เปิดข้อเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย พบความท้าทายในผู้สูงอายุ 6 มิติ เครือข่ายฯ จี้รัฐเร่งกระจายอำนาจ ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร
“อีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อเราพูดถึงสถาบันครอบครัว จะยังเป็นเสาหลักที่เราคาดหวังว่าจะดูแลผู้สูงอายุได้อยู่ จริงหรือเปล่า”
คือคำถามในวันที่สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ หรือร้อยละ 20 ของประชากร มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป ตามความหมายของ ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวที “อนาคตสังคมผู้สูงอายุไทย ก้าวต่อไปอย่างไรบนความท้าทาย”
ศ.วรเวศม์ เน้นย้ำว่าต้องคำนึงถึงผู้สูงอายุกลุ่มเฉพาะที่จำเป็นต้องพิจารณาในอนาคต ตามที่โครงการทบทวน สังเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุไทย ไว้ 6 กลุ่ม ด้วยกัน
- ผู้สูงอายุที่อยู่ในสภาวะพึ่งพิง
- ผู้สูงอายุที่ถูกทอดทิ้ง
- ผู้สูงอายุไร้บ้าน
- ผู้สูงอายุในกลุ่มคนไทยไร้สิทธิหรือมีปัญหาสถานะบุคคล
- ผู้สูงอายุและผู้ใกล้สูงอายุที่ย้ายถิ่นย้อนกลับ
- ผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ
เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง แม้การขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุของไทยในช่วงที่ผ่านมา แทบทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน โดยรัฐบาลมีการจัดทำแผนระดับต่าง ๆ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุในมิติต่าง ๆ รวมถึงแนวทางการขับเคลื่อนกลไก และมีมาตรการที่เป็นรูปธรรมรองรับสังคมสูงวัย ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคมและสภาพแวดล้อม รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ซึ่งหากมองตามกรอบแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริด ว่าด้วยผู้สูงอายุ (The Madrid International. Plan of Action on Ageing : MIPAA) ถือว่าไทยอยู่ในมาตรฐานระดับสากล
แต่ ศ.วรเวศม์ สะท้อนว่า ผลลัพธ์ในการดำเนินงานหลาย ๆ อย่าง ยังไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก อ้างอิงจากตัวชี้วัดตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไทยยังไม่บรรลุผลด้านแรงงานนอกระบบที่มีหลักประกัน ผู้สูงอายุที่อาศัยในบ้านที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม สัดส่วนผู้สูงอายุทำงานคงที่ต่อเนื่องไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การส่งเสริมและพัฒนาผู้สูงอายุด้านระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุบรรลุเป้าหมายไม่ถึงครึ่ง ดัชนีชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับการจัดบริการที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุภายในพื้นที่แทบจะไม่ผ่านการประเมินผล รวมถึงระบบบำนาญครอบคลุมแต่ยังไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ค่าใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น
โดยจุดอ่อนที่พบ คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวคิด คุณค่า ตัดสินใจทิศทางของนโยบาย ยังไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ เช่น เรื่องของการกระจายอำนาจองค์กรส่วนปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาจยังทำแบบต่างคนต่างทำเป็นส่วนใหญ่ ภาพของผู้สูงอายุจึงมองไม่เหมือนกัน
