แบ่งกลุ่ม แยกสิทธิ์ให้ชัด เคลียร์ปมเพิกถอน ‘ป่าทับลาน’ ที่สังคมต้องรู้

‘สุมิตรชัย หัตถสาร’ หวั่น ประชาชนค้านเพิกถอนป่าทับลาน ด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ปัญหาจะเรื้อรังไม่จบ จี้หน่วยงานรัฐเปิดข้อมูลจริง แบ่งกลุ่มให้ชัด ชุมชนดั้งเดิม ประชาชนทำกินก่อนประกาศอุทยานฯ ต้องได้คืนสิทธิ์ เชื่อถ้ายึดแนวเขต ปี 2543 แก้ปัญหาทับลาน จบไปนานแล้ว    

กรณี #Saveทับลาน ยังคงเป็นกระแสถูกพูดถึงในโลกโซเซียลเวลานี้ สืบเนื่องจาก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ประกาศรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน ในการกำหนดอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา และ จ.สระแก้ว ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 มี.ค. 66 โดยการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4,000 (ONE MAP) เพื่อออกโฉนดที่ดินในพื้นที่เขตของ สำนักงานการปฏิรูปที่เดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยเปิดรับฟังความเห็นมาตั้งแต่ วันที่ 28 มิ.ย. ถึง 12 ก.ค.นี้

โดยผลรับฟังความคิดเห็นที่ถูกรายงานผ่านสื่อ ข้อมูล ณ วันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมา พบว่า จากผู้เข้าลงชื่อในกระบวนการรับฟังความเห็นกว่า 1 แสนคน มีผู้ไม่เห็นด้วย กว่า 9 หมื่นคน และเห็นด้วยหมื่นกว่าคน ซึ่งถ้าพิจารณาความเห็นอีกด้านก็มีข้อสังเกตเช่นกันว่า การปรับเปลี่ยนแนวเขตตาม ONE MAP ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นความเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ แต่เป็นความเห็นที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้น แต่มาจากอารมณ์ร่วม และความรู้สึกของคนทั้งประเทศ

ONE MAP กับกระบวนการฟังความเห็นที่ยังเป็นคำถาม ?

The Active สอบถามความเห็นประเด็นดังกล่าวกับ สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ในฐานะของทนายความในคดีด้านสิ่งแวดล้อม ให้คำอธิบายกรณีนี้ว่า การรับฟังความเห็นแนวเขต ONE MAP ในเวลานี้ ทำตามกระบวนการให้ทุกฝ่ายยอมรับเส้นแนวเขตใหม่ให้ตรงกัน ส่วนที่เกินทับซ้อนกันมาก็ต้องให้แต่ละหน่วยงาน เช่น ส.ป.ก., ป่าสงวนแห่งชาติ ไปดำเนินการให้ชัดเจน แต่จากความเห็นของประชาชนจที่เปิดรับฟังในช่วงเวลาที่ผ่านมา กลับพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการปรับแนวเขตใหม่ของอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่มีการใช้คำพูดว่า “เฉือนป่าถึง 2.6 แสนไร่” ซึ่งก่อนหน้านี้ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ก็เปิดเผยว่า การจัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน 265,266 ไร่ ใน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 4 – 5 ก.ค.ที่ผ่านมา และการยังเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางระบบออนไลน์ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 12 ก.ค.นี้ การดำเนินการเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ตามมติ ครม. หากแล้วเสร็จทั้ง 2 ช่องทาง กรมอุทยานฯ จะสรุปเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และคาดว่าจะนำเสนอให้พิจารณาได้เร็วสุดภายในเดือน ส.ค.นี้

สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้คือความคิดเห็นที่พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ในสังคมไม่เห็นด้วย นำสู่กระแส #Saveทับลาน จากกระบวนการปรับแนวเขตตาม ONE MAP ของกรมอุทยานฯ เมื่อความเห็นออกมาในลักษณะนี้ จึงอาจส่งผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย

“ONE MAP เป็นโครงการที่จะทำแผนที่ แนวเขตให้เป็นแนวเขตเดียวกันทั้งหมดทั่วประเทศ กรมอุทยานฯ ก็ทำ หน่วยงานอื่นก็ทำ ทั้งป่าสงวนฯ ส.ป.ก. คือ ทุกหน่วยงานต้องร่วมกันทำแนวเขต โดยที่ทับลานซับซ้อนกว่า มีปัญหายาวนานมาตั้งแต่ปี 2524 หลังการประกาศอุทยานฯ ทับลาน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่เคยถูกสื่อสาร

