เครือข่ายทับลาน 43 พื้นที่ 5 อำเภอ ใน จ.นครราชสีมา – ปราจีนบุรี ชี้กระบวนการ และคำถามรับฟังความเห็นคลุมเครือ สร้างความสับสน ประกาศจับตาประชุม กมธ.ที่ดินฯ พรุ่งนี้ เรียกร้องให้ชะลอการประชุมบอร์ดอุทยานฯ พร้อมให้ยึดแนวเขตปี 2543 คืนสิทธิที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยให้ประชาชน
วันนี้ (16 ก.ค. 67) วีระ รัตนะอักษรกุล เลขาฯ กลุ่มทับลาน 43 เปิดเผยกับ The Active ว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ค. 67) ที่จะมีการประชุม คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฏร ตามที่ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ยื่นหนังสือเพื่อขอคัดค้านกรณีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน นั้น
สำหรับกลุ่มทับลาน 43 ซึ่งเป็นกลุ่มประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ครอบทับพื้นที่ทำกินที่อยู่อาศัย ใน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.ปักธงชัย, ครบุรี, เสิงสาง, วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา รวมถึง อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี จะเข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการที่ดินฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ป.ป.ช., ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้มีการชะลอการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งจะมีการนำข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ในการกำหนดอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.ปราจีนบุรี จ.นครราชสีมา และจ.สระแก้ว
โดยชาวบ้านในพื้นที่เห็นว่า ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชนในการกำหนดพื้นที่ การขยายและการเพิกถอนฯ พ.ศ.2564 ไม่ปฏิบัติตามข้อ4(6) เจ้าหน้าที่ต้องรับฟังความคิดเห็น จัดเตรียมข้อมูลในการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียชุมชนที่เกี่ยวข้องและประชาชน โดยมีข้อมูลที่เผยแพร่อย่างน้อยต้องประกอบด้วยประโยชน์และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยหรือประกอบอาชีพอยู่ในบริเวณที่มีการกำหนดพื้นที่ การขยายหรือเพิกถอนอุทยานฯ แล้วแต่กรณี รวมทั้งมาตรการป้องกันแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า เอกสารในการรับฟังความคิดเห็นที่กรมอุทยานจัดรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ ไม่มีความชัดเจนเหมือนกรณีที่เปิดให้คนทั่วไป หรือคนทั้งประเทศ ซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่แสดงความเห็นทางออนไลน์ซึ่งคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่ถนัดในการใช้เทคโนโลยี ต้องไปลงความเห็นในสถานที่ที่หน่วยงานจัดรับฟังความเห็น ซึ่งพบว่ามีความคลุมเครือสร้างความสับสนให้กับประชาชน จึงมีความกังวลว่าการลงความเห็นนี้จะเป็นคุณกับอุทยานฯ ในการอ้างไม่กันที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยชาวบ้านออกนอกเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน
“คำถามกำกวมมากค่ะ ที่ถามว่าเห็นด้วยกับแนวเขตหรือไม่ เพราะไม่ชัดเจนว่าแนวเขตปี 2524 หรือ 2543 แต่มีให้กา แค่เห็นด้วย กับไม่เห็นด้วย พอมาคุยกัน มีทั้งตอบเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เพราะต่างเข้าใจคนละแบบ คราวนี้ก็กังวล เพราะที่เราคุยกัน ชัดเจนว่า เห็นด้วยกับแนวเขตที่หลายฝ่ายวางแนวร่วมกันในปี 2543 คือกันที่ดินทำกินที่อาศัยชาวบ้านออกจากเขตอุทยานที่ประกาศทับ คืนสิทธิให้ประชาชน“
ชาวบ้าน ต.ครบุรีใต้ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา
“เราไม่รู้ว่า จะเทน้ำหนักให้ใคร ชาวบ้านในพื้นที่ อย่างพวกเราที่เผชิญปัญหา ได้รับผลกระทบอย่างมากใน 5 อำเภอจะถูกให้ความสำคัญแค่ไหน เพราะการเปิดรับฟังความเห็นรอบนี้ เปิดกว้างกับคนทั่วไป โดยที่มีความพยายามในการออกมาพูดชี้นำ และเหมารวมกล่าวหาชาวบ้านว่าทำลายป่าด้วย ตรงนี้จึงไม่เป็นธรรมกับเราบาวบ้านที่เดือดร้อนจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทีบลาน ทับที่ชาวบ้าน จึงขอให้คืนสิทธิความเป็นธรรมให้ประชาชน “
ชาวบ้าน ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
