สธ.อพยพผู้ป่วย รับมือฉุกเฉินระดับ 2 หลังทหารกัมพูชาเปิดฉากยิงใส่ชายแดนไทย จรวด BM-21 ตกใส่ชุมชน-โรงพยาบาลพนมดงรัก จ.สุรินทร์ ชาวบ้านเสียชีวิต – เด็กบาดเจ็บสาหัส ทหารไทยเจ็บ 7 นาย ย้ายผู้ป่วยกว่า 70 คนออกจากเขตปะทะ ด้านกาชาดศรีสะเกษ เผยสถานการณ์เลือดในพื้นที่เริ่มตึงตัวขอรับบริจาคด่วน
วันนี้ 24 กรกฎาคม 2568 สถานการณ์บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาเกิดความตึงเครียดอย่างหนัก เมื่อเวลา 11.54 น. กองทัพภาคที่ 2 รายงานผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊กว่า กองกำลังจากกัมพูชาได้เปิดฉากโจมตีโรงพยาบาลพนมดงรัก จ.สุรินทร์ ส่งผลให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บในพื้นที่ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เร่งเข้าช่วยเหลือและอพยพประชาชนออกจากเขตอันตราย
ขณะที่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา (ศบ.ทก.) ยืนยันว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีก่อน โดยมีการบิน โดรนเข้าสู่เขตแดนไทยเพื่อยั่วยุ จากนั้นใช้อาวุธหนักยิงใส่ทหารไทย และโจมตีพื้นที่พลเรือนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้ จรวดหลายลำกล้องขนาด 122 มม. (BM-21) ยิงเข้ามายังเขตชุมชน อ.พนมดงรัก
จากการโจมตีดังกล่าว มีประชาชนชาวบ้านเสียชีวิต 1 คน และเด็กอายุ 5 ขวบได้รับบาดเจ็บสาหัส พร้อมสมาชิกในครอบครัวอีก 2 คน ขณะเดียวกันมีรายงาน ทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 7 คน
ฝ่ายความมั่นคงได้เร่ง อพยพประชาชนเข้าสู่พื้นที่ปลอดภัย โดย ศบ.ทก. ได้มอบอำนาจให้กองกำลังส่วนหน้าตัดสินใจตอบโต้ตามสถานการณ์ พร้อมกันนี้ได้ ปิดด่านชายแดนทั้งหมดตั้งแต่เวลา 08.00 น. ของวันเดียวกัน
ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ โดยมีการย้ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยง ได้แก่
• รพ.พนมดงรัก ขนาด 30 เตียง ย้ายผู้ป่วย 19 คนไปโรงพยาบาลอื่น และให้กลับบ้านอีก 19 คน
• รพ.กาบเชิง ขนาด 60 เตียง เคลื่อนย้ายผู้ป่วยแล้ว 56 คน
ขณะนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ (สสจ.) ได้ยกระดับสถานการณ์เป็น “ภาวะฉุกเฉินระดับ 2” และจะมีการประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข (PHEOC) เวลา 13.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อประเมินและสั่งการในประเด็นทั้งน้ำท่วมและเหตุปะทะชายแดน
นอกจากนี้ สธ.ได้ส่งทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team) ลงพื้นที่ให้บริการดูแลจิตใจประชาชน ทั้งการคัดกรองอาการเครียด เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาทั้งแบบ Walk-in และออนไลน์ รวมถึงสั่งการให้สำรองเวชภัณฑ์และจัดระบบส่งยาถึงบ้านสำหรับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรังที่อพยพออกจากพื้นที่
นายสมศักดิ์ย้ำว่า การทำงานของ สธ.จะดำเนินควบคู่กับฝ่ายความมั่นคง เพื่อให้การอพยพและดูแลผู้ได้รับผลกระทบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมลงพื้นที่ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ภายในสัปดาห์นี้
ศรีสะเกษต้องการเลือดด่วน! 9 โรงพยาบาลเปิดรับบริจาค
ในเวลาเดียวกัน เหล่ากาชาดจังหวัดศรีสะเกษได้โพสต์แจ้งเตือนว่า สถานการณ์เลือดในพื้นที่เริ่มตึงตัวอย่างมาก โดยขอรับบริจาคโลหิตเป็นการเร่งด่วนผ่านโรงพยาบาลในจังหวัดศรีสะเกษ ดังนี้
- โรงพยาบาลศรีสะเกษ
- โรงพยาบาลขุขันธ์
- โรงพยาบาลปรางค์กู่
- โรงพยาบาลราษีไศล
- โรงพยาบาลขุนหาญ
- โรงพยาบาลกันทรลักษ์
- โรงพยาบาลอุทุมพรพิสัย
- โรงพยาบาลกันทรารมย์
- โรงพยาบาลศรีรัตนะ
ประชาชนที่สะดวกบริจาคสามารถเดินทางไปที่โรงพยาบาลใกล้บ้านได้ทันที