เกิดเหตุในเช้าวันนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป

บริษัทฯ ได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์เฝ้าระวังและควบคุมสิ่งแวดล้อม (EMCC), ศูนย์บัญชาการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินและกระจายข่าว (EIC), ชุมชนกลุ่มประมงใกล้เคียง, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ศร ชล ภาค 1 และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นอย่างดี ซึ่งประกอบด้วยกำลังพล เรือ และน้ำยาขจัดคราบน้ำมัน เพื่อใช้ในการขจัดคราบน้ำมัน สำหรับการดำเนินงานของโรงกลั่นน้ำมัน บริษัทฯ ยังสามารถเดินเครื่องได้ตามปกติโดยไม่มีผล กระทบจากอุบัติการณ์ดังกล่าว

ด้าน กรมควบคุมมลพิษ ชี้แจงว่า กลุ่มน้ำมันดังกล่าวอาจเคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณหาดแม่รำพึง จนถึงบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า และหมู่เกาะเสม็ด ในเวลาประมาณ 17.00 น. ของวันที่ 28 มกราคมนี้ ในปริมาณ 180,000 ลิตร ส่วนผลสืบสวนสาเหตุ พบจุดน้ำมันรั่วมีลักษณะเป็นรูขนาด 0.9 เซนติเมตร บริเวณข้อต่อระหว่างปลายท่อ และพบว่ามีเพรียงทะเลมาเกาะ คาดว่าเกิดจากการกัดกร่อนโดยจุลชีพ ซึ่งเกิดขึ้นจากเพรียงหรือหอยทะเลทที่เจริญเติบโตบริเวณผิวเหล็กและทำให้เกิดรอยรั่วตามมา

สรายุทธ์​ สนรักษา​ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษาพระแม่ธรณี​ ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการเฝ้าระวังภัยด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคตะวันออก กล่าว​ว่า​ มีความเป็นห่วงกรณีน้ำมันรั่วบริเวณทะเลอ่าวไทย ซึ่งพิจารณาจากปริมาณน้ำมัน มีมากกว่าช่วงที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วที่อ่าวพร้าว​ ปี​ 2556 หลายเท่า มีปริมาณน้ำมัน 45,000 ลิตร ไหลออกจากเรือบรรทุกน้ำมันก่อนถึงจุดทุ่น

เหตุการณ์น้ำมันรั่วรอบนี้​ มีปริมาณน้ำมันถึง 400,000 ลิตร เป็นน้ำมันที่รั่วออกจากท่อโดยตรง คาดว่าแม้จะพยายามเก็บกู้ ก็จะยังคงเห็นความเสียหาย​ จนได้เห็นภาพทะเลสีดำ​ที่กินพื้นที่กว้างกว่า​ เมื่อปี 2556 โดยผลกระทบจะเกิดขึ้นโดยตรง​ กับ 2 ส่วนหลักคือ ส่วนของการท่องเที่ยว​ และประมงพื้นบ้าน ขณะที่การฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา อาจใช้เวลายาวนานกว่า เหตุน้ำมันรั่วอ่าวพร้าวปี 2556​สำหรับบริษัท สตาร์​ ปิโตเลียม​ รีไพน์นิ่ง​ จำกัด​ (มหาชน)​ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจพลังงานในส่วนของการขนถ่ายน้ำมันดิบ โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็น บริษัท เชฟรอน คอร์ปอเรชัน  64% และ บริษัท ปตท. จำกัด อีก 36%

บรรเจิด ด้วงพ้น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านทรัพยากรและประมง อ.เมืองระยอง จ.ระยอง ให้ข้อมูลว่า นี่คือปัญหาซ้ำซากที่เกิดขึ้นกับทะเลระยอง นับตั้งแต่ ปี 2556 ที่มีเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ชาวบ้านได้เสนอมาตรการเผชิญเหตุฉุกเฉิน และมาตรการเก็บกู้น้ำมันดิบตามหลักสากล เริ่มตั้งแต่การสำรวจ จัดเก็บ ฟื้นฟู แต่ที่ผ่านมาบริษัทไม่ได้จัดการตามข้อเสนอเหล่านี้ ทำให้เกิดผลกระทบกับระบบนิเวศจนถึงปัจจุบัน

ไม่ทำตามแผนเผชิญเหตุ มีแต่แก้ปัญหาที่ปลายเหตุ คือพอมีน้ำมันรั่วก็ใช้สารสลายคราบน้ำมัน แทนที่จะจัดเก็บออกไปกลับทำให้น้ำมันตกตะกอนอยู่ใต้ทะเล ส่งผลกระทบทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตั้งแต่หอยทุกชนิดตายยกหาด หมึกกระดองเกยหาด สัตว์น้ำกลายพันธุ์ ไม่มาตามฤดูกาล และหลังจากปี 2556 มีการรั่วอีกเป็นระยะๆ ซึ่งไม่มีการจัดเก็บแบบสากลเลย ซ้ำเติมปัญหาเดิม แต่บริษัทชี้แจงสังคมว่าฟื้นฟูแล้ว สร้างภาพด้วยการทำกิจกรรมสร้างบ้านปลา

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS