ขอผลเสี่ยงทาย ‘วันพืชมงคล’ เป็นจริง ความหวัง ‘ชาวนา’ สู้ภาวะโลกร้อน

ฟังเสียง ชาวนา ในวันพืชมงคล ถือฤกษ์ดีเริ่มต้นทำนา ท่ามกลางความท้าทาย และข้อกังวล วิกฤตภูมิอากาศแปรปรวนสูง ร้อน แล้ง ท่วม ในปีเดียวกัน เชื่อหากนโยบายรัฐปรับตัวไม่ทัน ภาคเกษตรไทยอาจถึงทางตัน

วันนี้ (10 พ.ค. 67) เนื่องในวันพืชมงคล งานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปีนี้ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า ถือเป็นการทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร เริ่มฤดูกาลเพาะปลูก ขณะที่ผลเสี่ยงทาย พระยาแรกนา ได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 5 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนา จะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี ส่วนพระโค กินน้ำ หญ้า และเหล้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง

ขณะเดียวกันวันพืชมงคล ได้กลายเป็นความหวังของชาวนาทั่วประเทศ ที่ได้เริ่มต้นทำนา แต่ทามกลางสภาพอากาศที่แปรปรวนสูง จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ชาวนาหลายคนกังวลใจไม่น้อยกับสภาพอากาศที่คาดเดาได้ยาก ทามกลางโลกร้อนขึ้น

ประยูร แตงทรัพย์ ประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ สามัคคีข้าวพันธุ์
ต.ยางขาว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์

น้ำเพียงพอ อากาศเป็นใจ ความหวังชาวนา

ประยูร แตงทรัพย์ ประธานกลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ สามัคคีข้าวพันธุ์ ต.ยางขาว อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ ในฐานะชาวนาซึ่งปีนี้ได้รับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะเป็น สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 เพราะเป็นผู้ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจยกระดับการเพาะปลูกข้าวจากข้าวขายโรงสี เป็นขายพันธุ์ข้าวปลูกคุณภาพดีจากแปลงนา

ประยูร บอกว่า ตอนนี้ขยายพื้นที่ปลูกเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ ทำเมล็ดพันธุ์ข้าวปลูก รวมกว่า 5,000 ไร่ เชื่อมโยงตลาดเกษตรโอฬารพันธุ์ข้าว ใครที่ใช้เมล็ดพันธุ์สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงหน้าแปลงนา โดยเขายอมรับว่า ในอดีตมีปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลน ยิ่งในช่วงสถานการณ์โลกร้อน ยิ่งส่งผลให้น้ำเกิดการแย่งชิง

แต่ปัจจบันมีการสร้างจุดร่วมสร้างความเข้าใจ จนทำให้สามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้ในเรื่องของความเข้าใจ ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่น่ากังวลกว่าหากความแปรปรวนจากโลกร้อนรุนแรงขึ้น คือการรับมือการปรับตัวอาจต้องกระทบหลายภาคส่วน หากน้ำมีเพียงพอ สภาพอากาศเป็นใจ ไม่ผันผวนกระทบชาวนาก็คงเป็นข่าวดีของชาวนาที่มีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในนาจะได้ผลบริบูรณ์ และผลาหาร มังสาหาร ตามคำเสี่ยงทาย

สุภชัย ปิติวุฒิ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายชาวนาวันหยุด

ปรับรูปแบบ วิธีการทำนา สู้ภาวะอากาศแปรปรวน

ขณะที่ สุภชัย ปิติวุฒิ ผู้ก่อตั้งเครือข่ายชาวนาวันหยุด บอกว่า ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ปัญหาความแปรปรวนสภาพภูมิอากาศมีผลอย่างมากกับชาวนา ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว โรงสี ไปจนถึงผู้ส่งออก สภาพอากาศเกี่ยวเนื่องกับแหล่งน้ำไปหมด เพราะน้ำคือเรื่องสำคัญ ที่ต้องใส่ใจ ที่ผ่านมาเกษตรที่อยู่ในพื้นที่เขตชลประทาน แม้การจัดการน้ำตามระยะเวลาที่กำหนดการส่งน้ำ แต่ก็อาจได้น้ำไม่เพียงพอจากหลายปัจจัย

หากปีใดน้ำต้นทุนมีน้อย ชาวนาต้องมาลุ้นการปล่อยน้ำว่าจะปล่อยน้ำมาถึงที่นาหรือไม่ ปล่อยตามการกำหนด จึงทำให้เกิความไม่คงด้านน้ำ เพราะนับวันสภาพอากาศก็แปรปรวนเปลี่ยนไปตามภาวะโลกร้อน ไม่ต่างจากผู้ใช้น้ำบาดาลบางแห่ง ที่ยังมีปัญหาเรื่องน้ำมีสนิมมาก ซึ่งก็มีผลกระทบเช่นกัน

