พบข้อมูลยิ่งพื้นที่มั่งคั่ง ยิ่งพบคนเปราะบาง และมีความซ้ำซ้อนในปัญหา เสนอทางออกด้วยการทำลายกำแพง รวมพลังทุกภาคส่วนยกระดับสุขภาวะคนไทยยั่งยืน ภายในปี 2570 ด้วยธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 – 14 เป้าหมายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 19 ก.ค 68 ในงาน เท่าหรือเทียม : เส้นทางความเหลื่อมล้ำคนจนเมือง ซึ่งมีการจัดเสวนา Policy dialogue ในหัวข้อ “ มาตรวัดความเป็นธรรมของคนจนเมือง “ โดยมี เตชิต ชาวบางพรหม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายสาธารณะเขตเมือง ดำเนินเวทีเสวนา

“คนไร้บ้าน” ตัวชี้วัดสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำ อีกกลุ่มคนจนเมืองที่พบมากในเขตเมืองใหญ่
นพ.อานนท์ กุลธรรมานุสรณ์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มอาสาทางการแพทย์สุขภาพวะข้างถนน ชี้ให้เห็นว่าเรื่องประเด็น “คนไร้บ้าน” ถือเป็นอีกมาตรวัดสำคัญเรื่องคนจนเมือง ต้องยอมรับว่าเรื่องของคนไร้บ้านเป็นปรากฏการณ์ที่พบมากในเขตเมือง ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. พบว่า พื้นที่ซึ่งมีคนไร้บ้านมากที่สุดคืออยู่ในเขตเมือง แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 15 พื้นที่ ส่วนเขตเมืองและตำบล อำเภอ จังหวัดต่างๆ อีก 15 พื้นที่ รวม 30 พื้นที่
ทั้งนี้ ชัดเจนว่าจังหวัดที่ยิ่งมีรายได้มาก ก็ยิ่งพบคนไร้บ้านได้มากขึ้น สวนทางกับสิ่งที่เราคิดมาตลอดว่าในจังหวัดที่มีความมั่งคั่งยั่งยืนหรือร่ำรวย คนก็จะอยู่อย่างมีความมั่งคั่งด้วย แต่ว่าในพื้นที่เชิงเศรษฐกิจกลับมีคนที่ตกหล่นอยู่ เราจะเห็นว่ากลุ่มคนไร้บ้าน เป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางและเจอได้ในเขตเมือง มีความซ้ำซ้อนในปัญหา และหลายคนป่วยเป็นโรคติดต่อไม่เรื้อรัง เช่นเบาหวาน แต่ไม่ยอมรักษา การเข้าไปช่วยเหลือฟื้นฟูสุขภาพคนไร้บ้านเอง มักจะเจออีกประเด็น คือ ไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีการเคลื่อนไหวทางทะเบียนมานานมาก ชื่อตกหล่น จึงต้องไปช่วยให้มีบัตรประชาชน
ส่วนเรื่อง คนไร้บ้านหน้าใหม่ มีสาเหตุหลัก ๆ จากการตกงาน ค้างค่าเช่า เมื่อหลุดจากห้องเช่า ก็มาเป็นคนไร้บ้าน อีกปัญหาที่ตามมาควบคู่กันก็คือ ระบบสุขภาพของประเทศไทย ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับทุกคน ยกตัวอย่างเคสไม่มีบัตรประชาชน แต่เป็นคนไทย ชื่อตกหล่นอยู่ทะเบียนบ้านกลาง เคสนี้ได้โทรไปสอบถามจากทางสายด่วน สปสช. มักจะได้รับแจ้งว่าใช้บริการได้ แต่พอไปโรงพยาบาลหรือไปศูนย์บริการสุขภาพ คำแรกที่โดนถาม คือบัตรประชาชนอยู่ไหน ไม่มีบัตรประชาชนก็ใช้ไม่ได้ จึงสะท้อนให้เห็นว่า ระบบสุขภาพที่มันออกแบบมาให้กับคนทั่วไป เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจว่าบริบทของคนที่เป็นกลุ่มเปราะบาง คนจนเมือง จะไม่เข้าถึงระบบสุขภาพแบบนี้ ซึ่งก็ชัดเจนว่าระบบบริการสุขภาพแบบปกติยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของคนไร้บ้าน ทั้งๆที่คนไร้บ้าน มีความจำเป็นด้านสุขภาพมากกว่าคนทั่วไป

สุดท้าย ข้อสรุปสำคัญ คือ เมืองที่มีคนไร้บ้าน ก็คือเมืองที่ยังไม่โอบรับคนทุกคน มีคนตกหล่นอยู่และแน่นอนว่าคนไร้บ้านเป็นตัวชี้วัดที่ดีมากในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ เพราะว่าไม่ใช่ ตัววัดด้านใดด้านเดียว แต่ว่ามันคือความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา เรื่องอาชีพ เรื่องรายได้ เรื่องที่อยู่อาศัย
“อยากจะชวนมอง และอยากให้เห็นว่าจะทำอย่างไร ให้ปรากฏการณ์นี้ มันโดนติดตามและมองเห็น จึงอยากชวนกันคุยว่า จะทำยังไงให้คนกลุ่มนี้โดนสำรวจและไม่ใช่แค่สำรวจเรื่องสถิติ แต่สำรวจเพื่อการวางแผนในการออกแบบไปช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ” นพ.อานนท์ กล่าว
“หาบเร่แผงลอย” เศรษฐกิจฐานราก ที่นโยบายเมืองที่ยังไม่สามารถัฒนาสู่อาชีพ รายได้ที่มั่นคง
ศ.นฤมล นิราทร ประธานอนุกรรมการวิชาการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า หาบเร่แผงลอย เป็นหนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติของกทม. ในเรื่องของการบริหารจัดการกลุ่มผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ในประเด็นเรื่องการเข้าสู่อาชีพ ข้อสันนิษฐานส่วนตัว คิดว่า กทม. สมัยใหม่ไม่ได้เป็นมิตรกับคนจนเท่าไหร่ ทั้งคนไร้บ้าน ทั้งคนที่มีอาชีพ คนเล็กคนน้อยทั้งหลาย แต่คิดว่าเราโชคดีในวิธีการจัดการที่มีความยืดหยุ่นพอสมควร เพราะฉะนั้นก็จะพูดว่ามีบางอาชีพที่ยังประกอบอาชีพอยู่ได้ ทั้งขอทาน หาบเร่แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์และคนที่มีอาชีพพื้นฐานทั้งหลาย
“จะเห็นเลยว่า ยุคผู้ว่าฯ ชัชชาติ เป็นผู้ว่าฯ ที่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับหาบเร่แผงลอยชัดเจนที่สุด แล้วก็ละเอียดที่สุด แต่ขณะเดียวกันเป็นยุคของการยกเลิกจุดผ่อนผันมากที่สุด ที่เป็นข้อสังเกตก็คือว่า จุดผ่อนผันมีหลายเกณฑ์ เกณฑ์ใหม่ของ กทม. คือ ต้องมีรายได้ไม่มากกว่า 300,000 บาทต่อปี กับถ้าคุณมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐคุณได้เลย อันนี้คือเกณฑ์พื้นฐาน
ส่วนเกณฑ์กายภาพ เช่น ฟุตบาทที่ไปตั้งต้องมีความกว้างระดับหนึ่ง 3 – 4 เมตร แต่หากเป็นในบางจุด 2 เมตรกว่า ๆ หากจะตั้งเป็นจุดผ่อนผันได้ ก็ต้องไปถามคนในบริเวณนั้น ว่าคุณเห็นด้วยหรือไม่กับการที่จะมีหาบเร่แผงลอย พอเป็นลักษณะแบบนี้ ย่านสีลมไม่มีทางได้และทั้ง ๆ ที่เป็นเมืองที่ดูราวกับทันสมัย แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ ลองไปดูซอกซอยหลังสีลมก็จะเห็นความจริงแบบหนึ่ง“ ศ.นฤมล กล่าว
