‘โอมิครอน’ ดันยอดผู้ป่วยหนัก เสียชีวิตพุ่ง! เร่งวางระบบเตียงรองรับผู้ป่วยที่จำเป็น

‘ไทยแคร์’ สะท้อนภาพกลุ่มเปราะบางตกค้าง รอเตียงนานกว่า 8 วัน ‘สปสช.’ เตรียมเพิ่มคู่สาย 1330 กระตุ้นหน่วยบริการ รับผู้ป่วยมีอาการเข้ารักษาก่อน ‘กรมการแพทย์’ ยืนยันเตียงเพียงพอ อาจมีตกหล่น เพราะปัญหาการสื่อสาร จัด 6 โซน กทม. ให้โรงเรียนแพทย์ดูแล

สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันอยู่ในช่วงขาขึ้น หลังจากสาธารณสุขออกมาเปิดเผยตัวเลขผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในรอบสองสัปดาห์ ในขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งไปสูงถึงเกือบ 50,000 คนต่อวัน ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องกลับมาทบทวนมาตรการรองรับผู้ป่วย และทำความเข้าใจกับหน่วยงานปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีผู้ป่วยตกหล่น ไม่ได้รับการดูแล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง The Active ชวนหาคำตอบในเรื่องนี้

ปัญหาคู่สายล้น – เตียงเต็ม กลับมาอีก สธ. ย้ำ ผู้ป่วยไม่ต้องเข้า รพ.ทุกคน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยอมรับว่า อุปสรรคการติดต่อสายด่วน 1330 คือ ผู้ป่วยที่โทรเข้ามา มีมากกว่าจำนวนผู้รับสาย ที่ตอนนี้มีอยู่เพียง 300 คนเท่านั้น การแพร่ระบาดในปีที่แล้ว สายที่โทรเข้ามาต่อวันสูงสุดประมาณ 30,000 สาย แต่ตอนนี้ต่อวันมีผู้ป่วยโทรเข้ามาถึง 50,000 สาย นั่นหมายความว่าหากมีเวลาโทรประมาณ 16 ชั่วโมง ควรต้องใช้คนรับสายประมาณ 600 คน ล่าสุดได้เพิ่มเจ้าหน้าที่เข้าไปอีก 150 คน แต่การจะหาคนมารับโทรศัพท์ในเวลาอันสั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยการฝึกฝน ให้มีข้อมูลเพียงพอในการให้บริการผู้ป่วย

“ขอย้ำว่าผู้ป่วยติดเชื้อ ท่านไม่จำเป็นต้องโทรหา 1330 ทุกคน หากท่านมีประวัติกับหน่วยบริการใด ก็สามารถติดต่อไปที่หน่วยบริการนั้นๆ ก่อน เพื่อเข้าสู่การประเมิน และรักษาได้ทันที เพราะข้อตอนนี้บ่งชี้ว่า 90% ของผู้ติดเชื้อ มีอาการน้อย หรือไม่มีอาการเลย จึงไม่ใช่ทุกคนจะต้องเข้าโรงพยาบาล”

โดย 1330 จะทำหน้าที่ในการจับคู่ผู้ป่วยเข้ากับหน่วยบริการ และหน่วยบริการจะติดต่อกลับไป เพื่อประเมินว่าจะต้องเข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้าน หรือในชุมชน นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตอนนี้ทุกคนอยากเข้าโรงแรม หรือโรงพยาบาล แต่มีผู้ป่วยเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ที่ยอมเข้าระบบ HI หรือ CI ส่วนอีกครึ่งหนึ่งจะไปรักษาในโรงพยาบาล หรือโรงแรม ซึ่งในบางครั้งอาการของผู้ป่วยยังไม่ถึงขั้นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

นอกจากนั้น อุปสรรคในการจับคู่กับระบบบริการ คือ หน่วยบริการไม่ตอบรับ ผู้ป่วยภายใน 6 ชั่วโมง และตอนนี้ทาง สปสช. เองก็ไม่สามารถแบ่งคน เพื่อโทรกลับไปตามผู้ป่วยได้ แต่ สปสช. จะกระตุ้นเตือนหน่วยบริการ ให้ติดตาม และประเมินอาการผู้ป่วยที่จับคู่แล้วอย่างเร่งด่วน ตามเกณฑ์ของกรมการแพทย์ เมื่อบันทึกข้อมูลผู้ป่วยเข้าไปแล้ว หน่วยบริการจะต้องกดรับ ในพื้นที่ กทม. จะแบ่งเป็นเขต แล้วร่วมกับสำนักงานเขต เพราะใกล้ชิดกับประชาชน เพื่อช่วยให้หน่วยบริการตอบรับผู้ป่วยได้เร็วขึ้น

‘กรมการแพทย์’ ยืนยันเตียงไม่เต็ม บางรายติดปัญหาเรื่องการสื่อสาร

นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง อุปสรรคที่ยังทำให้มีผู้ป่วยบางราย ต้องรอเตียงจนทำให้ต้องออกมาอยู่ริมถนน ว่าจริงๆ แล้วสัดส่วนของเตียงตอนนี้ยังมีอยู่เพียงพอ แต่ยอมรับว่าในบางโรงพยาบาลค่อนข้างตึงตัว แต่ไม่มีที่ใดเต็มทั้งหมด การที่ยังมีผู้ป่วยอยู่ข้างนอก หรือเข้าโรงพยาบาลไม่ได้ เป็นเรื่องของการสื่อสารที่ทำได้ไม่ดีพอ ระหว่างหน่วยบริการ เพราะผู้ป่วยสีเขียวตอนนี้แนะนำว่าให้อยู่บ้าน ตอนนี้เตียงในโรงพยาบาลที่แน่น คือ เตียงสีเขียว ซึ่งโรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการภายในได้ แต่บางกรณีผู้ป่วยไปเจอ เพราะอาจจะไม่ได้มีการบริหารจัดการในส่วนนี้

“ผู้ป่วยใน กทม. มีหลายหมื่นคน แต่มีอยู่ไม่กี่เคสเท่านั้นที่ตกหล่น อาจจะต้องสื่อสารกันมากขึ้น กรมการแพทย์และศูนย์บริหารเตียง กำลังพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไร ให้คนไข้ที่ตกหล่น มีจุดศูนย์กลางในการรับข้อมูล แล้วสามารถจัดหาเตียงได้ทันที”

ส่วนแนวทางการบริหารจัดการเตียงของกรมการแพทย์ ตอนนี้มีศูนย์บริหารเตียง หรือ Bed Management Center ที่ไปบูรณาการร่วมกับ กทม. โรงเรียนแพทย์ และเอกชน เพื่อนำเตียงทุกภาคส่วนมารวมกัน เมื่อไหร่ที่คนไข้ต้องการเตียง ก็จะกดเข้ามาในระบบทันที เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ จะแยกพื้นที่ออกเป็น 6 โซน แล้วส่งคนไข้ในหน่วยบริการที่ว่าง และใกล้ที่สุด ตอนนี้สามารถดำเนินไปได้ แต่เมื่อไหร่ที่คนไข้เยอะ จะมีปัญหา เรื่อง การขนส่งผู้ป่วย ที่ตอนนี้ศูนย์เอราวัณ (1669) ทำงานกันอย่างหนัก แต่อาจจะมีตกหล่นอยู่บ้าง

สำหรับสถานการณ์เตียงในภาพรวม อัตราการครองเตียงมีอยู่ 52% โดยแบ่งออกเป็นเตียงสีเขียว 65% เตียงสีเหลือง ที่ต้องมีเครื่องออกซิเจน 19% และเตียงสีแดง 15% ส่วนสถานที่อื่น เช่น ในรูปแบบฮอสพิเทล มีประมาณ 30,000 เตียง แต่มีผู้ป่วยเข้าไปประมาณ 20,000 เท่านั้น รวมทั้งศูนย์พักคอย ซึ่งทั้งหมดเป็นของกรุงเทพมหานคร ที่ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 4,000 เตียง แต่ใช้ไปเพียง 1,800 เตียงเท่านั้น ถือว่ายังมีเพียงพอในการรองรับผู้ป่วย

‘ไทยแคร์’ สะท้อนกลุ่มเปราะบางตกค้าง บางรายรอเตียง 8 วัน

บุหงา ลิ้มสวาท ผู้ร่วมก่อตั้งไทยแคร์ เครือข่ายดูแลผู้ป่วยโควิด-19 สะท้อนสิ่งที่พบเจอว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม ทีมงานได้เตรียมพร้อมรับมือกับการแพร่ระบาดสายพันธุ์โอมิครอน และคาดการณ์เอาไว้แล้ว ว่าจะเป็นการระบาดระลอกใหม่ โดยพบว่า ในช่วง 2 สัปดาห์นี้มีการติดเชื้อแบบก้าวกระโดด โดยผู้ป่วยที่น่าเป็นห่วง คือ ผู้ป่วยติดเตียง กลุ่มเปราะบาง จนทำให้ผู้ป่วยที่เราดูแลเสียชีวิตไปแล้วด้วย