ตัวแทนชาวบ้าน ยังระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ไม่เป็นธรรม เพราะการจัดรับฟังความคิดเห็น ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีส่วนได้เสีย โดยต้องให้หน่วยงานราชการส่วนกลางเป็นผู้จัดรับฟังความคิดเห็น ซึ่งกรมอุทยานฯ เป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงไม่ใช่หน่วยงานกลางที่ต้องมาดำเนินการ
ทั้งนี้ ชาวบ้าน พื้นที่ 5 อำเภอ ใน 2 จังหวัด นครราชสีมา -ปราจีนบุรี ภายใต้เครือข่ายทับลาน 43 ได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อยืนยันว่า พวกเขาเห็นด้วยที่จะให้มีการกันแนวเขตอุทยาน หรือเพิกถอนอุทยานฯ ตามแนวเขตปี 2543 ที่มีการสำรวจร่วมกันแล้วของหลายฝ่ายเท่านั้น
ชาวบ้าน โชว์หลักฐาน เป็นชุมชน อยู่อาศัยทำกินมาก่อนการประกาศเขตอุทยาน
เครือข่ายชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสะแกราช ยังได้นำเอกสารวิสุงคามสีมา ปี 2446 ซึ่งเป็นเอกสารที่ดิน ก่อตั้งวัด ชุมชน ไปจนถึงเอกสารที่ดิน ทั้ง สค.1, น.ส.3 รวมทั้งโฉนดที่ดิน มาแสดงเป็นหลักฐานยืนยันว่าพวกเขาอยู่มาก่อนปี 2524 ที่มีการประกาศอุทยานแห่งชาติทับลานซึ่งเป็นการประกาศครอบทับพื้นที่
ทั้งนี้ได้มีการตรวจสอบจากคณะกรรมการหลายชุด รวมทั้งข้อสรุปของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ให้มีการดำเนินการยึดตามแนวเขตการสำรวจร่วมในปี 2543 เพื่อเพิกถอนและกันพื้นที่ คืนสิทธิที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยให้กับชาวบ้าน แต่ทางอุทยานฯนอกจากไม่ดำเนินการ และในปี 2559 กลับมาปักแนวเขตใหม่ ครอบทับที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยชาวบ้าน โดยไม่มีการแจ้งชาวบ้าน ผู้นำชุมชน หรือคนในพื้นที่ให้รับรู้ ซึ่งส่งผลกระทบและความเดือดร้อนอย่างมาก
“โฉนดที่ดินของเราอยู่ดี ๆ กลายเป็นโมฆะ เหมือนถือกระดาษเปล่า เสียโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุน ธนาคารมาพัฒนาการทำเกษตร เพราะอยู่ในที่อุทยาน ยื่น ธกส.ธนาคารอะไรก็ไม่ได้ เจอภัยพิบัติต่างๆ เช่น น้ำแล้ง ก็ไม่ได้รับเงินเยียวยา เพราะขึ้นทะเบียนเกษตรกรไม่ได้ อยู่ในที่อุทยาน“
ชาวบ้าน ต.สะแกราช อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา
“จะสร้างถนน จะซ่อมถนน ถนนขาดน้ำท่วม ก็ทำไม่ได้ หรือต้องรอกระบวนการขออนุญาตอุทยานฯก่อน แต่ความเดือดร้อนประชาชนรอไม่ได้ ลูกหลานต้องไปโรงเรียนลำบาก ถนนลูกรังรถล้มน่าสงสาร เสียโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต“
ชาวบ้าน ต.ครบุรีใต้ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา
“รู้ว่าทุกคนรักป่า เราเองอยู่ในพื้นที่ก็รักป่า เราอยู่กับป่ามาทั้งชีวิต ไม่เคยคิดทำลาย ชุมชนเรามีการปลูกป่าเพิ่มทุกปี ตอนนี้กว่า 400 ไร่แล้ว เรายังเป็นจิตอาสา ทำแนวกันไฟ ช่วยกันดับไฟป่า ทำแหล่งน้ำไว้ให้สัตว์ป่าได้กินในหน้าแล้งด้วย พอมาพูดเหมารวมว่าเราไม่สมควรได้สิทธิในที่ดิน แถมเหมารวมว่าเราบุกรุกป่า อันนี้เสียใจ อยากให้ฟังอีกมุมจากชาวบ้าน ที่อยู่มานานและร่วมดูแลพื้นที่ดูแลป่า แต่กลับต้องเผชิญปัญหาการจำกัดสิทธิในที่ดิน ถูกกล่าวหาว่าเป็นนายทุนรุกป่า”
ชาวบ้านมาบพิมานพัฒนา ต.ครบุรีใต้ จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ยังเห็นว่า กรณีผลกระทบด้านการเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติคุณค่าทางมรดกโลก ในการขอให้พิจารณาอนุมัติเป็นแหล่งมรดกโลก กรมอุทยานฯต้องจัดทำแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานจะต้องดำเนินการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้เสร็จภายในปี พ.ศ.2550 โดยจะกันพื้นที่ที่เป็นชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออกจากอุทยาน 437.73 ตารางกิโลเมตร และจะผนวกเอาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเข้ามาเป็นพื้นที่อุทยานทับลาน 176.27 ตารางกิโลเมตร ซึ่งกรมอุทยานฯกลับไม่ได้ดำเนินการกันพื้นที่ชุมชนออกตามความเห็นที่เสนอต่อองค์การยูเนสโก
พวกเขาจึงเตรียมจับตาการประชุมของคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวันพรุ่งนี้ ที่หวังให้รับฟังข้อเท็จจริง ไปจนถึงข้อเสนอแนะข้อเรียกร้องจากประชาชนที่เดือดร้อนในพื้นที่จริง ๆ