อีกทั้ง จริง ๆ แล้ว ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ถึงตอนนี้ มีการกลับไปทบทวนจุดผ่อนผันทั้งหมดในการทำงานหลังจากที่มีการไล่รื้อแล้ว โดยกลับไปให้สำนักงานเขตแต่ละเขตดูว่าในพื้นที่นั้น มีพื้นที่ไหนบ้างที่สามารถผ่านเกณฑ์ นอกจากนี้ ทุกเขตในกทม.มีผู้ค้าขายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น กทม. จะต้องประกาศจุดผ่อนผันตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป แต่ปรากฏว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบเลยว่าจุดผ่อนผันมีที่ไหนบ้าง
“อันนี้เป็นอันนึงที่แสดง สะท้อนอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องความเข้าใจ ต่อความยากลำบากของคนที่ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำ ที่เขาไม่ใช่มนุษย์เงินเดือน และรายได้ของเขาขึ้นอยู่กับการประกอบอาชีพในแต่ละวัน เพราะฉะนั้น ทำให้เราตั้งคำถามพอสมควรเลยว่า มันจะไปยังไง แต่จริงๆสำนักงานเขตทำงานอยู่ เพียงแต่ว่าออกมาช้ากว่าที่จะเป็น และการช้านั้นคือต้นทุนทั้งหมดของคนที่ประกอบอาชีพ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอะไรที่เราไม่สบายใจ เรื่องฐานข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก การจะพูดถึงว่าหาบเร่คนไหนจน คนไหนไม่จนตามเกณฑ์ คนไหนบ้างที่สมควรได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คนที่ไม่สามารถค้าขายต่อไปได้ กทม.ไม่มีนโยบายไปมากกว่าการหาที่ให้ค้าขายให้ แต่ตอนนี้ก็ยังหาไม่ได้ “ ศ.นฤมล กล่าว


การพัฒนาที่ยั่งยืน ( SDGs ) ที่ต้องมุ่งเดินหน้าทุกเป้าหมาย เพื่อบรรลุแนวทางการแก้ไขความจน
ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ( SDG Move ) กล่าวย้ำถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ว่า เป็นเป้าหมายระดับโลก มีทั้งหมด 17 เป้าหมายหลัก และ 169 เป้าหมายย่อย และแน่นอนว่าไม่ได้ครอบคลุมเพียงเรื่องของความยากจนที่อยู่ในเป้าหมายที่หนึ่ง ที่ต้องหมดไป ต้องเดินหน้าไปพร้อมกับเป้าหมายอื่น ๆ ทั้งความอดอยากที่ต้องหมดไป, สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี, การศึกษาที่มีคุณภาพ, ความเท่าเทียมทางเพศ, การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขอนามัย, พลังงานสะอาด, งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต, อุตสาหกรรมนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานลดความเหลื่อมล้ำเมือง และชุมชนที่ยังยืนบริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ, การแก้ปัญหาโลกร้อน, ชีวิตในน้ำ, ชีวิตชนบท, สันติภาพยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง รวมไปถึงความร่วมมือเพื่อพิชิตเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
“บางคนอาจคิดว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGS จะเกี่ยวแค่คนยากจน ที่อยู่ในเป้าที่หนึ่งหรือไม่ เอาเข้าจริงแล้ว เป้าหมายเรื่องของความยากจนในระดับโลก จะพูดถึงหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดการกับความยากจนที่สุดทั่วโลก ต้องทำให้ได้ อย่างน้อย 5 เรื่อง คือการปกป้องทางสังคมเรื่องอาหารน่าสนใจมาก เขาพูดถึงเรื่องคนจนจะต้องได้รับการคุ้มครองเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ ด้วย และจะต้องมีกฎหมายที่สนับสนุนความยากจน เน้นเกี่ยวกับเรื่องทางเพศด้วย