“ONE MAP ต้องรับฟังความเห็นคนทั้งประเทศ แต่การเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ นั้นก็ต้องใช้กฎหมายอุทยานฯ ซึ่งใน มาตรา 8 วรรค 3 ก็ระบุไว้ชัดเจน ว่า การกำหนดให้พื้นที่บริเวณใดเป็นอุทยานแห่งชาติ การขยายอุทยานแห่งชาติ หรือการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ให้มีการรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณา ตรงนี้เกี่ยวข้องกับกฎหมายอุทยานฯ  ส่วนที่ทำกันอยู่นี้ คือ รับฟังความเห็นตามกระบวนการ ONE MAP ซึ่งต้องรับฟังคนทั้งประเทศ แต่หน่วยที่ทำ ONE MAP กลับไม่ได้ทำพร้อมกันทั้งประเทศ ต่างหน่วยงานก็ต่างคนต่างทำ พอทำเสร็จแล้วก็มาประกาศรับฟังความเห็น อย่างที่ทับลานเมื่อความเห็นส่วนใหญ่ออกมาว่าไม่เห็นด้วย ก็อยู่ที่ บอร์ดกรมอุทยานฯ ไปจนถึง ครม.จะเอายังไง”


“ถ้ากระแสมาแบบนี้กรมอุทยานฯ ก็อาจเลือกแขวนเรื่องนี้ไว้ก่อน เพราะคนไม่เห็นด้วย แล้วก็คงต้องกลับไปใช้มาตรการทางนโยบายเพื่อแก้ปัญหาต่อไป ปัญหาก็จะเรื้อรังไปเรื่อย ๆ เหมือนเดิม ทั้งที่จริง ๆ แล้ว สิ่งที่ภาครัฐควรต้องบอกต่อสังคม คือ การส่งออกข้อมูลต่าง ๆ สู่สาธารณะไม่ให้เกิดความสับสน ต้องไม่ให้คนขัดแย้งกัน ต้องทำให้ประชาชนตัดสินใจแสดงความเห็นและเข้าใจปมปัญหาจากข้อเท็จจริง ไม่ใช่เข้าใจด้วยอารมณ์ความรู้สึก”

สุมิตรชัย หัตถสาร

ถ้ายึดแนวเขตปี 2543 แก้ปัญหาทับลาน จบไปนานแล้ว ?

สุมิตรชัย ยังระบุว่า การเพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ยังไงก็ต้องทำตามกฎหมายอุทยานฯ มาตรา 8 การเพิกถอนมีระเบียบเฉพาะ ส่วนใหญ่รับฟังความเห็นประชาชนในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ไปจนถึงชุมชนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในช่วงหลัง ๆ หลายพื้นที่ก็ต้องจัดเวทีระดับชุมชน ตอนนี้กระบวนการ ONE MAP ต้องเคาะว่าประชาชนไม่คัดค้านแนวเขต ถึงจะเอาไปทำกระบวนการต่อในการเพิกถอน ถ้าแนวเขตโอเค ไม่มีใครคัดค้าน ก็ต้องไปเดินแนวเขตร่วมกัน แต่ถ้าย้อนดูเฉพาะพื้นที่อุทยานฯ ทับลาน พบว่า เคยทำมาแล้วตั้งแต่ปี 2543 แต่กระบวนการแก้ไขปัญหายังไม่แล้วเสร็จมาจนถึงปัจจุบัน กลับต้องมาทำตามกระบวนการใหม่

“ถ้าทำตามข้อสรุปเรื่องแนวเขตตั้งแต่ปี 2543 ทำตามสิ่งที่ทำมาแล้ว ได้ข้อยุติแล้ว กลับไปที่มติ ครม.ปี 2543 ทุกอย่างก็จบแล้ว เพราะมีข้อมูลการเดินแนวเขตแล้วทั้งหมด ก็ควรต้องเอามาประกาศให้ประชาชนรับทราบ แต่ตอนนี้มาทำใหม่ด้วย ONE MAP มารื้อเอาของเก่าทิ้ง แล้วเอา ONE MAP เป็นตัวตั้งก็ขัดแย้งใหม่”  

สุมิตรชัย หัตถสาร

แบ่งกลุ่ม แยกสิทธิ์ เคลียร์ให้ชัดปมป่าทับลาน

ผอ.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น ยังมองว่า ผู้คนในปัจจุบันอาจไม่เห็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากในอดีต ดังนั้นการแก้ปัญหาต้องแก้ด้วยการเอาข้อเท็จจริงมาเป็นตัวตั้ง เพราะต้องยอมรับว่า ต้นตอของปัญหามาจากความผิดพลาดของหน่วยงานรัฐ กระบวนการประกาศเขตอุทยานฯ มีปัญหา ส.ป.ก. ประกาศตอนปี 2520 มีมติ ครม.รองรับ แต่แล้วอุทยานฯ ทับลาน ก็มาประกาศพื้นที่ในปี 2524 ตอนนั้นการโต้แย้งคัดค้านเกิดขึ้นต่อเนื่องกันมายาวนาน ครม. ก็มีมติเห็นชอบให้กันพื้นที่ออกมากว่า 5 หมื่นไร่ ก็ต้องทำให้เรียบร้อย ต้องกันพื้นที่ออกจากอุทยานฯ นอกจากนั้นยังมีอีกหลายโครงการจัดสรรที่ดินของรัฐตามมาอีกในภายหลัง ซึ่งกระบวนการเพิกถอนอุทยานฯ ก็ยังไม่แล้วเสร็จ พอมาเหมารวมพื้นที่ 2.6 แสนไร่ ก็เลยเป็นประเด็น

