นักวิจัยชี้ ขาดการมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ผู้คนดั้งเดิมสูญเสียที่ดิน อาชีพ อนาคตมีความเสี่ยง คนจนเมืองชายขอบในภาคตะวันออกเพิ่มขึ้น เสนอเปิดพื้นที่ทางการเมือง ให้อำนาจตัดสินใจ ไม่ใช่แค่รับฟัง
26 ม.ค. 2565 – ผศ.ธนิต โตอดิเทพย์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หนึ่งในนักวิจัยโครงการวิจัย “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและภาคตะวันออก ระบุว่า กระบวนการเกิดขึ้นของเมืองจังหวัดชลบุรีระลอกแรก มีจุดเปลี่ยนสำคัญ คือการสร้างเส้นทางคมนาคม อย่างถนนสายสุขุมวิท การเดินทางที่สะดวกขึ้น เกิดการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล เช่น เมืองแสนสุข เกิดอาชีพใหม่ ๆ ที่พึ่งพาการท่องเที่ยว เช่น เช่าห่วงยาง ขายอาหาร
ขณะที่การพัฒนาระลอกสอง คือการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Sea Board: ESB) เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานจำนวนมากจากทั่วทุกภาค ยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลก จนเปลี่ยนเมืองโบราณทางประวัติศาสตร์ ให้กลายเป็นเมืองใหม่ใน 3 ลักษณะ ได้แก่ เมืองการท่องเที่ยวแบบดั้งเดิม เมืองอุตสาหกรรม และเมืองท่องเที่ยวระดับสากล เกิดผู้ประกอบการรายย่อยทั้งดั้งเดิมและหน้าใหม่ที่อยู่ในชุมชนแออัด บ้านเช่า เช่น หาบเร่แผงลอย ขับรถสองแถว แรงงานระดับล่าง ทั้งในระบบและนอกระบบ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมและแรงงานรับจ้าง จ้างเหมาช่วง แรงงานในภาคบริการขนาดกลางและเล็ก เช่น รับจ้างล้างจาน เด็กเสิร์ฟ
ขณะที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคมของคนจนเมือง เดิมทีผู้คนยึดโยงกับการเมืองท้องถิ่น แต่หลัง 2557 ผู้นำท้องถิ่นต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐ ทำให้คนจนเมืองต้องรับฟังและปฏิบัติตามเท่านั้น
“คนจนมีโอกาสในการเข้าร่วมค่อนข้างน้อย เช่น นโยบายการจัดระเบียบนโยบายพื้นที่สาธารณะ ส่งผลกระทบต่ออาชีพ วิถีชีวิตและที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองในพื้นที่ และยิ่งพื้นที่ที่มีจำกัด คนจนจำนวนมากพยายามขยับ แต่ยากมาก”
ส่วนแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่อยู่ในฐานะของแรงงานต่างถิ่น มีปัญหามาก่อนปี 2557 มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิทางการเมืองอย่างเป็นทางการอยู่แล้ว เพราะเป็นประชากรแฝง ถูกมองในด้านลบและมีข้อจำกัดค่อนข้างสูง แต่มีพื้นที่ทางการเมืองรอบนอกในการรวมตัวภายใต้สหภาพแรงงาน เคลื่อนไหวการเมืองระดับประเทศ
ด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสังคม คนจนเมือง ถือเป็นผู้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเมือง ทำให้ชนชั้นกลางใช้ชีวิตในเมืองในอัตราที่ไม่สูงมาก และการจับจ่ายใช้สอยของคนกล่มนี้ยังหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจฐานราก จะเห็นได้ชัดว่า “ช่วงโควิด เมื่อคนกลุ่มนี้ย้ายกลับไปอยู่ต่างจังหวัด เศรษฐกิจในเมืองชะลอตัวลงอย่างมาก” ขณะเดียวกัน พวกเขายังเป็นผู้ทำหน้าที่สร้างและรักษาเมือง ในฐานะแรงงานก่อสร้าง และคนเก็บขยะ
ข้อเสนอในงานวิจัยพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระบุว่า การผลักดันสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมืองสู่การพัฒนาเมืองที่ยุติธรรม ต้องมีการพัฒนากฎหมายที่ทำให้เกิดการผลักดันและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมือง รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เปิดโอกาสให้คนจนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น นโยบายจังหวัดจัดการตัวเอง แต่หลังยุค คสช. แนวคิดนี้เปลี่ยไป
“มาตรา 44 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการสร้างการมีส่วนร่วมในเมือง เพราะการยึดโยงระหว่างรัฐท้องถิ่นไม่มี แต่ไปยึดโยงกับอำนาจรัฐที่ใหญ่กว่า การผลักดันการมีส่วนร่วมมีข้อจำกัด ควรเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กับกลุ่มคนจนเมือง มีส่วนร่วมที่มากไปกว่าการรับฟัง แต่ต้องไปถึงการตัดสินใจร่วมกับรัฐได้”
ส่วนการพัฒนาเมืองและอัตลักษณ์ของเมือง ถูกกำหนดมาจากรัฐและนายทุน นโยบายการพัฒนาเมืองโดยเฉพาะอุตสาหกรรมไม่สอดคล้องกับการเคลื่อนย้ายของผู้คน แรงงานต่างถิ่นกลายเป็นคนแปลกแยกในสังคม ทั้งที่ประชากรแฝงมีสูงกว่า 2-3 เท่าของประชากรท้องถิ่น แต่การออกแบบเมืองให้โอกาสสิทธิตามทะเบียนราษฎร์ ไม่ครอบคลุมประชากรแฝงคนที่มีตัวตนในเมือง
“เราต้องสร้างแนวคิดการพัฒนาเมืองใหม่ ภายใต้การเคลื่อนย้ายอพยพของผู้คนด้วย แรงงานเหล่านี้ไม่มีสิทธิมีเสียง ไม่มีความมั่นคง ปลอดภัยในชีวิต เพราะการออกแบบการสัญจรไม่รองรับวิถีชีวิตแรงงานที่อยู่ในเมือง อัตราค่าใช้จ่าย ทั้งค่าน้ำไฟ เดินทาง สูงกว่าคนในระดับกลางค่อนข้างสูง”
ด้าน รศ.ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ผู้ทรงคุณวุฒิที่ร่วมแลกเปลี่ยนและให้ความเห็นต่องานวิจัย ระบุว่า คนจนเมืองเป็นงานศึกษาที่มีคนให้ความสนใจและพูดถึงน้อยมาก งานวิจัยชุดนี้จึงถูกต้องทั้งในแง่หลักการและศีลธรรม ที่ผ่านมาการพัฒนาทุนนิยมมีผลต่อการเกิดขึ้นของชุมชนแออัด การสะสมทุนของชนชั้นนำการขยายตัวของการท่องเที่ยว และการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น โครงการ EEC ทำให้เกิดความยากจนเชิงโครงสร้าง ที่ผ่านมารัฐบาลจะเปรียบเทียบด้านรายได้ว่าการพัฒนาฯ โดยเฉพาะในพื้นที่มาบตาพุต จังหวัดระยอง ประชากรมีรายได้สูงขึ้นถึง 1 ล้านบาท แต่ข้อมูลจากการลงพื้นที่กลับไม่ได้สะท้อนตามตัวเลข ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการกระจายรายได้ในการพัฒนาฯ โครงการขนาดใหญ่ ไม่มีกลไกกระจายรายได้ให้กับคนทุกกลุ่มอย่างที่กล่าวอ้าง การสร้างงาน อาชีพ และเป็นเมืองที่หารายได้ให้กับประเทศ ยังทำให้ภาคตะวันออกแบบรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ส่วนโครงการ EEC หากเดินหน้าเต็มสูบ จะเกิดกระบวนการสร้างคนจนชายขอบ เพราะการสร้างนิคมอุตสาหกรรม หรือเมืองอัจฉริยะ นายทุนเริ่มกว้านซื้อที่ดินจากผู้เช่าดั้งเดิมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน สปก. ซึ่งจะส่งผลในอนาคตที่งานวิจัยต้องศึกษาต่อ และเห็นด้วยว่าจะต้องมีการเสนอให้คนจนเมืองมีส่วนร่วมจัดความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจ และไม่ใช่แค่การเลือกตั้งท้องถิ่น แต่จำเป็นต้องสร้างพลังกลไก เช่น การจัดตั้งเครือข่ายในนามของคนจนเมืองเอง เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง การปรึกษาหารือ ประชามติอาศัยกฎหมาย เพื่อต่อสู้สร้างพลังกลุ่มของคนจน
อ่านเอกสารสรุปผลงานวิจัยชุด “คนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง” ทั้งหมดได้ที่นี่