คนจนเมืองรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ สร้างตัวยากขึ้น เพราะเมืองเป็นสินค้า ต้นทุนชีวิตสูงขึ้น

นักวิจัยโครงการคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปฯ เสนอ ส่งเสริมที่อยู่แบบเช่า เปิดพื้นที่ค้าขาย ลดทอนความเป็นสินค้าของเมือง เพื่อยกคุณภาพชีวิตคนจนเมืองรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ – ปริมณฑล

26 ม.ค. 2565 – ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในนักวิจัยโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไป ในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ซึ่งศึกษาในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ระยะเวลา 2 ปี (กรกฎาคม 2562 – มิถุนายน 2564) โดยศึกษาร่วมกับ รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยส่วนหนึ่งของผลการศึกษา โดยระบุว่า  ‘คนจนเมืองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล’ หมายถึงคนที่อาศัยอยู่ในย่านคนจน คนที่อยู่ในที่พักอาศัยตกมาตรฐานของคำว่า ‘บ้าน’ ทั้งที่อยู่ในและนอกชุมชนแออัด ย่านชุมชนดั้งเดิม ครอบคลุมไปถึงคนเช่าที่อยู่อาศัยในที่ดินถูกและผิดกฎหมายด้วย เป็นการขยายกรอบการมองคนจนที่จำกัดให้พวกเขาอยู่แค่ในชุมชนแออัดเท่านั้น 

“คนจนเมืองนั้นแทรกตัวอยู่ในทุกพื้นที่ของเมือง พวกเขามีการศึกษาระดับหนึ่ง ปากกัดตีนถีบ พยายามขยับสถานะทางเศรษฐกิจตลอดเวลาอย่างสุดแรง แต่ยังไม่หลุดพ้นจากความยากจน เพราะเมืองมีความเปลี่ยนแปลงส่งผลกระทบเป็นพลวัตรกับคนที่อยู่อาศัยในเมืองด้วย งานวิจัยนี้จึงไม่ได้มองเฉพาะมิติของรายได้ แต่ดูความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจระหว่างความเป็นเมืองกับผู้คนด้วย”

คนจนเมือง รุ่นใหม่ กรุงเทพฯ

วิสัยทัศน์การพัฒนาเมืองของรัฐช่วง 10 ปี หลังมีแนวโน้มตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ ชนชั้นกลาง และชนชั้นสูง เน้นทำให้เมืองเป็นสินค้า แต่ขาดมุมมองจากชาวชุมชนแออัดและคนจนเมือง ทั้งที่พวกเขาได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพัฒนาเมือง และเมื่อก่อนการศึกษาความเป็นเมืองมักมองผ่านสายตาของนักออกแบบเมืองหรือนักวางผังเมืองขาดมิติในการเชื่อมโยงกับกลุ่มคนชายขอบของเมือง

“ที่ผ่านมา คำอธิบายวิชาการตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของชุมชนแออัดและคนจนเมือง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นผลจาการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงเห็นคนในชุมชนแออัดหลายคนสามารถเก็บเงินออมยกฐานะของตนเองได้ เปลี่ยนสภาพแผงค้าเป็นร้านค้า จากแรงงานรับจ้างเป็นผู้รับเหมาขับรถกระบะ ฯลฯ ภาพของคนรุ่นใหม่ที่เกิดและโตในชุมชนแออัดสามารถเรียนจบระดับอุดมศึกษาเป็นภาพที่เห็นได้ไม่ยาก และข้อถกเถียงว่า ‘คนจนเมืองอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบ’ อาจแคบไป ยังมีคนจนเมืองกลุ่มอื่น ๆ ที่ยังไม่มีใครศึกษา ทำความเข้าใจอีกจำนวนมาก เช่น คนจนเมืองที่เช่าที่อยู่อาศัยราคาถูกและคุณภาพต่ำ เป็นต้น”