“ในช่วงระหว่างรอเตียง ไทยแคร์จะทำหน้าที่ในการดูแลคนไข้ไว้ในเบื้องต้น บางรายต้องรอ 3 – 4 วัน ยกตัวอย่าง สำหรับผู้ป่วยวิกฤตที่ดูแลอยู่มีโรคร่วมมาก คือ มีปอดข้างเดียว ไตเสื่อมระยะที่ 3 ลิ้นหัวใจรั่ว ในคนเดียว แต่รายนี้เพิ่งได้รับการตอบกลับ หลังผ่านการลงทะเบียนไปแล้ว 8 วัน แม้จะเป็นภาพหนึ่งภาพที่ไม่เยอะมาก แต่มันสะท้อนระบบว่าเราต้องปรับตัวในอนาคต”

บุหงา กล่าวว่า ผู้ป่วยบางราย จากการประเมินของพยาบาลแล้ว ไม่ควรรักษาตัวที่บ้าน ญาติได้มีการติดต่อไปยังโรงพยาบาล แจ้งสำนักงานเขต แต่ก็ไม่มีใครมาดูแล บางรายที่เป็นผู้สูงอายุ และจำเป็นต้องมีคนดูแล ก็ไม่สามารถเข้าโรงพยาบาลไปคนเดียวได้ จึงทำให้มีผู้สูงอายุหลายคนตกค้างอยู่ที่บ้าน สำหรับการดูแลของไทยแคร์ ตอนนี้มีผู้ป่วยที่อายุเกิน 80 ปี อยู่ 25 คน และในภาพรวมพบตัวเลขที่น่าสนใจ คือ ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 400 คน มีคนไทย 150 คน คนต่างด้าวที่มีสิทธิ 150 คน และคนที่ไม่มีสิทธิใดๆ เลยอีก 100 คน ที่ในปีนี้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้

แม้ทีมงานผู้ปฏิบัติงานจะเข้าใจ และรับรู้ถึงภาระการทำงานที่เพิ่มมากขึ้นของหน่วยงานรัฐ และหน่วยบริการต่างๆ แต่ผู้ป่วยซึ่งเป็นคนไข้ติดเตียง และกลุ่มเปราะบางจะทำอย่างไรให้มั่นใจวา เมื่อใดที่อาการของผู้ป่วยรุนแรงมากขึ้น จะสามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ทันที โดยไม่รอให้อาการรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จนไม่สามารถรักษาได้ทัน สิ่งที่ไทยแคร์ทำได้ตอนนี้ คือ รีบให้ยาฟาวิพิราเวียร์ กับกลุ่มเสี่ยงเพื่อประคองอาการ และป้องกันไม่ให้เชื้อลงปอด ไม่อยากให้ความยากในการเข้าสู่ระบบแบบนี้ดำเนินต่อไป

เฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง พบปัญหา รพ. เอกชนไม่รับ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตอนนี้แนะนำว่าหากผู้ป่วยซึ่งไม่มีอาการ และไม่ได้เป็นโรคประจำตัว ควรดูแลในสถานที่ซึ่งไม่ต้องใช้เตียงขอโรงพยาบาลก่อน ทั้งฮอสพิเทล และศูนย์พักคอย เพราะเมื่อเจอกรณีที่คนไข้จำเป็นต้องใช้เตียง แต่ไม่สามารถเข้าได้ เพราะเตียงไปหนาแน่นด้วยคนที่อาการน้อย แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงระบบควรจะจัดเข้าสู่การรักษาในโรงพยาบาลทันที หรือถ้าไม่มีความเสี่ยงใดๆ แต่มีอาการเปลี่ยนแปลงจะมีระบบเข้าไปดูแล ถ้าจัดการแบบนี้ได้ ระบบก็จะเดินหน้าต่อไปได้

ในขณะที่ นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ได้มีการพูดคุยกันในทีมการรักษาแบบบูรณาการ สำหรับการดูแลกลุ่มเสี่ยง ในการระบาดครั้งที่ผ่านมา เราสามารถทำได้สำเร็จ โดยให้โรงพยาบาลดูแลกลุ่มเปราะบาง และในเนิร์สซิ่งโฮมก่อน แต่ปัญหา คือ ส่วนใหญ่อาการจากโควิด-19 ไม่รุนแรง แต่อาการจากโรคเดิมรุนแรง คือ มีโรคเรื้อรัง และเมื่อไปติดต่อโรงพยาบาลบางแห่งจะไม่สามารถรับได้ เพราะไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การแก้ปัญหาจะมีโรงพยาบาลศูนย์ ที่เป็นโรงเรียนแพทย์ประเมินว่ากลุ่มโรคใด ควรจะไปที่ไหน ให้ตรงกับศักยภาพ และสามารถดูแลผู้ป่วยได้