นอกจากนี้ในส่วนของ อปท. ยังมีเรื่องของขอบข่ายอำนาจหน้าที่ที่ไม่ชัดเจน มีหน่วยงานตรวจสอบงบประมาณ ขาดศักยภาพความเชี่ยวชาญ งบประมาณบุคลากรขับเคลื่อนงานในด้านผู้สูงอายุ ทัศนคติของผู้บริหารในแต่ละท้องถิ่น รวมถึงวาระในการดำรงตำแหน่งที่มีผลต่อการกำหนดนโยบายที่ต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันพบว่า อปท. เกือบทุกแห่งมีแผนประจำปีในการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ มีหลายหน่วยงาน ภาคประชาสังคม ภาคเอกชนที่พร้อมจะสนับสนุน จึงมองเป็นความท้าทายในการที่จะเข้าไปอุดรอยรั่วในส่วนของภาครัฐได้
“ถึงตอนนี้เราพบว่าอีก 20 ปีข้างหน้า แทบจะทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่มีบุตร ไม่มีหลักประกัน เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องเร่งสังคายนาขอบเขตของ อปท. ให้ชัดเจนว่าทำอะไรได้ ไม่ได้ เอาการเลือกตั้งที่ผ่านมา เป็นโอกาสในการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุร่วมกับงานวิจัย”
ศ.วรเวศม์ สุวรรณระดา
ขณะที่ผู้สูงอายุในกลุ่มกลุ่มเกษตรกร แรงงานนอกระบบ และอาชีพอิสระ เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะครัวเรือนในภาคเกษตรกว่า 8 ล้านครัวเรือน จำนวน 10 ล้านคน ที่น่าเป็นห่วงมากขึ้นเมื่อพบปัจจัยครองโสด หรือไม่มีบุตร จำนวนนี้ที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่ฝากความหวังไว้กับนโยบายด้านสวัสดิการกับ อปท.
กฤษดา สมประสงค์ ผอ.กลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิต กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวว่า ปัญหาในการดำเนินการของท้องถิ่นมีสองลักษณะ อย่างแรก ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลซึ่งเป็นโครงสร้างส่วนบน แต่ลักษณะของการเคลื่อนไปด้วยกันทั้งขบวน ภายใต้เป้าหมายใหญ่เดียวกันยังไม่เห็น และอย่างที่สอง คือการดำเนินตามโครงสร้างส่วนล่าง คือ อปท. ที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนมีระบบการวางแผน มีคนมีงบประมาณ มีบทบาทอำนาจหน้าที่ที่อาจชัดบ้างไม่ชัดบ้าง โดยเฉพาะประเด็นผู้สูงอายุ ตามกฎหมายบอกว่า อปท. มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เด็ก สตรี และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายกระจายอำนาจ แต่จะใช้ได้ต่อเมื่อมีภารกิจนั้นถูกกระจายให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงจะอ้างอิงกฎหมายกระจายอำนาจได้ จึงทำให้เกิดปัญหาในการวางแผนพัฒนาท้องถิ่น และตอบคำถามว่าทำไม อปท. มีงบประมาณแต่ไม่ทำ
“งบฯ ที่มีอยู่ในเวลานี้บางครั้งยังเลี้ยงตัวเองไม่รอด หลายเรื่องเป็นงบฯ ที่ให้มาเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล เช่น เงินอุดหนุนที่ให้ปีละประมาณ 3 แสนล้าน แบ่งเป็นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 8 หมื่นล้าน บริหารงานบุคคล เงินเดือน เรื่องของเด็ก เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องเพิ่มแผนงบฯ ซึ่งรัฐอาจจะต้องสนับสนุนเฉพาะแผนเรื่องสังคมสูงวัย เมื่อมีแผนก็สามารถที่จะทำได้ตามกฎหมาย”
กฤษดา สมประสงค์