ผศ.บุญเลิศ ระบุว่า ในงานวิจัยชิ้นนี้ เลือกศึกษา 5 พื้นที่เป็นตัวแทนสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของชุมชนเมือง 2 ประเภท คือ (1) ชุมชนเก่าที่มีสิทธิเช่าที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย ได้แก่ ชุมชนย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ และชุมชนริมคลองชักพระ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และ (2) ชุมชนแออัดที่ไม่มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมาย รวม 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดดวงแข เขตปทุมวัน และชุมชนริมทางรถไฟสามชุมชน คือ ชุมชนหลังโรงพยาบาลเดชา ชุมชนแดงบุหงา และชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี

ผศ.บุญเลิศ กล่าวว่า ในแง่หมุดหมายการสร้างความรู้ใหม่ทางสังคม ระยะแรกของการวิจัยเข้าไปสำรวจเรียนรู้ประสบการณ์ชีวิตของคนจนเมือง หรือคนชนชั้นรากหญ้า คนชายขอบในเมือง โดยใช้แนวคิด ‘สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง’ (The right to the City) ทั้งในฐานะผู้คนที่มีส่วนในการกำหนดวิถีของเมืองและสิทธิที่จะเป็นส่วนหนึ่งของเมือง โดยไม่ถูกเบียดขับออกไปจากพื้นที่ของเมืองในฐานะคนชายขอบ จากนั้น ขยับกรอบคิดดังกล่าวซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นไปสู่ ‘ทฤษฎีเมืองเชิงวิพากษ์’ (Critical Urban Theory) แบบมาร์กซิสม์ ซึ่งเป็นแนวเศรษฐศาสตร์การเมืองที่วิเคราะห์และวิพากษ์การพัฒนาเมืองกระแสหลักตามแนวทุนนิยมเสรีใหม่ ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางสังคมและพื้นที่ จนทำให้เกิดเมืองที่แบ่งแยกระหว่างชนชั้น

“ชุดโครงการวิจัยนี้ จึงชี้ให้เห็นการมีอยู่จริงของ ‘ชนชั้นในเมือง’ โดยคนชนชั้นกลาง นายทุนได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของคนจนเมือง ในฐานะฟันเฟืองหรือคนแบกเมืองไว้ เพื่อทำให้ต้นทุนชีวิตของคนในเมืองราคาถูกลง โดยที่คนจนเมืองต้องขูดรีดตนเอง ซึ่งทั้งคนที่ถูกขูดรีดและคนได้ประโยชน์อาจจะไม่รู้ตัว แต่เป็นพลวัตการมีอยู่ซึ่งกันและกันอย่างไม่เป็นธรรม”

ทั้งนี้ จากการศึกษาประวัติชีวิตของพวกเขาจำนวนหนึ่ง พบว่า คนจนเมืองรุ่นใหม่มีการศึกษาและประกอบอาชีพแตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ที่เคยอพยพจากชนบทปากกัดตีนถีบส่งผ่านกันมา 3-4 รุ่น เคยมาเป็นหาบเร่ แผงลอย หรือบางคนสามารถยกระดับเป็นผู้ประกอบการรายย่อยได้ก็จริง แม้พวกเขาได้รับการศึกษาในระบบสูงขึ้นและเข้าไปทำงานในภาคบริการระดับล่างที่เป็นทางการ เช่น เป็นแม่บ้าน เป็น รปภ. เป็นพนักงานของของในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ พนักงานร้านสะดวกซื้อ และบางส่วนเข้ามาใช้ช่องทางการทำงานบนแพลตฟอร์มออนไลน์ แม้จะไม่มากก็ตาม 

