“พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์” ชวนปรับโฟกัส “บ้านเช่าราคาถูก” ไม่แยกส่วนจากเมือง – สิทธิ “คนจน” เพื่อที่อยู่มั่นคง

มองกรณีศึกษา “คนจนเช่าบ้าน” กรุงเทพฯ – ปริมณฑล ชี้ นโยบายยังไม่เอื้อ ไร้ระบบดูแล กลุ่มเปราะบาง เข้าไม่ถึง ขาดส่วนร่วมกับเมือง ขณะที่รัฐเน้นหลักคิดจัดที่อยู่อาศัย ไกลแหล่งงาน เสนอยกระดับสิทธิ นโยบาย “เช่าบ้าน” อย่างมั่นคง ดึง “ท้องถิ่น” เจ้าภาพหลัก

The Active พูดคุยกับ ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเจ้าของโครงการ “บทสำรวจเบื้องต้นชีวิตของคนจนเมืองหลุดระบบ กรณีศึกษาคนจนเช่าบ้าน/ห้องในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล” พบว่า ไทยยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับที่อยู่อาศัยในเมือง โดยเฉพาะการทำให้กลุ่มคนเปราะบ้างมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และเป็นส่วนหนึ่งของเมือง เพราะหากพูดถึงนโยบายที่อยู่อาศัย จำเป็นต้องดูควบคู่หลายเรื่อง เพราะนโยบายที่อยู่อาศัย มีความสัมพันธ์กับเรื่องอื่น ๆ ความหมาย คือ เมื่อพูดถึงที่อยู่อาศัยไม่ใช่แค่ “บ้าน” ของคนใดคนหนึ่ง แต่ถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ดิน เศรษฐกิจ และสุขภาวะของผู้คน ซึ่งมีความสัมพันธ์อยู่กับนโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาอื่นด้วย

“เวลาเราพูดถึงนโยบายที่อยู่อาศัย ฟันธงว่า สัมพันธ์กับการเติบโตของเมือง ในชนบทอาจจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ที่อยู่อาศัยในเมืองสัมพันธ์กับการแบ่งงานกันทำ การแบ่งประเภทการใช้ที่ดิน และการใช้ที่ดินในเมือง ทุกคนจะสนใจแค่ส่วนที่เป็นอุตสาหกรรม และการพาณิชย์ แต่สังเกตดี ๆ ว่า พื้นที่จำนวนมากของเมืองเป็น ที่อยู่อาศัย”

“ผังเมือง” สะท้อน การพัฒนาที่(ไม่)เท่ากัน

ผศ.พิชญ์ ยังชี้ถึงผังเมือง กทม. ซึ่งที่ดินจำนวนมาก ถ้าไม่นับพื้นที่สีเขียวขอบนอก หรืออาจจะหมายถึงพื้นที่ที่ยังไม่ถูกพัฒนา ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยแบ่งเป็น ที่อยู่อาศัยหนาแน่น ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และ ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย ผังเมืองพูดถึงการมีที่อยู่อาศัย แต่ประเด็นคือ เป็นการพัฒนาที่ไม่เท่ากัน ด้านหนึ่งก็คือ มีผังเมืองที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีนโยบายที่อยู่อาศัย ที่สัมผัสกับผู้คนในเมือง ที่มีมิติสัมพันธ์ในภาคเศรษฐกิจ มีแต่คำหรู ๆ ที่เรียกว่า “อสังหาริมทรัพย์” พูดเฉพาะที่อยู่อาศัย เรื่องราวที่เป็นทางการ ทุกคนสามารถเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ได้

“เมือง หรือ ประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ที่อยู่อาศัย อาจจะไม่ได้ดีพอ และอาจจะนำไปสู่ปัญหาอื่น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างที่อยู่อาศัยกับสุขภาวะผู้คน เมื่อมีคนจนจำนวนมาก ที่เสียเปรียบทางเศรษฐกิจ เขาจะมีโอกาสเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้น้อย แต่ในบางประเทศ เขามีนโยบายที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน”

บ้านเช่า
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ปรับโฟกัส เปลี่ยนที่อยู่ “ราคาถูก” เข้าถึงง่าย ใกล้แหล่งงาน