…ส่วนตัวนี้ยังไม่เคยทำวิจัยในไทย แต่เคยไปปรึกษาทำงานกับอาจารย์ที่อยู่ฟิลิปปินส์และเวียดนาม เริ่มมีการศึกษากันแล้วว่า เวลามันเกิดภัยพิบัติคนแต่ละเพศ แม้กระทั่งเพศทางเลือกเขามีผลกระทบที่ต่างกันภาครัฐเขามีการปรับตัวยังไงบ้าง อันนี้ค่อนข้างน่าสนใจ อันนี้จะเกี่ยวกับเป้าหนึ่ง แต่จริง ๆ แล้วที่เกี่ยวกับคนจน เป้าหมายที่เกี่ยวกับคนจนเรียกว่าอยู่ในทุกเป้าเลย เราจึงจะต้องผลักดันในการช่วยเหลือคนจนหรือว่าจะต้องบรรลุในเรื่องของเป้าหมายทั้งหมด “ ณัฐวิคม กล่าว
ณัฐวิคม กล่าวต่อว่า เวลาเราพูดถึงเป้าหมายของการแก้ไขปัญหาความยากจน คนทั่วไปมักจะมองแค่เรื่องเศรษฐกิจแต่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เรามองการแก้ไขปัญหาที่แยกออกจากกันไม่ได้ เราจะช่วยเหลือความยากจนได้อย่างไร ถ้าหลายคนยังหิวโหยอยู่ หิวโหยในที่นี้อาจจะมีกิน คือมีอาหารที่กินแต่คำถามคือ มีคุณภาพหรือเปล่าเวลาที่เราคุยก็มักจะคิดว่าประเทศไทยไม่หิวโหยแล้วนะ แต่ในระดับโลกที่เขามีการศึกษา ชี้ว่าประเทศไทย เรื่องแก้ไขปัญหาความหิวโหยเราทำได้แย่มาก เพราะว่าเรามีอาหารให้กินเยอะจริง แต่เราทำให้เกิดคุณภาพไหม มีสารตกค้างหรือไม่ ก็ต้องยอมรับว่าเยอะมาก
นอกจากนี้ เราทานอาหารกันครบทุกหมู่ไหม แล้วกลุ่มคนที่เขาผลิตอาหาร ก็เป็นกลุ่มที่ยากจนด้วย กลุ่มคนที่ขายอาหารต่างๆก็เป็นกลุ่มที่ยากจนด้วย เพราะว่าคนรวยไม่ได้ทำอะไรแบบนี้กัน หรือว่าคนที่รวยก็เป็นเจ้าของกิจการ และอาหารที่เรากินเข้าไปมันมาจากการเพาะปลูกที่หลากหลายหรือเปล่า แล้วมันเกี่ยวกับความหลากหลายในไร่ ซึ่งก็อยู่ในเป้าหมายของ SDG อีกเป้าด้วย
“ดังนั้น เรื่อง SDG ตัวชี้วัดมันอาจจะตอบจากการที่รัฐบาลไปบอกว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาไปถึงไหนแล้ว มันเกี่ยวข้องกับพื้นฐานคนยากคนจนยังไง จริงจริงแล้วอยากให้มองว่าเป้าหมายระดับโลก เรามองเป็นกรอบการพัฒนาข้อมูลสภาพัฒฯ หรือกระทรวงต่างๆเก็บข้อมูลก็เป็นหน้าที่ของเขา ส่วนเราก็คือมีหน้าที่ในการซัพพอร์ต เราต้องออกแบบโครงการที่จะตอบโจทย์เรื่องการแก้ไขปัญหาคนจนในเมือง” ณัฐวิคม กล่าว
ยกระดับการแก้ปัญหาความยากจน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 สู่ฉบับที่ 14 ที่หวังการมีส่วนร่วมในข้อเสนอจากทุกภาคส่วน
มนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์ ผอ.กองยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคม สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เริ่มด้วยสถานการณ์ความยากจนโดยภาพรวม ก่อนที่จะไปพูดถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยระบุว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา เห็นภาพชัดเจนว่าคนจนลดลง เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2531 ตอนนั้นจะเห็นสัดส่วนคนยากจน 60% แต่ ณ วันนี้ สัดส่วนคนยากจนอยู่ประมาณ 3% กเกือบ 4% และจำนวนคนจนจะอยู่ประมาณราวๆ 2,300,000 คน อันนี้คือการวัดความยากจนจากเส้นความยากจน ค่าประมาณรายได้ไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท
อีกทั้ง เมื่อเราพูดถึงเรื่องของเส้นความยากจน ก็มักจะบอกว่า วัดเฉพาะด้านรายได้ แต่ต้องย้ำที่วัดรายได้เราจะไปเจาะดูในลักษณะของครัวเรือนยากจนด้วยว่า ความจนมีลักษณะอย่างไร สิ่งที่เราพบก็คือว่า หนึ่งครัวเรือนยากจนจะมีลักษณะของการพึ่งพิงค่อนข้างสูง จะมีหัวหน้าครัวเรือนที่ส่วนมากจะมีอาชีพ ที่เป็นเกษตรกร แล้วก็มีการศึกษา ค่อนข้างต่ำ อันนี้เป็นลักษณะหลัก ๆ ของครัวเรือนที่เราพบว่าเป็นครัวเรือนที่ยากจน
“ถ้ามาดูในเรื่องของคนจนเมือง เรามักจะมีภาพจำว่าคนจนที่อยู่ชนบทจะมีจำนวนมากกว่าคนจนที่อยู่ในเมืองในอดีตใช่ แต่ ณ วันนี้ มันใกล้เคียงกันมาก ๆ หรือสวนทางด้วยซ้ำ คนจนในเขตชนบทกลับลดลงลงเรื่อยเรื่อคนจนที่อยู่ในเขตเทศบาล ก็จะเป็นเขตที่เจริญ หรือว่าตัวแทนของเมืองได้ จะเห็นว่าลดลงค่อนข้างช้ามากจากอดีตที่ผ่านมา มันสะท้อนคนจนที่อยู่ในเขตเทศบาลมันลดลงยาก เพราะอะไรก็เพราะปัญหามันซับซ้อนมากกว่า เวลาเรามุ่งแก้ปัญหากับนโยบายในอดีตที่ผ่านมา เราอาจจะบอกว่าอยู่ตำบลนั้น อำเภอนี้ ก็มีนโยบายลงไปแก้ แต่เราไม่เห็นในเขตเทศบาลที่มันมีปัญหาซับซ้อนบังตา เช่นการเข้าถึงการศึกษา แม้ว่าดูเหมือนว่าจะดีเพราะอยู่ในเมืองมีคุณภาพดีไม่ไกล แต่กลายเป็นว่าคนเข้าไม่ถึง ก็ตกเป็นคนจน“

ทั้งนี้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่าสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน จะเห็นว่ามีมิติเรื่องของการที่ไม่ทิ้งคนไว้ข้างหลัง คือมิติสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค ซึ่งก็มีสามหมุดหมายภายใต้มิตินี้ ก็คือหนึ่งวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมเติบโตอย่างต่อเนื่องยั่งยืน , พื้นที่และเมืองมีความเจริญทันสมัยและน่าอยู่ และ ความยากจนข้ามรุ่นลดลงและความคุ้มครองทางสังคมเพียงพอเหมาะสม
อีกทั้ง เมื่อมาดูว่าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ผ่านมากับแผนพัฒนาฯฉบับที่ 13 เราพบว่า เรื่องของความเหลื่อมล้ำในด้านของรายจ่าย ตั้งเป้าว่าจะลดลง แต่ยังไม่ไปถึงเป้าหมายเรื่องความเสมอภาคทางด้านรายได้วัดโดยค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคในการกระจายรายได้ของภาคลดลง ก็คือเหมือนจะดีขึ้นมีค่าสัมประสิทธิ์ที่ต่ำ กว่าของประเทศ แต่ว่ายังมีของภาคใต้ ซึ่งในอดีตเรามองว่าภาคอีสานเป็นภาคที่จนมากที่สุด แต่ ณ วันนี้ ทางภาคใต้เป็นภาคที่กลับกัน และเรานึกไม่ถึงค่าความเหลื่อมล้ำที่มากก็จะอยู่ในส่วนของภาคใต้ และการลดลงก็ยังลดลงไม่เยอะ เรื่องของตัวการสนับสนุน SME วิสาหกิจตัวเล็กตัวน้อย ในการที่จะดึงเข้ามาในระบบมันมีมากขึ้น แต่ปัญหาเรื่องการเข้าถึงสินเชื่อของเขายังมีปัญหาอยู่ เขาเข้าไม่ถึงแล้ว“ มนต์ทิพย์ กล่าว