“ภาครัฐต้องมีข้อมูลมาบอกต่อสังคมเลยว่า พื้นที่ที่จะเพิกถอนจุดไหนเป็นสิทธิ์ที่ประชาชนต้องได้รับ ประชาชนมีสิทธิ์มาก่อน คนในสังคมจะได้มีข้อมูลการตัดสินใจจากข้อเท็จจริงและสิทธิ์ที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเสียไป ส่วนที่มาที่ไปของนายทุนจะบอกว่าไม่มีใครรู้ว่าเข้ามายังไงก็คงไม่ใช่ เพราะกระบวนการเข้ามาของทุนก็แค่ต้องสืบหาว่าหน่วยงานไหนปล่อยปละละเลย หรือเอื้อประโยชน์ให้เกิดการทำผิด ใครอนุมัติให้ทำรีสอร์ต เกิดจากใคร หน่วยงานใด ซึ่งถ้าจะเอากันจริง ๆ เชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยาก”

สุมิตรชัย หัตถสาร

สุมิตรชัย ระบุอีกว่า นอกจากประชาชนที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ที่ดินดั้งเดิม ยังมีกลุ่มประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจัดที่ดินของรัฐในหลายรูปแบบ ตรงนี้ก็ต้องพิจารณากันออกให้ชัดเจน ส่วนที่ดินที่ถูกดำเนินคดีซึ่งมีข้อมูลก่อนหน้านี้ ว่ามีถึง 1.5 แสนไร่ ตรงนี้ก็ต้องระบุให้ชัด เพราะสังคมจะมองว่าเหมือนเป็นการฟอกให้กับกลุ่มทุนที่มีคดีอยู่หรือไม่ นี่คือประเด็นที่เป็นจุดอ่อนที่สุดของการรับฟังความเห็นรอบนี้ เพราะเมื่อเปิดตัวเลขออกมาว่าต้องกันพื้นที่ออก 2.6 แสนไร่ โดยไม่แยกแยะ ชี้แจงการแบ่งกลุ่มต่าง ๆ ให้สังคมรับรู้ ผู้คนเลยรู้สึกว่าเพิกถอนป่าจำนวนมาก

“ปัญหาที่ทับลานเวลานี้ สะท้อนถึงการดำเนินนโยบายที่ขัดแย้งกันอย่างชัดเจนของหน่วยงานรัฐ คุณจำได้ไหม ครั้งหนึ่งอุทยานฯ เคยเข้มงวดกับชาวบ้านบางกลอยแค่ไม่กี่สิบครัวเรือน พื้นที่ทำไร่หมุนเวียนแค่ไม่กี่ไร่ แต่อุทยานฯ ก็ปกป้อง เอาเป็นเอาตาย จับชาวบ้านดำเนินคดี แล้วพอมาตอนนี้จะมาเพิกถอนป่าอุทยานฯ เป็นแสน ๆ ไร่ ตกลงว่าจะรักษา จะเข้มงวด หรือยังไงกัน”

สุมิตรชัย หัตถสาร

เปิดเผยข้อเท็จจริง สิ่งที่รัฐต้องรีบทำ

สุมิตรชัย ย้ำถึงข้อเสนอทางออกเวลานี้ เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดแถลงข้อเท็จจริงทั้งหมด ไล่ไทม์ไลน์ ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ หน่วยงานรัฐแต่ละที่ตัดสินใจแบบไหน อย่างไร ให้ข้อมูลประชาชนทีเดียว ไม่ใช่ปล่อยเป็นกระแส ปล่อยให้ประชาชนปะทะขัดแย้งกัน โดยรัฐดูความขัดแย้งแล้วไม่ทำอะไรเลย ต้องนำเสนอข้อมูลให้ครบถ้วน แบ่งกลุ่มให้ชัดเจน ใครควรได้สิทธิ์ ก็ชี้แจงให้ชัด ผู้คนในสังคมจะได้มีทางเลือก

ตอนนี้คนไม่รู้จะเชื่อใคร รัฐเองก็ไม่ชัดเจน ถ้าเอาแค่ความรู้สึกยอมรับว่าไม่มีใครอยากเสียป่าอุทยานอยู่แล้ว แต่กระบวนการเชื่อ การตัดสินใจ โดยที่มีข้อมูลไม่ครบ ไม่รอบด้าน ก็ถือเป็นปัญหาต่อความเข้าใจในประเด็นสิทธิชุมชนคนอยู่กับป่ามาช้านานแล้วเหมือนกัน ซึ่งภาครัฐต้องทำให้ชัดเจนเสียที”

สุมิตรชัย หัตถสาร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active