“คนจนเมืองรุ่นใหม่อาจสร้างตัวได้ยากกว่าคนจนเมืองรุ่นพ่อแม่ เพราะว่าต้นทุนชีวิตเขาแพงขึ้น จากวิธีคิดการจัดระเบียบเมืองให้เรียบร้อยสวยงาม การทำย่านเก่ากลายเมืองของผู้ดี การบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะเป็นประโยชน์กับเฉพาะคนบางกลุ่มเท่านั้น รวมทั้งค่าเดินทางต่อวันสูงขึ้น เมื่อเมืองเป็นสินค้ามากขึ้น หาบเร่แผงลอยหายไป คนต้องฝากท้องกับศูนย์อาหารมากขึ้น ผู้ประกอบการรายย่อยต้องเสียค่าเช่าทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากินแพงขึ้น ไม่นับว่าพวกเขาต้องทำงานแข่งกับแรงงานข้ามชาติที่กำลังถาโถมเข้ามา มีน้อยคนมากที่จะไม่มีหนี้สินและเก็บเงินไปซื้อบ้านในชนบทได้”

คนจนเมือง รุ่นใหม่ กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ ผศ.บุญเลิศ ยังเปิดเผยข้อเชิงนโยบายจากมุมมองของคนจนเมืองที่ต้องการใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ได้แก่ (1) การใช้ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งวางอยู่บนฐานคิดเรื่องสิทธิที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิที่ทุกคนเข้าถึงได้ โดยนำที่ดินของรัฐในเมืองมาจัดสรรเพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงในเขตเมือง เช่น ที่ดินของกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นที่ดินที่จดทะเบียนให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ใช้ประโยชน์ ที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ตั้งของหน่วยทหาร ที่ธรณีสงฆ์ ฯลฯ มิใช่นำไปให้เอกชนบางแห่งเช่าเพื่อธุรกิจการค้าด้านเดียว ตัวอย่างรูปธรรม คือ การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมืองของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หลักการคือ ให้การรถไฟฯ​ แบ่งเช่าที่ดินในราคาต่ำกว่าราคาตลาดเพื่อแบ่งพื้นที่เพื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยด้วย

(2) อุดหนุนผู้เช่าที่มีรายได้น้อย ที่ผ่านมา รัฐสนับสนุนให้คนเป็น ‘เจ้าของบ้าน’ ไปเกื้อหนุนวงจรให้คนกู้หนี้เป็นหนี้สินระยะยาว แต่คนจนเมือง ผู้มีรายได้น้อยนอกภาคทางการไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ได้ หรือมีรายได้ไม่มั่นคง ไม่สามารถผ่อนส่งระยะยาวได้ จึงถูกกีดกันออกจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น รัฐควรมีวิธีคิดเรื่องรัฐสวัสดิการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงที่อยู่อาศัยโดยการเช่า เช่นที่เกิดขึ้นที่ประเทศเนเธอร์แลนด์หรือเยอรมัน และ (3) พื้นที่ค้าขายสำหรับผู้มีรายได้น้อย โดยการจัดพื้นที่ค้าขายให้กับคนที่ค้าขายริมทางเท้า แต่หลักสำคัญคือการเก็บค่าเช่าในอัตราที่คนค้าขายรายย่อยจ่ายได้ผศ.บุญเลิศ ระบุว่าปัญหาของบ้านเราคือ วิธีคิดแบบทุนนิยมหนักมาก ทุกครั้งที่มีการจัดศูนย์อาหารก็ต้องมีค่าเช่าแพงมาก คนที่จะมาขายได้ก็ต้องมีทุนมาก แล้วก็ต้องขายอาหารในราคาแพง ทำให้ค่าครองชีพของคนในเมืองแพงไปอีก แม้แต่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยก็เช่นกัน ควรเลิกคิดค่าเช่า แต่คิดเฉพาะค่าน้ำ ค่าไฟ เพื่อให้คนขายอาหาร ขายอาหารราคาถูกคุณภาพดี แก่คนในมหาวิทยาลัย โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็คิดแบบนี้ เพื่อให้พนักงานตัวเองกินอาหารราคาถูก

“ถ้าคนจนในเมืองอยู่ได้ คนชนชั้นกลางก็ได้ประโยชน์กับการมีอยู่ของพวกเขาในฐานะฟันเฟืองขับเคลื่อนเมืองเศรษฐกิจนี้”