สุดท้ายในเรื่องครัวเรือนยากจนข้ามรุ่นอันนี้ลดลง ซึ่งก็มีการไปทำเรื่องของการมุ่งเป้าที่จะแก้ไขปัญหา อาจจะเห็นภาพชัดเจนว่า จำนวนครัวเรือนข้ามรุ่น หรือว่าคนที่อยู่ภายใต้คนข้ามรุ่นดีขึ้นกับเป้าหมายที่เราวางไว้ทั้งหมดจากเดิม 500,000 กว่าคน ลดลงมา 200,000 กว่า อันนี้ก็ถือว่าเป็นทิศทางที่ดีขึ้น
“แต่ตอนนี้อยากจะฝากนิดนึง เนื่องจากสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อยู่ในช่วงของการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 แล้วก็เน้นในเรื่องของการที่ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ในการจัดทำแผน 14 ด้วย จึงขอฝากทุกภาคส่วนอยากเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร ให้เสนอจะมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เอาไปประมวลเพื่อทำเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 ต่อไป” มนต์ทิพย์ กล่าว
มาตรวัดความเป็นธรรมของคนจนเมือง กับธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 3 สู่ ฉบับที่ 4 เดินหน้าแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สู่ความเท่าเทียม พัฒนาสุขภาวะคนไทยยั่งยืน
ภญ.ทิพิชา โปษยานนท์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เริ่มต้นด้วยการโชว์สไลด์ในส่วนของสช.มีบทบาทหน้าที่สำคัญ คือสานพลังสร้างสุขภาพวะ ได้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อกลไกที่เกี่ยวข้องการนำไปสู่สุขภาพที่ดี ซึ่งอันหนึ่งที่เป็นกรอบสำคัญ คือ “ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ” ตรงนี้ฟังแล้วอาจจะดูยากนิดนึงในเรื่องของชื่อ แต่จริง ๆ แล้วถ้าพูดง่ายง่าย
ธรรมนูญคืออะไร ธรรมนูญว่าด้วยสุขภาพแห่งชาติ ก็ถือว่าเป็นกรอบทิศทางการกำหนดนโยบายหรือว่ายุทธศาสตร์ในเรื่องของการพัฒนาสุขภาพของประเทศ ซึ่งธรรมนูญระบุไว้ในกฎหมายพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ที่สช.ตั้งขึ้นตามกฎหมายนี้ โดยที่ธรรมนูญต้องผ่านคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อนผ่านสภาเพื่อทราบ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อที่จะให้ทุกภาคส่วนนำไปใช้อ้างอิงได้ในเรื่องของทิศทางระบบสุขภาพของประเทศ ที่สำคัญคือธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่3 มีเป้าหมายมุ่งเน้นระบบสุขภาพที่เป็นธรรม เป็นเป้าหมายสำคัญ เพราะว่าเราเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ ความสำคัญในเรื่องของความเป็นธรรมด้านสุขภาพ เพราะว่าธรรมนูญเพิ่งร่างในช่วงโควิดที่เกิดขึ้น จะเห็นชัดในเรื่องของความเป็นธรรมในเรื่องของปัญหาด้านสุขภาพที่เราต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการร่วมมือกันตรงนี้และสุขภาพที่กล่าวถึง ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของการแพทย์ การสาธารณสุขเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของระบบสุขภาพในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นกาย จิต ปัญญาสังคมด้วย