“ปัจจุบันผมทำนาเปียกสลับแห้งแกล้งข้าวที่ใช้น้ำน้อยด้วย ปัญหาการทำนา หน้าร้อน อุณหภูมิ สูง แดดร้อนจัด น้ำระเหยไว ถ้าเตรียมแปลง ฟางย่อยสลายไม่สมบูรณ์ และน้ำแช่ขัง ตั้งแต่หมักฟางต่อเนื่อง จะมีตะไคร่เขียวหรือสาหร่ายไฟลอยเป็นแผ่น คลุมข้าว จะนาหว่าน หรือนาปักดำ ก็เจอปัญหาเดียวกันคือรัดต้นข้าวไม่แตกกอ สังเกตยิ่งแดดร้อน ๆ จะมีฟองอากาศฟองแก๊สเดือดปุ๊ด ๆ ฟองอากาศจะเป็นตัวพยุง ดันให้ สาหร่ายลอยขึ้นมา เป็นแผ่นสาหร่าย พวกนี้แย่งออกซิเจนในน้ำ จากต้นข้าวด้วย ถ้าใช้น้ำบาดาลร่วมด้วยก็จะเจอพิษสนิมน้ำบาดาลที่ละลาย ออกมาแล้วรากข้าวดูดไปมีอาการใบเหลืองข้าวไม่เขียวสดชื่นข้าวจะค่อย ๆ ยุบ เป็นแอ่ง ๆ ในแปลงนาถ้ามีอาการข้าวเมาตอซังด้วย จาก H2S รากดำไม่กินปุ๋ยซ้ำเติมเสียหายหนักมาก”

สุภชัย ปิติวุฒิ

สำหรับแนวทางการจัดการนั้นผู้ก่อตั้งเครือข่ายชาวนาวันหยุด เสนอว่า ช่วงนี้อย่าหว่านปุ๋ยไนโตรเจน โดยไดแนะนำแนวทางปฏิบัติ คือ

  1. ปล่อยให้แปลงนาแห้งได้ดีที่สุดสังเกตุ ตะไคร่สาหร่ายจะยึดเกาะหน้าดินเมื่อแห้งแล้วจะร่อนเป็นแผ่นป้องกันหญ้าหน้าดินได้เมื่อดินแตกระแหงออกซิเจนลงดินจะลดกิจกรรมการย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนของจุลินทรีย์ลงลดการปลดปล่อยแก๊สมีเทน และ H2S

  2. “รักพี่เสียดายน้อง” น้ำก็น้อย หาก็ยาก จะระบายน้ำออกจากแปลง ก็ไม่มีที่พักน้ำ จะสูบน้ำ กลับก็มีต้นทุน ข้าว ก็อยากให้ฟื้น อยาก ให้ราก ข้าวกลับมากินปุ๋ย ตามปกติ

  3. ทางเลือกในการจัดการประยุกต์ “ไม้กวาดหน้าเลน“ ใช้หญ้าขัดมอญ ประกอบเข้า ชุดหน้ากระดาน ไม้ประกบ กว้าง 2 เมตร พร้อมต่อ ด้ามมือจับ คู่ สำหรับ ลาก

สำหรับผลที่คาดหวัง

  1. คราด ทำให้ ตะไคร่ สาหรายที่รัดต้นข้าว แตกตัวออกมา

  2. ปลายคราด ไปรบกวนหน้าผิวดิน ระบายแก๊สหน้าผิวดิน เติมออกซิเจน ลงในดิน

  3. เลนหน้าผิวดิน เกิดน้ำ ขุ่น ไปเคลือบ ผิวใบหญ้าใต้น้ำ ลดประสิทธิภาพการสังเคราะห์แสง

  4. ข้าว มีการยืดต้นไวขึ้น ใบคลุมร่อง ไวขึ้น ทำสอดคล้องกับห้วงเวลาที่เราต้องการ ลดระดับน้ำหน้าผิวดินลง ให้แห้ง

วอนนโยบายรัฐต้องเร่งปรับตัว อย่าผลักภาระให้ชาวนา

ขณะเดียวกันได้มีข้อเสนอเชิงนโยบาย ประกอบด้วย

  1. การแก้ปัญหาดูเชิงพื้นที่การแก้ปัญหาไม่ใช่เอาไม้บรรทัดมาวัด และตีเส้นให้เป็นรูปแบบเดียวกัน โดยพื้นที่ลุ่มต่ำต้องเปิดโอกาสให้เขาทำก่อนน้ำท่วม แล้วส่งต่อให้พื้นที่ด้านล่างทำต่อ

  2. นโบายรัฐต้องเน้นให้หลายภาคส่วนเกิดการปรับตัวเพื่อรับมือกับภาวะโลกร้อนในอนาคต

  3. ปัจจุบันเกษตรกรมีความกังวลเรื่องห้ามเผาฟางข้าว การนับสนุนเครื่องจักรให้เกษตรกรก็จะเป็นการลดปัญหา อย่างในประเทศญี่ปุ่น มีเครื่องสับฟางข้าว จีนมีชุดสับย่อยฟาง อินเดียก็มี แต่ประเทศไทยผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 เรื่องนี้ ไม่มีเรื่องนี้สนับสนุนมากนัก มันเป็นภาระที่ชาวนาแก้ปัญหาเอาเอง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active