“หมอวิทยา” นักวิชาการด้านการป้องกันอุบัติเหตุ ระบุ การฟ้องร้องลักษณะนี้ ทำให้เห็นปัญหาเชิงระบบ การไม่ใส่ใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดความเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน ประชาชนมีสิทธิฟ้องได้ หลังครอบครัว “หมอกระต่าย” ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ก่อเหตุ และ สตช.
จากกรณี นพ.อนิรุทธ์ และ รัชนี สุภวัตรจริยากุล พ่อและแม่ ของ พญ.วราลัคน์ หรือ หมอกระต่าย ยื่นฟ้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1 และ ส.ต.ต. นรวิชญ์ บัวกด เป็นจำเลยที่ 2 ฟ้องในคดีละเมิด เรียกค่าเสียหาย เป็นเงินจำนวน 72 ล้านบาท จากเหตุการณ์ที่หมอกระต่ายถูกรถชนเสียชีวิต โดยระบุเหตุผลที่ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย เนื่องจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เข้มงวดกวดขัน และปล่อยปละละเลยวินัยจราจร จนทำให้ผู้ขับขี่ไม่หยุดรถ ขณะมีผู้เดินข้ามทางม้าลาย และในวันเกิดเหตุ ส.ต.ต.นรวิชญ์ อยู่ระหว่างปฎิบัติหน้าที่ และยังอยู่ในช่วงเวลาราชการ นั้น
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า นี่อาจไม่ใช้เคสแรก ๆ ที่มีการฟ้องร้อง แต่ที่ผ่านมาไม่ตกเป็นข่าว ขณะที่บทเรียนครั้งนี้ สะท้อนว่า หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุต้องร่วมรับผิดชอบ เพราะเป็นปัญหาเชิงระบบจากบทบาทหน้าที่ของตัวเองที่ต้องทำมาตรฐานการป้องกันอุบัติเหตุ ให้ปลอดภัยเทียบเท่ามาตฐานสากลหรือให้ปลอดภัยขึ้น ทั้งเรื่องคน รถ และถนน ที่ขาดมาตรฐานต้องปรับปรุงให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ เช่น การกำหนดมาตรฐานกลางของถนนในแต่ละประเภท ลดอัตราย ขณะที่การกำหนดความเร็วในเขตเมือง 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ในประเทศอื่น ๆ สามารถทำได้ ซึ่งต่างจากไทยที่เพิ่มความเร็วมากถึง 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาเชิงระบบที่เกี่ยวกัยนโยบายและหน่วยงาน
“ทัศนคติของผู้ขับขี่ในปัจจุบันก็มักไม่เห็นคนเดินถนนอยู่ในสายตา จึงเป็นเรื่องเคยชินที่ไม่ควรปฎิบัติ หลังจากนี้คนไทยต้องสร้างวัฒนธรรมลดอุบัติเหตุให้มากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นทั้งคนขับขี่ คู่กรณี หรือแม้แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังละเลยเรื่องการป้องกันและแก้ปัญหาอุบัติเหตุอาจจะมีการฟ้องร้องมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้คงเป็นบทเรียน เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเริ่มมีคดีฟ้องร้องมากขึ้น”
นพ.วิทยา ยกตัวอย่างประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ที่มีวิสัยทัศน์ในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยเชิงป้องกันที่เข็มแข็ง สามารถกำจัดสาเหตุต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น
1) อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ เป็นมายด์เซต (Mindset) เปลี่ยนวิธีคิดชีวิตก็เปลี่ยน ที่สำคัญที่สุดที่คนทำงานด้านอุบัติเหตุ รวมถึงประชาชน ต้องรับรู้ว่าอุบัติเหตุป้องกันได้ ซึ่งสวนทางกับคนไทย ที่เชื่อว่าเรื่องอุบัติเหตุเป็นเรื่องของเคราะห์กรรม ซึ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ในการป้องกันอุบัติเหตุ
2) ใน Vision Zero หรือโครงการความปลอดภัยด้านการจราจรบนถนนข้ามชาติ มองว่าอุบัติเหตุไม่ได้เกิดจากคนขับ หรือคนที่เป็นคู่กรณีเท่านั้น แต่เป็นปัญหาเชิงระบบ ที่มีทั้งคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้น จะไม่โทษว่าเป็นเพราะผู้ก่อเหตุหรือคู่กรณี แต่ต้องมองให้ลึกลงไปว่ามันมีปัญหาเชิงระบบที่ซ้อนอยู่