“ตรงนี้ จึงเป็นเป้าหมายของธรรมนูญฉบับที่3 กรอบระระบบสุขภาพที่เป็นธรรมของประเทศ ระบบสุขภาพที่เป็นธรรมก็คือมุ่งให้เกิดความเป็นธรรมในด้านสุขภาพไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ก็คือระบุไว้ในธรรมนูญชัดเจน” ภญ.ทิพิชา กล่าว
แต่ทีนี้เราจะทำให้มันชัดเจนเป็นจริงได้อย่างไรก็ระบุสามมาตรการสำคัญ 1.เน้นไปที่กระบวนการนโยบายสาธารณะมีส่วนร่วมของภาคีทุกภาคส่วนซึ่งอันนี้ถือว่าสำคัญมาก เราต้องมาร่วมคิดร่วมทำขับเคลื่อนไปด้วยกันเพื่อที่จะให้เหมาะสมกับบริบทจริง ๆ ไม่ใช่ว่า เหมาลงไปแต่ละนโยบายแต่ละพื้นที่ก็จะมีความแตกต่างกันให้เหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ 2.คือการสร้างเสริมสุขภาพ จะเน้นในเรื่องของหัวใจต่างๆที่มีผลกระทบต่อสุขภาพไม่ใช่เฉพาะแค่ในพื้นที่สถานบริการต่างๆเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของปัจจัยในสังคมที่สังคมต้องร่วมกันทำให้เกิดสุขภาพที่ดีในทุกมิติ และ 3.คือเรื่องของการจัดการระบบบริการสุขภาพ ซึ่งอยู่ในสถานพยาบาล คลินิก ตรงนี้ก็ต้องเข้ามามีส่วนเสริมด้วย
สิ่งที่ธรรมนูญ ระบุเป้าหมายแนวทางการขับเคลื่อนสาระสำคัญมีหลายประเด็น ทั้งเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค ปัจจัยคุกคามสุขภาพ การบริการ และการควบคุมคุณภาพการส่งเสริมสนับสนุนการใช้ และการพัฒนาภูมิปัญญาการสร้างเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาพ การคุ้มครองผู้บริโภค การสื่อสารข้อมูลด้านสุขภาพ กำลังคนด้านสุขภาพ การเงินการคลัง สุขภาพจิต สุขภาพทางปัญญา ระบบสุขภาพชุมชน/เมือง
นอกจากนี้ หลักคิดเรื่องความเป็นธรรม เป็นหลักสากลโดยที่ในเรื่องขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ระบบหรือกรอบแนวทางการติดตามปัจจัย 1.ด้านสังคมที่ส่งผลต่อความเป็นธรรมทั้งด้านสุขภาพ มีการพูดถึงเรื่องการทำงานรายได้ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำ 2. การศึกษาการเข้าถึงและคุณภาพการศึกษาในทุกระดับ 3.สภาพแวดล้อมทางกายภาพ 4.บริบททางสังคมและชุมชนห้าพฤติกรรมสุขภาพเน้นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพด้านสุรา-บุหรี่ การบริโภคอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ และอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนการบริการสุขภาพ
ถัดมา คือ เป้าหมายระบบสุขภาพเขตเมืองและพูดเป้าหมายเอาไว้ชัด 1.คือเรื่องความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพและสวัสดิการของสังคมของประชาชนกลุ่มเปราะบางโดยเฉพาะในช่วงโควิดที่เริ่มร่างเนี่ยจะเห็นชัดเจนว่าจะมีความเหลื่อมล้ำกลุ่มเปราะบางได้รับความกระทบค่อนข้างมาก