กฤษดา เสริมต่อว่า นอกจากระบบสวัสดิการสังคมที่รัฐจัดให้ไปแล้ว อีกเครื่องมือสำคัญคือ ประชาชนลุกขึ้นมาทำระบบสวัสดิการของตัวเอง ดูแลพี่น้องประชาชน เติมเต็มตั้งแต่เกิดถึงเสียชีวิต โดยเฉพาะในส่วนที่ดูแลผู้สูงอายุดูแลได้ค่อนข้างดี หากท้องถิ่นพัฒนา ส่งเสริมกลไก ให้รัฐบาลได้เห็นความสำคัญแล้วหนุนเสริมให้ภาคประชาสังคม ได้เข้ามามีบทบาทหลักในการทำงานร่วมกับรัฐ และอปท. คิดว่าจะทำให้ระบบส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรทุกวัยสมบูรณ์มากขึ้น
สอดคล้องกับ ศิริลักษณ์ มีมาก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ ที่มองว่า ปัจจุบันรัฐบาลมีความพยายามที่จะบูรณาการการทำงานด้านผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นปัญหาใหญ่คือการทำงานแบบเป็นแบบขนมชั้น แทนที่จะกำหนดเป้าหมายร่วมและแบ่งว่าใครจะทำหน้าที่อะไร เพื่อที่นโยบายต่าง ๆ จะลงสู่ระดับพื้นที่หรือตำบลจะมีความชัดเจน
โดยเฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มใหม่ เช่น ความหลากหลายทางเพศจะต้องมีบริการที่จำเป็น และเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก จึงต้องมีการพัฒนานโยบายที่รองรับผู้สูงวัยกลุ่มนี้ รวมถึงการส่งเสริมรายได้ การมีอาชีพของผู้สูงอายุ ต้องมีการส่งเสริมอาชีพใหม่ใหม่ที่จะนำไปสู่การอัพสกิล รีสกิล เรื่องของการวางแผนการออม ผู้สูงอายุที่มีสภาวะเสื่อมทางความจำ ที่จะต้องสร้างกลไก “ผู้พิทักษ์สิทธิ์สำหรับผู้สูงอายุ” ที่อยู่ลำพังเป็นประเด็นที่มีความท้าทายในอนาคตที่จะต้องมีเพิ่มเติม
ด้าน รศ.อาชนัน เกาะไพบูลย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงแนวโน้มของผู้สูงอายุที่ออกจากระบบก่อนถึงวัยผู้สูงอายุจะมีมากขึ้นกลุ่มนี้จำเป็นที่ต้องแยกระหว่างการอัพสกิล และรีสกิล ซึ่งการเพิ่มมิติในการส่งเสริมอาชีพแบบนี้จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความพร้อมในการเตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยเฉพาะในช่วงของโควิด-19 ทำให้คนกลุ่มนี้กระโดดออกมาสู่กลุ่มว่างงานมากขึ้น ซึ่งจะเป็นนโยบายสนับสนุนที่แตกต่างไปจากเดิม
ขณะที่ระบบบำนาญที่เป็นการบังคับการออม กับกลุ่มที่กระโดดออกมาทำอาชีพอิสระมากขึ้น ซึ่งกลุ่มนี้การครอบคลุมของระบบบำนาญยังไม่ทั่วถึง และมีข้อจำกัดในหลายหลายส่วน หากปรับปรุงก็จะทำให้ผู้สูงอายุหลายคนเข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ดีขึ้นเตรียมตัวเข้าสู่ระบบสูงวัยได้ดีขึ้น
“เมื่อเขากระโดดเข้าสู่อาชีพอิสระ หลักประกันที่เคยมีอยู่ในอาชีพประจำมันก็หายไปเป็นไปได้ไหมที่เราจะปรับระบบบำนาญที่มีความเฉพาะ และตอบโจทย์ในความรู้สึกที่ว่าให้เขาใช้ตรงนี้เป็นที่ออมเงินที่ได้ผลตอบแทน อีกมุมหนึ่งสามารถใช้เงินออมเหล่านี้เป็นเบาะรองเวลาเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันใช้เงินก้อนนี้แก้ปัญหาระยะสั้น ก็จะทำให้การออมดีขึ้น และภาระของภาครัฐในระยะยาวลดลงได้ส่วนหนึ่งด้วย”
รศ.อาชนัน เกาะไพบูลย์
โดยแผนการดูแลผู้สูงอายุในระยะสั้น ในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับเสนอไปพิจารณา และดำเนินเป็นนโยบาย พร้อมผลักดันเข้าสู่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และพระราชบัญญัติผู้สูงอายุเพื่อรองรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป
ชมย้อนหลัง เวที “อนาคตสังคมผู้สูงอายุไทย ก้าวต่อไปอย่างไรบนความท้าทาย”