ทนายสิทธิฯ ห่วง ศาลยกฟ้องกองทัพฯ คดี “ชัยภูมิ ป่าแส” อาจเป็นเหตุให้เกิดคดีลักษณะเดียวกันในอนาคต

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน! กองทัพบกไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่มารดา ทนาย ชี้ ยังมีประเด็นที่ต้องถกเถียง ยันจะสู้คดีให้ถึงที่สุด ชวนร่วมจับตาศาลอนุญาตให้ฏีกาหรือไม่

26 ม.ค. 2565 – ศาลแพ่งอ่านคำวินิจฉัยศาลอุทธรณ์ กรณี ‘นาปอย ป่าแส’ ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายต่อกองทัพบก เหตุเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืน M16 ยิง ‘ชัยภูมิ ป่าแส’ นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ เสียชีวิตเมื่อปี 2560 ภายหลังศาลแพ่งเลื่อนนัดฟังคำพิพากษาคดีก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมา

คดีนี้ ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว เห็นด้วยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ด้วยเหตุผลว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักมากกว่า ทำให้เชื่อได้ว่าการฆาตกรรมนายชัยภูมิ เป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่ของพลทหาร เป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตัวเองให้พ้นจากภยันตรายอันละเมิดต่อกฎหมายและภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ทั้งได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุ การกระทำดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการละเมิดต่อมารดาของนายชัยภูมิ ศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายกฟ้อง

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุถึงประเด็นสำคัญที่ศาลอุทธรณ์ได้ยกขึ้นมาประกอบคำวินิจฉัยในคำพิพากษา ได้แก่

  1. การที่พลทหารใช้อาวุธปืน M16 ยิงไปที่ผู้ตายในระยะ 10 เมตร แม้เป็นอาวุธสงครามที่ทำอันตรายต่อชีวิต แต่พลทหารยิงเพียง 1 นัด เข้าที่บริเวณต้นแขนซ้าย ซึ่งไม่ใช่อวัยวะสำคัญในภาวะเช่นนั้น จึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันให้พ้นจากอันตราย สมควรแก่เหตุ
  2. ศาลเห็นว่าคำเบิกความของ อะซือ แซ่เฉิน พยานผู้เห็นเหตุการณ์ ไม่มีน้ำหนักเพียงต่อเท่าพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 3 นาย ที่อยู่ในเหตุการณ์ รวมถึงพยานผู้เป็นเพื่อนของนายชัยภูมิและนั่งมาในรถด้วยกันในวันเกิดเหตุ
  3. โจทก์โต้แย้งว่า จำเลยมีเจตนาปกปิดข้อมูลหรือหลักฐานภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้กล้องวงจรปิดจะไม่ปรากฏภาพในวันเกิดเหตุ แต่เมื่อได้พิจารณาจากพยานบุคคลประกอบบาดแผลของผู้ตายและพยานหลักฐานอื่น ก็ไม่ปรากฏข้อพิรุธเพียงพอที่จะทำให้พยานหลักฐานจำเลยมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของโจทก์

รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความสิทธิมนุษยชน แสดงความคิดเห็นภายหลังรับฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ในประเด็นที่ศาลแถลงว่า จากรายงานชันสูตรพลิกศพของแพทย์ไม่พบรอยฟกช้ำบนร่างกายของนายชัยภูมิ ซึ่งขัดแย้งกับคำเบิกความของนายอะซือ พยานโจทก์ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์ที่กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทหารเตะไปที่ลำตัวของนายชัยภูมิ และอาจต้องตรวจสอบว่าบุคลากรของหน่วยงานที่เป็นกลางมีความละเอียดพอหรือไม่ในการทำบันทึก นอกจากนี้ การสืบสวนสอบสวนคดีของนายชัยภูมิก็ยังมีข้อจำกัดจากการถูกปิดล้อมพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์ยิง ทหารและตำรวจไม่ให้ญาติเข้าไปดูศพ ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าจะสนับสนุนครอบครัวของนายชัยภูมิให้สู้คดีจนถึงที่สุด แต่จะต้องให้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์รับรองเสียก่อนว่า มีเหตุอันควรให้ยื่นฎีกาคำพิพากษาในคดีนี้ได้

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุเมื่อปี 2560 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เดินทางไปยังพื้นที่เกิดเหตุ เนื่องจากได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ชาวบ้านในละแวกนั้นถูกเจ้าหน้าที่คุกคาม และได้มีโอกาสพบกับครู และชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งครั้งนั้นมีชาวบ้านคนหนึ่งยืนยันว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้พบเห็นเหตุการณ์ และภายหลัง กสม. ได้พยายามติดต่อเพื่อให้เขาเข้ามาเป็นพยานในชั้นศาล แต่ไม่สามารถติดต่อได้ เนื่องจากพยานรายดังกล่าวกังวลเรื่องความปลอดภัย จึงตัดสินใจเดินทางออกจากพื้นที่ไป

ทั้งนี้ อังคณาได้ตั้งข้อสังเกตว่า ในพื้นที่ดังกล่าว มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดหลายตัว และเคยได้รับการยืนยันจากเจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงรายหนึ่งว่า ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว ได้มีการตรวจเช็คกล้องวงจรปิดแล้ว แต่เมื่อ กสม. ได้เชิญเจ้าหน้าที่มาให้ข้อมูล เจ้าหน้าที่กลับแจ้งว่า กล้องวงจรปิดในพื้นที่ไม่สามารถใช้การได้

ชัยภูมิ ป่าแส
ภาพ : มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

ด้าน จันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวเสริมตอนท้ายว่า เคารพต่อคำพิพากษาของศาล แต่มีข้อห่วงกังวลต่อผลที่อาจเกิดจากคำพิพากษาในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากศาลมีบทบาทในการตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชน หากศาลรับฟังพยานบุคคลมากกว่าพยานกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่น่าจะเชื่อถือมากที่สุด อาจเป็นเหตุให้คดีที่จะเกิดขึ้นลักษณะเดียวกันในอนาคต เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ อาจใช้วิธีในลักษณะคดีนี้คือ ไม่ส่งกล้องวงจรปิด หรืออ้างว่าพบสิ่งผิดกฎหมายหรือระเบิดได้ การอุทธรณ์ในคดีนี้ โจทก์อุทธรณ์ว่า ตามเอกสารการตรวจพิสูจน์กล้องวงจรปิด ปรากฏข้อมูลชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ทำสำเนาภาพจากกล้องวงจรปิดไว้ก่อนแล้ว ก่อนจะมีการส่งอุปกรณ์บันทึกข้อมูลกล้องวงจรปิดไปให้พนักงานสอบสวน แต่กลับไม่นำส่งศาล

“อีกทั้ง คดีนี้ไม่ปรากฏว่ามีการตรวจลายนิ้วมือแฝงที่ระเบิด แต่เป็นการตรวจ DNA ซึ่งอาจเกิดจากเลือดของผู้ตายที่เปื้อนระเบิดภายหลังได้ และยังปรากฏว่าพบ DNA ของนายชัยภูมิ บริเวณฐานของระเบิดเท่านั้น ไม่ได้พบบนก้านของระเบิด ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องจับก่อนมีการขว้างปาระเบิด แต่ศาลไม่ได้พิจารณาในส่วนนี้ จึงแสดงความห่วงกังวลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในอนาคตว่าจะเป็นเช่นไรต่อไป”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active