2.คือระบบบริการสุขภาพที่ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการเฉพาะเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนเป้าหมายก็คือต้องเกิดให้ได้
3.เรื่องการมีสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัยต่อการดำรงค์ชีวิตอย่างมีสุขภาพวะของผู้คนที่หลากหลาย
4.ประเด็นสำคัญ คือการมีนโยบายสาธารณะในการบริหารจัดการเมือง ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
“ซึ่งตอนนี้ สช.ก็กำลังอยู่ในระหว่างการทำรายงานสถานการณ์สุขภาพในเรื่องนี้ ในการศึกษาเรื่องตัวชี้วัดต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่รายงานว่าตอนนี้ ระบบสุขภาพเขตเมืองของเราเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอทางนโยบายที่จะมีการแก้ไขปัญหาตรงนี้เกิดขึ้น เช่นเรื่องของการเข้าถึงวัคซีน กลายเป็นคนที่อยู่ในเมืองตกหล่นมากกว่าคนที่อยู่ในชนบทซะอีก หรือว่าการคัดกรองเบาหวานความดันก็ตกหล่นมากกว่าอาจจะเป็นด้วยยุ่ง ตกสำรวจและมาทำงานในเมือง รายชื่ออยู่ที่อื่นก็เป็นเชิงระบบที่พบปัญหาตรงนี้ หรือปัญหายาเสพติดก็พบเยอะซึ่งตรงนี้ก็เป็นรายงานสถานการณ์ที่อีกหน่อย สช.ก็กำลังทำตัวชี้วัด ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของระบบสุขภาพเขตเมือง เพื่อที่จะนำมาสู่การรายงานสถานการณ์เป็นระยะ”
นอกเหนือจากนี้ เรื่องของสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เป็นเรื่องสำคัญที่กำลังทำอยู่เพราะว่าคนในเมืองใหญ่ กลายเป็นพบปัญหามากกว่าด้วยซ้ำ ความยากจนเศรษฐกิจเรื่องของระบบสุขภาพเลยมีสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจการมีอาชีพความมั่นคง และเรื่องที่ต้องสอดคล้องกับองค์การอนามัยโลก กำหนดจากเรื่องสุขภาพที่เป็นธรรม ก็มีตัวชี้วัด เป็นการพูดถึงเรื่องของระบบสุขภาพเขตเมืองด้วย คือหนึ่งการบริการด้านสุขภาพ 2.การเจ็บป่วยและการตาย 3.ปัจจัยสังคมที่กำหนดสุขภาพสิ่งแวดล้อมทางกายภาพและโครงสร้างพื้นฐานการพัฒนามนุษย์และสังคมเศรษฐกิจการบริหารจัดการภาครัฐการปกครอง
“สำคัญคือ จะทำอย่างไรให้เกิดการทะลายกำแพงให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม เป็นพลังการมีส่วนร่วมของสังคม ที่จะมาช่วยกำหนดนโยบาย ไม่ได้กำหนดอย่างเดียว แต่ร่วมขับเคลื่อนในทุกขั้นตอน สุดท้ายนี้ก็คือ คิดว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะแก้ไขไม่ได้ ถ้าเราสามารถมามีส่วนร่วมเชิงระบบโครงสร้าง ที่จะเปิดโอกาสให้ทุกทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมรวมถึงแนวคิดความรู้ในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรที่เท่าเทียม คิดว่าทำได้ตรงนี้อยู่ระหว่างที่เรากำลังจะรายงานสถานการณ์แล้วก็เอื้อเปิดให้ทุกภาคส่วนทุกระดับเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องของการกำหนดนโยบายส่วนนี้ “ ภญ. ทิพิชา กล่าว
