อธิบดีกรมอุตุฯ เผยฤดูร้อนปีนี้ อุณหภูมิสูงสุดกว่า 42 องศาเซลเซียส ปลายเมษายนเสี่ยงร้อนจัด ขณะที่ตอนบนของไทยเสี่ยงเกิดพายุฤดูร้อน วาตภัย ฝนตกมากในฤดูฝน หลังไทยเผชิญภาวะโลกร้อน
ในช่วงวันที่ 30 มี.ค – 1 เม.ย. 68 ประเทศไทยตอนบนจะมีพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ลูกเห็บตก รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยและทะเลจีนใต้ ส่งผลทำให้มีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ในขณะที่บริเวณดังกล่าวมีอากาศร้อน
ขอให้ประชาชนควรหลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณที่มีพายุฝนฟ้าคะนอง หรืออยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ส่วนเกษตรกรควรเสริมความแข็งแรงให้ไม้ผล และเตรียมการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตรและสัตว์เลี้ยง รวมทั้งดูแลรักษาสุขภาพในช่วงที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไว้ด้วย
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน มีดังนี้
วันที่ 30 มีนาคม 2568
- ภาคเหนือ: จังหวัดตาก แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
- ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
วันที่ 31 มีนาคม 2568
- ภาคเหนือ: จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก และกำแพงเพชร
- ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี
วันที่ 1 เมษายน 2568
- ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และตาก
- ภาคกลาง: จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี
- ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี
ในช่วงวันที่ 31 มี.ค. – 3 เม.ย. 68 จะมีคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันออกเคลื่อนผ่านภาคตะวันออก อ่าวไทย และภาคใต้ ลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น กับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ และมีลมกระโชกแรงบางแห่ง

สุกันยาณี ยะวิญชาญ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ฤดูร้อนปีนี้คาดการณ์ว่าอาจร้อนน้อยกว่าปีที่แล้ว ที่เคยร้อนมากถึง 44.5 องศาเซลเซส แต่ ปีนี้จะร้อนประมาณ 42-43 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะปลายเดือนเมษายน ในขณะที่บางช่วงจะมีมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นหลายจังหวัด จังหวัดร้อนที่สุด ของปี 2568 จังหวัดตาก กาญจนบุรี นครสวรรค์ สุโขทัย
แนวโน้มฤดูฝนปีนี้ ไทยยังอยู่ในช่วงลานิญาเป็นกลางไปตลอดฤดูฝน และปีนี้ฝนจะสูงกว่าค่าเฉลี่ย 30 ปี ขอให้ประชาชน เฝ้าระวังสถานการณืน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ ในช่วงเดือนกันยายน เดือนตุลาคม หลังจากนั้นเดือนพฤศจิกายน ถึงสิ้นปี ฝนจะตกสะสมมากทางภาคใต้ และคาดว่าปีนี้ พายุที่จะเข้ามาไทยประมาณ 1-2 ลูก
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังกล่าวอีกว่า สำหรับหลังองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) มีเป้าหมาย “การเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับทุกคน” หรือ Early Warning for All ที่ได้ถูกประกาศขึ้นโดยทางสหประชาชาติหรือ UN ในเดือนมีนาคม 2022 โดยมีเป้าหมายในการทำให้สำเร็จภายในปี 2027 ในการช่วยชีวิตผู้คน ปกป้องวิถีชีวิต และเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้สามารถฟื้นตัวและปรับตัวได้และวางระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยมีการขยายเครื่อยข่ายในการตรวจวัดสภาพอากาศ การพัฒนาระบบทางพยากรณ์ การแจ้งเตือนภัยที่ทันสมัย หรือการต่อยอด Cell Broadcast Service(CBS) หรือการลงไปในพื้นที่ให้ความรู้กับประชาชน