สำหรับการเข้าสู่ระบบการรักษาตัวที่บ้าน หรือ HI นั้น ตอนนี้ต้องพิจารณาในกลุ่มเสี่ยงก่อน ตามมาตรฐานคำแนะนำของกรมการแพทย์ โดยที่อาจจะยังไม่เริ่มให้ยาทุกคน แต่ทุกกรณีจะได้รับการดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์ แบบวีดีโอคอล มีอาหารครบ 3 มื้อ อุปกรณ์จำเป็นอย่างน้อย 2 อย่าง คือ เครื่องวัดวัดอุณหภูมิ และเครื่องวัดออกซิเจน รวมถึงปรับลดเวลารักษา จาก 14 วัน เหลือ 10 วัน สำหรับเรื่องยารักษา จะพิจารณาให้ยา ทั้ง ยาฟาวิพิราเวียร์ และยาฟ้าทลายโจร เป็นต้น

หวังช่วยดูแลคนไร้สิทธิ ลงทะเบียนไม่ได้ กังวลการพิสูจน์ตัวตน

บุหงา เปิดเผยว่า ผู้ป่วยที่ยังต้องการการดูแล คือ กลุ่มผู้ป่วยไร้สิทธิ ที่เป็นชาวต่างด้าว มีปัญหาการเข้าถึงระบบการลงทะเบียน และทำการรักษารวมถึงปัญหาเรื่องการสื่อสาร แต่ในครั้งนี้ ผู้ป่วยหลายคน กังวลถึงการลงทะเบียน ที่อาจเกี่ยวพันกับการยืนยันพิสูจน์ ตัวตน จึงต้องการนโยบายที่ชัดเจนในการดูแล

นพ.จเด็จ กล่าวว่า กรณีคนไร้สิทธิ ตามนโยบายรัฐบาล ‘รักษาทุกคนถ้วนหน้า’ อยู่แล้ว แต่ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมเมื่อถึงการปฏิบัติแล้วไม่เป็นไปตามนโยบาย ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหน่วยบริการไม่ยอมรับรักษาโดยกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่ที่ผ่านมา สธ. จะทำหน้าที่จ่ายในอัตราเดียวกันทุกระบบ จึงต้องสื่อสารกับหน่วยงานที่ดูแล เพื่อให้ความมั่นใจกับหน่วยบริการ ว่าท่านต้องได้รับดูแลไม่ว่าจะมีสิทธิรักษาใดๆ หรือไม่ก็ตาม

แก้ปัญหาเตียงดูแลเด็ก ‘ไทยแคร์’ หวังเห็นระบบข้อมูลแบบเรียลไทม์

สำหรับประเด็นเตียงดูแลเด็กที่บางรายไม่ได้รับการดูแลจากโรงพยาบาล นพ.ณัฐพงศ์ ยืนยันว่า ตอนนี้ใน กทม. มีการสำรองเตียงสำหรับดูแลเด็กเอาไว้ มีทั้งสิ้น 600 เตียง และยังมีเตียงที่ใช้ร่วมกับผู้ใหญ่ได้ด้วย โรงพยาบาลสามารถบริหารจัดการ โดยสลับเตียงเด็กเล็ก และเด็กใหญ่ได้ อีกทั้ง ข้อมูลส่วนใหญ่พบว่า คนไข้เด็ก อาการน้อยมาก มีความกังวลในเด็กที่อายุน้อยมากเท่านั้น คือ ถ้าน้อยกว่า 1 ขวบ ต้องจัดให้มีเตียงรักษาทันที ขอให้ติดต่อไปที่สำนักงานเขต หรือสถาบันสุขภาพเด็ก

ในขณะเดียวกัน บุหงา ทิ้งท้ายว่า แม้จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของระบบการดูแลหลายอย่าง แต่เมื่อพอคนไข้เพิ่มขึ้น เรากลับสู่ภาวะเดิม ไทยแคร์และอาสาหลายกลุ่มอยากเห็นระบบ IT ที่มีประสิทธิภาพ จะทำอย่างไรให้การลงทะเบียน แล้วผู้ป่วยสามารถติดตามสถานะของตนเองได้ และเห็นข้อมูลคนไข้ที่ละเอียดมากขึ้น เพราะ ประวัติคนไข้จะบอกว่าเราควรดูแลอย่างไร อีกทั้ง ต้องมีการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจน โดยเฉพาะการเข้าไปรักษาใน CI จะทำอย่างไร เพราะคนไข้บางรายไม่ทราบว่าจะเข้าได้ที่ไหน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้