ศรินพร พุ่มมณี นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า งานวิจัยได้ขยายและนิยามกลุ่มคนจนเมืองเป็นใครกว้างขึ้น แต่ก็ยังตกร่องรอยความรู้เดิมเมื่อ 30 ปีก่อน คือ คนจนกับการพัฒนาเมืองมีความสัมพันธ์กัน และเมืองอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีคนจนเมือง จึงคาดหวังว่าจะมีการพัฒนาความรู้ใหม่ไปสู่การเปลี่ยนวิธีคิดผู้กำหนดทิศทางของเมือง และคนที่ใช้ชีวิตในเมือง ‘เห็น’ และเข้าใจการมีอยู่ของคนจนเมืองในฐานะผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมือง

ทั้งนี้ ควรเพิ่มข้อเสนอการอุดหนุนที่อยู่อาศัยให้ผู้เช่าที่มีรายได้น้อย โดยรัฐควรมีมาตรการควบคุมราคาห้องเช่าให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่ได้ โดยใช้มาตรการลดหย่อนภาษีแก่เจ้าของห้องเช่า

“อย่างไรก็ตาม ควรมีวิธีการหาทางให้คนอยู่กับเมืองได้มากขึ้น สถานการณ์ขณะนี้ กทม. ไม่สามารถบริหารจัดการเมืองขนาดใหญ่ได้ ดังนั้น ควรกระจายอำนาจให้ผู้อำนวยการเขตมีอำนาจการตัดสินใจร่วมกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อบริหารชุมชนและย่านเศรษฐกิจ ย่านที่อยู่อาศัยโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน มิใช่การผูกขาดอำนาจการตัดสินใจที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ หรือภาครัฐเท่านั้น เพราะหากโครงสร้างราชการยังกดทับชาวบ้าน ไม่มีทางที่เขาจะลืมตาอ้าปากได้”

ด้าน ผศ.นลินี ตันธุวนิตย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวว่า งานวิจัยได้เปิดขยายความลักษณะของคนจนเมืองให้เห็นกลุ่มคนที่หลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้เช่าที่อยู่อาศัย และยังทำให้เห็นกระบวนการเคลื่อนย้ายของคนจนที่ไม่เคยเปลี่ยน และกลุ่มคนยากลำบากมาจากหลายทิศหลายทาง และคนจนเมืองเหล่านี้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการพัฒนาและทุนนิยมมากขึ้นอย่างแนบเนียน ไม่ว่าพวกเขาจะยกฐานะทางเศรษฐกิจ หรือเข้าถึงระบบการศึกษาได้มากขึ้น แต่ก็ไปเจอุปสรรคอื่น ที่ทำให้เขาไม่สามารถหลุดพ้นความจนได้

“สนับสนุนข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการที่ดินของรัฐเพื่อที่อยู่อาศัย และการมีพื้นที่ค้าขายสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อสนับสนุนคนจนเมืองที่กำลังขูดรีดตัวเองเพื่อความอยู่รอด ส่วนประเด็นการอุดหนุนการเช่าอยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยนั้น เป็นข้อเสนอที่ควรทำให้แข็งแรงขึ้น อาจะต้องหาแนวร่วมมากขึ้น เพราะอาจถูกโต้แย้งได้ว่า คนจนเมืองหลายกหลายประเภททำไมจึงมีข้อเสนอเฉพาะคนกลุ่มนี้ แต่คิดเรื่องสิทธิด้านที่อยู่อาศัยให้ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม”


อ่านเอกสารสรุปผลงานวิจัยชุด“คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ทั้งหมดได้ที่นี่

Author

Alternative Text
AUTHOR

ฐิตินบ โกมลนิมิ

อดีตนักข่าวกระทรวงสาธารณสุข ผู้คลุกคลีในสนามข่าวสีแดงชายแดนใต้ เป็นทั้งนักมนุษยวิทยา นักสตรีศึกษา และนักสันติศึกษา ที่ใช้การเขียนเป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมือง