ย้ำไข่คุณภาพ ต้องใช้ไฟทุกขั้นตอนการผลิต เสนอหาแหล่งทุน สร้างโซลาร์รูปท็อป วอนรัฐหันมองเกษตรกรรายเล็ก-กลาง ก่อนผูกขาดโดยทุนใหญ่
The Active ลงพื้นที่สะท้อนต้นทุนการผลิต “ไข่ไก่” ที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดอาจกระทบกับค่าครองชีพของประชาชน ชัยพร สีถัน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชัยพรสหฟาร์ม จำกัด เจ้าของโรงงานผลิตไข่ไก่ขนาดกลาง ในจังหวัดสุพรรณบุรี พาทีมข่าวเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไข่ไก่ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อตอกย้ำว่า “ไฟฟ้า” เป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้
ชัยพร กล่าวว่า โรงงานของของตนเป็นโรงเลี้ยงไก่ และคัดแยกไข่ ที่ได้มาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ GMP จึงจำเป็นที่ต้องใช้ไฟในการผลิตอย่างเหมาะสม ทั้งการควบคุมอุณหภูมิตลอด 24 ชั่วโมง และเครื่องจักรในการคัดแยกไข่ โรงงานของตนมีพื้นที่ 4,000 ตร.ม. เสียค่าไฟเดือนละไม่ต่ำกว่า 300,000 – 400,000
กระบวนการกว่าจะได้ไข่นั้น แบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ คือ การเลี้ยงไก่ และการคัดแยกไข่ ในส่วนของการเลี้ยงไก่นั้น โรงงานของตนเลี้ยงระบบปิด แบบคอนโด ซึ่งต้องใช้พลังงานพัดลม ดึงอากาศจากด้านหน้า ไปสู่ด้านหลังผ่านโรงเรือน โดยใช้พัดลมต่อโรงเรือนไม่ต่ำกว่า 30 เครื่อง กำลังกว่า 150 แรงม้า และต้องดึงน้ำขึ้นมา แล้วนำไปสร้างความเย็นให้กับไก่ ระบายความร้อน และของเสียของไก่ออกไปด้วย ซึ่งชัยพรบอกกับเราว่าขั้นตอนนี้ “ไม่มีวันหยุด ตลอด 24 ชม.” ชัยพรกล่าว
หลังจากนั้น เป็นกระบวนการ “คัดแยกไข่” ตามมาตรฐานแล้วต้องควบคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 20 – 25 องศาเซลเซียสซึ่งเป็นมาตรฐานสินค้าแห่งชาติ และยังรวมถึงการทำความสะอาดที่ต้องใช้เครื่องจักรตามสุขลักษณะ ขั้นตอนนี้พึ่งพาพลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมาก เพราะก่อนสินค้าจะออกสู่ผู้บริโภคได้ ต้องสดวันต่อวัน มีความสะอาด และทุกส่วนต้องคุมอุณหภูมิอย่างเหมาะสมด้วย
“เราเห็นใจภาครัฐ และผู้บริโภค แต่ภาคผลิตแบบเราอยู่ตรงกลาง รับภาระมาก อยากให้เอาข้อมูลมาคุยกัน ว่าสิ่งที่ภาครัฐต้องดูแลเรื่องต้นทุน ทำได้ดีแล้วหรือยัง ที่เราสงสัย คือ ไฟฟ้า ขึ้นมาด้วยเหตุผลอะไร ต้องตอบให้ชัด แต่เวลาเราจะขึ้นราคาไข่ ต้องให้เราชี้แจงทุกอย่างว่าขึ้นเพราะอะไรบ้าง ถ้าเป็นแบบนี้ สุดท้ายอาจไปตกหนักกับผู้บริโภค ซึ่งเราไม่อยากให้เกิด”
ชัยพร กล่าวว่า ในอนาคตอันใกล้ ราคาไข่คละหน้าฟาร์มมีโอกาสขึ้นไปถึง 4 บาทแน่นอน ราคาที่ตนมองว่าเหมาะสมคือ ตอนนี้ต้นทุน 3.40 บาท ขายหน้าฟาร์มอยากให้บวกเพิ่มได้ไม่เกิน 20% รายเล็ก รายกลางจะอยู่ได้ โดยไม่มีทุนใหญ่ครอบงำ หรือให้เขาอยู่ได้อย่างเดียว การมีอยู่ของธุรกิจรายกลาง คือการคัดค้านการกินรวบ ถ้าผู้ผลิตรายกลางอย่างตนอยู่ไม่ได้ คิดว่าผู้บริโภคอาจะได้เจอ หน้าฟาร์มฟองละ 7 – 8 บาทอีกก็ได้
ชัยพร ฝากถึงภาครัฐให้ลงมาดูแลผู้ผลิต โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมอาหาร ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน วันนี้ถ้าเราจะขอให้ลดค่าไฟ ก็เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ แต่มีข้อเสนอว่า ต้องส่งเสริมให้ผู้ผลิตสามารถลดต้นทุนทางอ้อมได้ เช่นปลายทางของสินค้าอย่าง “ขี้ไก่” ควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำแก๊สชีวภาพ และที่สามารถเห็นผลได้ทันที่ คือ การหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ ให้ผู้ผลิตสามารถลงทุนใช้ “โซล่าเซลล์” ร่วมกับการเลี้ยงไก่ ที่สามารถลดต้นทุนค่าไฟได้มากถึง 50% แต่ที่ผ่านมาภาครัฐยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
“วันนี้ เงิน 20 บาท จะไปซื้อเนื้อหมู 1 ขีด เขาก็ไม่ขายให้แล้ว ไข่ไก่ เป็นโปรตีนที่ถูกที่สุดในตอนนี้ มันควรต้องดูแล คนรากหญ้าที่เขายังต้องบริโภคไข่ จะเดือดร้อนหนัก เราไม่อยากขึ้นราคา เพราะ สุดท้ายถ้าอั้นต้นทุนไม่ได้ รายย่อยตายรายกลางอยู่ไม่ได้ ก็จะเหลือแค่นายทุนเท่านั้น…”