‘นพ.ทวีศิลป์’ ระบุ แม้ผู้ติดเชื้อสูงขึ้นแตะ 2 หมื่น แต่อัตราการเสียชีวิตน้อย โรคไม่รุนแรง พบการครองเตียงผู้ป่วยสีเขียวสูงสุด ศบค. เคาะมาตรการเดินทางเข้าประเทศ ยกเลิกตรวจ RT-PCR ทางอากาศในวันที่ 5 แนะ สถานศึกษาปิดโรงเรียนให้สอดคล้องสถานการณ์จริง เร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุม
วันนี้ (23 ก.พ. 2565) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงข่าว ณ ทำเนียบรัฐบาล หลังวันนี้มีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม ในฐานะ ผอ.ศบค. ซึ่งวันนี้นับเป็นครั้งแรกที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลับมาแตะหลัก 2 หมื่นคน จากผลการตรวจด้วย RT-PCR
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุประเด็นหารือสำคัญว่าสถานการณ์การระบาดทั่วโลกยังคงพบสูงขึ้น แต่อัตราการตายไม่ได้เพิ่มขึ้น ทั่วโลกมีอัตราการเสียชีวิตลดลงจากร้อยละ 2 เหลือ ร้อยละ 1.38 ขณะที่การเสียชีวิตในประเทศไทยอัตราการป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน อยู่ที่ 39,231 คน ส่วนอัตราการตายต่อประชากร 1 ล้านคน อยู่ที่ 324 คน ส่วนตัวเลขผู้ติดเชื้อวันนี้ (23 ก.พ.) พบผู้ป่วยรายใหม่ 21,232 คน ผู้ป่วยรักษาอยู่ 173,605 คน อาการหนัก 882 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 229 คน เสียชีวิต 39 คน ในจำนวนนี้ยังอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 79, อายุน้อยกว่า 60 ปี แต่มีโรคเรื้อรัง ร้อยละ 8 และไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง ร้อยละ 13
“การพบผู้ติดเชื้อในประเทศแพร่โรคในวงกว้างและรวดเร็วจากการผ่อนคลายมาตรการ แต่แนวโน้มการเสียชีวิตและความรุนแรงของโรคยังต่ำ ตัวเลขเหล่านี้มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้บริหารว่าจะเดินเรื่องนี้อย่างไร”
ขณะที่อัตราการครองเตียงในสถานพยาบาลทั่วประเทศ แยกตามประเภทเตียงตามกลุ่มสีอาการ พบว่า ภาพรวมของการครองเตียง ทั้ง 3 กลุ่ม อยู่ที่ ร้อยละ 49.1 โดยกลุ่มสีเขียวที่ไม่แสดงอาการมีอัตราการครองเตียงสูงที่สุด 82,523 เตียง คิดเป็นร้อยละ 55.7 ส่วนผู้ป่วยสีแดงหรือขั้นวิกฤต มีอัตราการครองเตียงต่ำสุดที่ 402 เตียง คิดเป็นร้อยละ 18.6 ส่วนป่วยหนักกลุ่มสีเหลือง ระดับ2.1 และ 2.2 อยู่ที่ 4,882 เตียง หรือร้อยละ 20.1 และ 676 เตียง หรือร้อยละ 12.1 ตามลำดับ จำนวนผู้เข้ารับการดูแลใน Community Isolation รวม 21,120 คน และ Home Isolation รวม 47,373 คน
ส่วนระดับพื้นที่การควบคุมของโรคติดเชื้อ ยังคงเดิม ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสีส้มยังเป็น 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง 25 จังหวัด พื้นที่สีฟ้านำร่องการท่องเที่ยว 8 จังหวัด และทุกพื้นที่ยังคงเน้นย้ำมาตรการ Universai Prevention, COVID Free Setting และมาตรการควบคุมโรคตามราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด
ส่วนกรณี UCEP COVID 19 หรือการรักษาโควิด-19 กรณีที่มีอาการเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาลฉุกเฉิน ประชาชนยังคงสามารถขอรับบริการได้เช่นเดิม แต่มีการปรับราคาค่าใช้จ่ายในทุกกลุ่มสีให้ต่ำลงเนื่องจากการติดเชื้อโอมิครอนไม่ได้มีอาการรุนแรง โดยจะเริ่มปรับ 1 มีนาคมนี้ ส่วนรายละเอียดจะมีการนำเสนอในที่ประชุมใหม่อีกครั้ง
ขณะที่การเปิดการเรียนการสอน พบข้อมูลการปิดโรงเรียนไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การติดเชื้อจริง ซึ่งนโยบายต้องการให้โรงเรียนสามารถเปิดการเรียนการสอน แบบ ON-Site ได้ ข้อมูลจากการสำรวจ 122 โรงเรียน พบว่า โรงเรียนที่มีการติดเชื้อ 1 คนขึ้นไป โรงเรียนที่ปิดสถานศึกษา มีถึงร้อยละ 28.7 ติดมากกว่า 1 ห้องเรียน ปิดร้อยละ 55.7 โรงเรียนที่ไม่พบผู้ติดเชื้อแต่อยู่ใกล้เคียงกับโรงเรียนหรือชุมชนที่ติดเชื้อ ปิดร้อยละ 9
“สถานการณ์นี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์จริง แต่เพราะแรงกดดันของผู้ปกครองในความเป็นห่วงบุตรหลานและครู จึงทำให้มาตรการ ON-Site ไม่เป็นไปอย่างที่วางแผนไว้ จึงมีมาตรการเสนอ ให้โรงเรียนประจำ พยายามไม่ปิดเรียน เสี่ยงต่ำยังเรียนได้ เสี่ยงสูงก็เรียนได้ หากจัดโซนพื้นที่แยกคนป่วย คนเสี่ยงสูงให้เรียนและอยู่ด้วยกัน ส่วนการสอบไม่ต้องงด หากไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย ให้สอบได้ แต่ต้องจัดสถานที่ให้โล่ง ถ่ายเทสะดวก”
โฆษก ศบค. ยังย้ำว่าก่อนจะปิดภาคเรียนเร็ว ๆ นี้ อยากให้ทุกโรงเรียนเร่งฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเด็ก 5-11 ปี ให้ครบตามเป้าหมายเพื่อเตรียมการสำหรับการเปิดเทอมในอนาคต
สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ทางอากาศ จากเคยตรวจ RT-PCR ในวันที่ 0 และ 5 ให้เปลี่ยนเป็นตรวจ RT-PCR ในวันที่ 0 และไม่มีการกักตัวหากผลเป็นลบ ส่วนวันที่ 5 ให้เปลี่ยนเป็นการตรวจแบบ ATK ด้วยตนเองแจ้งผ่านระบบหมอชนะ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและการกักตัว
ส่วนการเดินทางทางบก นำร่องจังหวัดอุดรธานี หนองคาย และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา กระตุ้นการเดินทางและการค้า ปรับค่าประกันภัยจาก 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ เหลือไม่น้อยกว่า 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเรือสำราญและกีฬา (เรือยอร์ช)ใช้ระบบคล้ายกัน
ขณะที่ปัญหาการเข้าระบบ HI การแถลงวันนี้ไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก แต่ยอมรับว่ามีการเข้าถึงระบบที่ยาก ล่าช้า เพราะมีผู้ป่วยติดต่อจำนวนมาก ซึ่งนายกรัฐมนตรีรับทราบปัญหานี้ และได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา ทั้งการเพิ่มคู่สาย 1669 และสำนักงานเขตเข้ามาทำหน้าที่ร่วมกับระบบ 1330 ในการรับผู้ป่วย ส่วนกรุงเทพมหานครมีศูนย์พักคอยรองรับ 31 ศูนย์