“Affordable housing” หรือ ที่อยู่อาศัยที่ประชาชนเข้าถึงได้ ราคาไม่แพง เป็นเงื่อนไขใหญ่ของเมือง ที่ ผศ.พิชญ์ เห็นว่า พวกเขาจะเข้าถึงได้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ไม่เกิน 30% ของรายได้ครัวเรือน ขณะที่เวลานี้ คนจนแบกรับต้นทุนที่อยู่อาศัยสูงถึง 50% ดังนั้น จึงดูที่ราคาเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูสัดส่วนการใช้จ่ายที่อยู่อาศัย เพราะหากพูดถึงคนเปราะบาง มักจะโฟกัสที่อาชีพหาบเร่แผงลอยเพียงอย่างเดียว ว่า ต้องมีที่อยู่อาศัย

ขณะที่ตัวเลขอีกส่วน คือ ประชากรที่ย้ายออกจากกรุงเทพฯ เพราะที่ดินราคาสูง จนไปเพิ่มจำนวนมากขึ้นรอบ ๆ กรุงเทพฯ ซึ่งยังตอบไม่ได้ว่าคนที่ย้ายออกไปจะกลับเข้ามาในกรุงเทพฯ อีกหรือไม่ ขณะที่การหาที่อยู่อาศัย ต้องพัฒนามิติอื่น และควรเป็นเรื่องของสิทธิ์ที่อยู่ในเมืองเพราะพวกเขาผลิตความมั่งคั่งให้กับเมือง

สำหรับ Affordable housing มี 2 แบบผศ.พิชญ์ อธิบายว่า คือ ที่อยู่อาศัยที่เข้าถึงได้ ซึ่งมักจะคิดแบบนโยบายไทย คือ สร้างบ้านให้กับคน โดยเชื่อว่าเขาต้องเป็นเจ้าของ ขณะที่ในโลกแห่งความจริง ยังไม่มีสถิติบอกว่าคนเช่าบ้านอยู่กันอย่างไร หมายความว่า คิดแต่แบบบ้านที่เป็นเจ้าของ ต่อให้เป็นบ้านเช่า บ้านที่ไกลขึ้น เราต้องไล่รื้อที่อยู่อาศัยของเขาเดิม เพราะเขาไม่มีสิทธิ์อยู่ในที่ดิน

“โดยเฉพาะรัฐที่มักเน้นการจัดบ้าน ที่อยู่อาศัยให้กับคน คือ ไกลแหล่งงาน และเต็มไปด้วยระเบียบยุบยับ ทำให้คนจำนวนมากไม่มีสิทธิ์เข้าอยู่ ส่วนนโยบายการเช่าบ้านเช่าที่พัก แม้จะจุดประเด็น แต่เราไม่เห็นรูปธรรมอะไรเลย ทั้งที่เอาเข้าจริงแล้วส่วนนี้ คือ ส่วนหลักของ กทม. จริง ๆ เราไปที่ไหน การเช่าบ้านเราก็เห็น แม้ในที่ที่มีเศรษฐกิจแพงที่สุด ก็มีบ้านเช่ากระจุกตัว แต่เราไม่มีนโยบาย”

บ้านเช่า

ยกระดับสิทธิ นโยบาย “เช่าบ้าน” อย่างมั่นคง

ขณะที่โครงการบ้านมั่นคง ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. นั้น ต้องการการมีชุมชนที่แข็งแกร่งผศ.พิชญ์ มองว่าการเข้าถึงโครงการใหม่ ๆ ของประชาชน พวกเขาต้องประกาศว่าตัวเองจน ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งคนจนอาจไม่รู้สึกแบบนั้น คือ เขาควรรู้สึกว่ามันเป็นสิทธิ์ มากกว่าการเข้าไปขอ สิ่งนี้ทำให้เห็นว่านโยบายบ้านเช่าสำคัญ แต่นโยบายภาพรวมยังไม่มี และสิ่งที่มีในปัจจุบันไม่ได้เอื้อให้ระบบการเช่าบ้าน มีความมั่นคงเลย

“เราไม่มีกฎหมายการเช่าบ้านโดยเฉพาะ ไม่มีนโยบายการเช่าบ้านโดยเฉพาะ กฎหมายที่มีเป็นการเช่าในระบบ ที่เป็นทางการทั้งสิ้น เช่น การทำสัญญาเช่าอาคารก็เป็นเรื่องของคนมีเงิน สุขภาวะ ความปลอดภัย เป็นเรื่อง พ.ร.บ.อาคารฯ ที่ไม่ได้มาไล่ตรวจเป็นรายหลัง ฯลฯ”