3) เมื่อเกิดเหตุแล้ว ผู้ที่มีความผิดและต้องรับผิดชอบไม่ใช้แค่คนขับขี่ คนขับรถ หรือคู่กรณีเท่านั้น แต่หากเป็นข้อบกพร่องเชิงระบบของหน่วยงานใด หน่วยงานนั้นก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วย
ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือองค์การอนามัยโลก ยังเปิดเผยอีกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหมอกระต่าย แท้จริงมีปัญหาเชิงระบบมากมายที่ซ่อนอยู่
- การรับรู้ความเสี่ยงของคนข้ามถนนและคนขับขี่มอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นเรื่องของทักษะของคนขี่รถมอเตอร์ไซค์ด้วย เป็นทักษะที่ขาดหายไป เป็นเรื่องที่ต้องไปฝึกฝน
- มาตรฐานทางข้ามที่อาจไม่ได้มาตรฐาน เพราะเมื่อเกิดเหตุ กทม. ก็ปรับปรุงทำใหม่เลย เริ่มจากการขีดสีตีเส้น แม้กระทั่งติดไฟเขียวไฟแดง เพราะที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้เป็นมาตรฐาน เพราะในเมืองไทยไม่ได้กำหนดมาตรฐานกลางให้กับถนนแต่ละประเภท
- ทัศนะของคนขับขี่บนถนน ไม่ได้เห็นคนเดินถนน คนข้ามถนนอยู่ในสายตา คือปัญหาที่ซ้อนไว้เรื้อรัง
- กระบวนการได้ใบขับขี่ของรถบิ๊กไบค์ที่ถูกพูดถึงมานาน แต่ยังไม่มีการกำหนดเป็นกฎหมาย
- ความถูกต้องของการครอบครองรถคันดังกล่าว
- การใช้ความเร็วในเขตเมือง ที่สูงกว่ามาตรฐานสากล ยกตัวอย่างในต่างประเทศที่พยายามจะลดความเร็วในเขตเมืองให้ลดลง
“เพราะในเมืองมีคนข้ามถนนจำนวนมาก คนเดินถนนที่ใช้ความเร็วต่ำ กับรถที่เกิดเหตุขับเร็ว คนเดินถนนเสี่ยงเสียชีวิตแน่นอน ปัจจุบันกำหนดในแผนโลกเมื่อปีที่แล้ว อยู่ที่ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเท่านั้น แต่คนไทยส่วนใหญ่มักคิดว่าความเร็วเช่นนี้มันน้อยไป ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าความเร็วในเขตเมืองยังกำหนดบางจุดอยู่ที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งมันเกินมาตรฐานมาตั้งนานแล้ว แต่ตรงนี้ไม่เคยมีการแก้ ให้มันเหลือ 30-40 เหมือนมาตรฐานโลก อันนี้เป็นความบกพร่องเชิงระบบในกรณีนี้”
นพ.วิทยา ระบุอีกว่า การกำกับ ติดตาม หรือเรื่องของการตรวจสอบ ที่ผ่านมาไม่ได้นำไปสู่การแก้ไข แต่เมื่อมีการตรวจสอบโดยภาคประชาสังคม กลับมีการแก้ไขเกิดขึ้นชั่วข้ามคืน ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้น สามารถฟ้องร้องได้อีกหลายหน่วยงาน เช่น ฟ้องเรื่องมาตรฐานทางข้าม กับ กทม. และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน, เรื่องทัศนคติของคนขับขี่ กับกระทรวงศึกษาธิการ, เรื่องใบขับขี่รถบิ๊กไบค์ กับกรมการขนส่งทางบก, เรื่องความถูกต้องของการครอบครองรถบิ๊กไบค์ กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงเรื่องCity Speed limit ก็สามารถฟ้อง กทม. ได้
“ถ้าเราพูดตามมายด์เซตของสวีเดน ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบก็ต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบ ผมให้ความเห็นในมุมนักวิชาการ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ต้องยอมรับว่ามีแต่ความเศร้า ก็ต้องอาศัยเหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนในการยกระดับความปลอดภัยมากขึ้น ความผิดไม่ใช่แค่ของคนขับขี่ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องก็ต้องมาร่วมกันแก้ปัญหา นี่เป็นมิติใหม่ของสังคมไทยที่เกิดการฟ้องร้องเกิดขึ้น เพื่อให้สังคมได้รับรู้ว่าปัญหาอุบัติเหตุ เป็นปัญหาเชิงระบบ เหตุที่เกิดไม่ใช่แค่คนขับ แต่หน่วยงานต่าง ๆ ต้องร่วมรับผิดชอบ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้เหมือนในอดีต“