ถึงตรงนี้ ผศ.พิชญ์ ยอมรับว่า ไม่เสมอไปที่ ภาวะคนไร้บ้าน เป็นภาวะสุดท้าย ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นคนไร้บ้านได้ ความไร้บ้านของหลายคนเป็นยุทธศาสตร์ โดยย้ำว่า “คนไร้บ้านยังมีศูนย์คอยดูแล แต่คนเช่าบ้านที่แย่ ไม่มีใครดูแล ร้องเรียนที่ไหน”

บ้านเช่า

“ที่อยู่อาศัย” เรื่องใหญ่ในสายตา “ท้องถิ่น”

ผศ.พิชญ์ เสนอการทำงานข้อมูล เพื่อผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต่อยอดรูปธรรมบ้านเช่า คือ

  1. ผลักดันให้ อปท. สนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ พัฒนาเรื่องนี้ให้เป็นระบบ เพราะ อปท. มีความรู้ในเชิงพื้นที่ อย่างน้อยต้องผลักดันให้ท้องถิ่นรับผิดชอบต่อสิ่งเหล่านี้ ในพื้นที่เพิ่มขึ้น และจำเป็นต้องดูแลทั้งระบบ
  2. ต้องเริ่มสำรวจทำฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ ซึ่งเทคโนโลยีทำได้ เช่น การสำรวจด้วยดาวเทียม ถึงความต้องมีที่อยู่อาศัย ที่สำคัญคือข้อเสนอเหล่านี้ ต้องเกิดจากฐานคิดก่อนด้วยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่

“ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การสร้างบ้าน ประเด็น คือ อยู่อาศัยอย่างมั่นคง ถ้าเขาอยากเช่าตลอดชีวิต สัญญาชัดเจน เหตุผลที่จะซื้อบ้านก็อาจจะไม่จำเป็น เป็นอะไรที่พัฒนาได้ ประเทศเจริญแล้ว ก็เป็นระบบเช่าบ้านได้ ในเมืองควรเป็น ระบบเช่าบ้าน”

บ้านเช่า

ผศ.พิชญ์ ย้ำทิ้งท้ายว่า การแก้ปัญหาเรื่องนี้ต้องเริ่มสำรวจจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือถ้าจะสร้างโครงการใหม่ก็ต้องไม่มองเรื่องบ้านเช่า ที่อยู่อาศัยที่แยกขาดจากส่วนอื่น หมายความว่าถ้าจะสร้างใหม่ก็ต้องสร้างแหล่งงานเพิ่มเข้าไปในส่วนนั้น อย่าง สิงคโปร์ ชัดเจนว่าสร้าง Town Center และมีแหล่งงาน ตลาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต มีระบบงาน รัฐบาลท้องถิ่นดูแลแบบญี่ปุ่น หรือช่วยเหลือเรื่องเงินแบบ เกาหลีใต้ หรือแม้แต่การควบคุมกลไกราคา ผังเมืองไทยกำหนดพื้นที่จำนวนมากให้เป็นที่อยู่อาศัย แต่กลับไม่มีนโยบายที่เกี่ยวข้อง  

นอกจากนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังตอกย้ำความสำคัญของการมีที่อยู่อาศัย ปลอดภัยมั่นคง เพราะหลายครอบครัวที่เปราะบาง และอยู่ในชุมชนแออัด ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ และเมื่อติดแล้วก็ต้องหยุดงาน เสียงาน บางคนเสียงานไปแล้ว ไม่มีปัญญาที่จะไปอยู่บ้านเช่าที่ดีขึ้น

“เมื่ออยู่ในคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ไม่ใช่แค่ว่า เป็นคนไร้บ้านหรือเปล่า แต่ความมั่นคงในที่อยู่อาศัยมันแย่ ทางเลือกในชีวิตก็จะลดลง เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสุขภาวะด้วย นโยบายเรื่องนี้ไม่ทันต่อสถานการณ์ ทั้ง ๆ ที่เรื่องการเช่าบ้านเป็นเงื่อนไขสำคัญ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน