หวั่น ผัก-ผลไม้จีน ทะลักเข้าไทย ช่องโหว่ความปลอดภัยด้านอาหาร

อดีต ปธ.กมธ.แก้ปัญหาสารเคมีภาคเกษตร รับส่งผลเสีย มากกว่า ผลดี เชื่อ อนาคตเกษตรกรไทย ค่อย ๆ ล้มหายตายจาก คนไทยเสี่ยงผลกระทบด้านสุขภาพ จากช่องว่างระบบตรวจสอบ แนะรัฐตั้งงบฯ วางระบบตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการนำเข้าอาหารปลอดภัย พร้อมเจรจาทางการทูตเพื่อลดผลเสียเกษตรกรไทย

จากกรณีรถไฟขนส่งสินค้าแบบตู้แช่เย็นข้ามพรมแดนขบวนแรก จากมณฑลยูนนานทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ออกเดินทางไปยังลาว ผ่านเส้นทางรถไฟเชื่อมจีน-ลาว โดยบรรทุกผักสด 400 ตัน เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ก่อน โดยได้ออกเดินทางจากเมืองหยู่ซี  ในมณฑลยูนนาน เดินทางไปยังเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว จากนั้นขนถ่ายสินค้าทางถนนไปยังกรุงเทพมหานคร ซึ่ง จาง กุ้ยหลาน รองผู้อำนวยการสำนักงานพาณิชย์เทศบาลหยู่ซี  คาดว่า จะมีการขนส่งผลไม้และผักมากกว่า 50,000 ตันต่อปี ผ่านเส้นทางรถไฟไปยังประเทศต่าง ๆ ในคาบสมุทรอินโดจีน  

The active สอบถามความเห็นกรณีนี้กับ ชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม และอดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจาณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ สะท้อนว่า แม้หลายฝ่ายที่สนับสนุนเรื่องนี้ จะมองเป็นโอกาสของไทย ที่จะได้ส่งออกสินค้าต่าง ๆ ที่ไม่ใช่แค่สินค้าเกษตรไปยังประเทศจีน แต่ตนกลับเห็นต่างว่า เรื่องนี้จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เพราะส่วนใหญ่ไทยทำอาชีพเกษตรกรแต่เมื่อจีนซึ่งมีศักยภาพในการผลิต และมีพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าไทย ทุ่มส่งสินค้าเกษตรมาจากจีนมากขนาดนี้ อาจส่งผลให้เกษตรกรไทยล้มหายตายจาก เพราะขายในราคาต่ำ สู้เขาไม่ได้

ชวลิต วิชยสุทธิ์

หากย้อนกลับไปตอนที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ได้มีโอกาสไปติดตามดูงานที่ด่านเชียงของ จ.เชียงราย และมีทีมงานที่ข้ามไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้านของจีน พบว่า แต่ละหมู่บ้าน แบ่งการเพาะปลูกพืชแต่ละชนิด ที่มีความหลากหลาย เพาะปลูกได้จำนวนมาก มีการใช้สารเคมีเกษตรทำให้เติบโตไวสวยงาม เก็บเกี่ยวเป็นล๊อต ๆ ตามความต้องการของตลาดได้ ประทศไทยจึงไม่มีทางที่จะสู้กับประเทศจีนได้เลย

“พื้นที่ปลูกเขาเยอะมาก ๆ การสนับสนุนการลงทุน และปริมาณผลผลิตของได้เยอะกว่าเราหลายเท่า ที่สำคัญเขาตั้งราคาได้ถูกกว่าไทย แล้วพ่อค้า หรือเจ้าของร้านอาหารใหญ่ในไทย เช่น ร้านชาบู สุกี้ต่าง ๆ ก็ต้องการผลผลิตที่สวยงาม ส่งตรงตามเวลา ที่สำคัญคือราคาถูก ตรงนี้เป็นปัจจัยสำคัญ ทีนี้เกษตรกรไทยจะสู้เขาได้ยังไง เพราะมี FTA ASAEN China ซึ่งภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เป็นศูนย์ ต่อไปถ้าเกษตรกรเราล้มตาย เหลือแค่จีนปลูก เขาจะกำหนดราคาเท่าไรก็ได้ ชัดเจนว่าเกิดผลเสียกับไทยมากกว่าผลดี”

ชวลิต วิชยสุทธิ์

ชวลิตร ยังแสดงความเป็นห่วงปัญหาต่อสุขภาพคนไทย เพราะตอนที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ช่วงปี 2562 ได้ร่วมกับภาคประชาชน อย่าง เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai Pan ลงไปดูกระบวนการการขนส่งพืชผักผลไม้ผ่านด่านเชียงของ มาที่เชียงราย พบข้อจำกัดมากมายในการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร  โดยได้มีการสุ่มตรวจสินค้าเหล่านั้น ก็พบว่า มีการปนเปื้อนสารเคมีเกินค่ามาตรฐานจำนวนมาก จึงเอามาเป็นส่วนหนึ่งประกอบกับรายงาน เพื่อแก้ปัญหาและควบคุมจำกัดการใช้ 3 สารเมีเกษตรในตอนนั้น   

และเมื่อมีโอกาสได้ทำหน้าที่กรรมาธิการฯ งบประมาณฯ ในยุคที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้อภิปราย และยกตัวอย่างปัญหาที่คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง จากการป่วยเป็นโรคมะเร็ง ปีละ 67,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 8 คน มีผู้ป่วยรายใหม่ เกิดขึ้นเฉลี่ยปีละ 120,000 คน

แม้โรคมะเร็งจะมาจากหลายสาเหตุ แต่มีงานวิชาการยืนยันชัดเจนว่า หนึ่งในนั้นมีสาเหตุมาจากการกินพืชผักผลไม้อาหารที่มีสารเคมีปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน เป็นที่มาให้มีการจัดตั้งงบประมาณเพื่อทำแลปตรวจสอบการปนเปื้อนสารเคมีที่ด่านนำเข้าไทย เพราะเรื่องนี้เป็นหน้าที่สำคัญของรัฐในการดูแลป้องกันชีวิตประชาชนให้ปลอดภัย แต่จนถึงปัจจุบันกลับไม่เกิดขึ้น หรือมีความคืบหน้าใด ๆ

“คือตอนนี้หากจะตรวจสอบ ต้องส่งเข้ามาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งก็มีข้ออ้างว่าพืชผักรอไม่ได้ จะเน่าเสีย จะไม่ทันการณ์ และแน่นอนว่าเกิดการหละหลวมของเจ้าหน้าที่ หรือการคอร์รัปชันเกิดขึ้นตามด่านต่าง ๆ หรือแม้แต่ อย. ก็ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ ณ หน้าด่าน มีกรมวิชาการเกษตรของกระทรงเกษตรฯ เราก็ไม่แน่ใจ ว่าจะรับผิดชอบงานได้ทั่วประเทศได้ยังไง จึงคิดคุยกับภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ทั้งมูลนิธิชีววิถี และไทยแพน ก็มองว่า น่าจะเสนอแนะรัฐบาล หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการที่จะยกระดับมาตรฐานการเฝ้าระวัง หรือยกระดับองค์กรที่จะมาดูเรื่องอาหารปลอดภัยขึ้นมาโดยเฉพาะ แต่ตอนนี้ก็ไม่มีความคืบหน้า จึงเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคในไทย”

ชวลิต วิชยสุทธิ์

สำหรับแนวทางสำคัญ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทย ไม่ให้ล้มหายตายจาก และเพื่อให้ผู้บริโภคในประเทศได้เข้าถึงอาหารที่มีความปลอดภัยต่อสุขภาพนั้น ชวลิตร มองว่า เรื่องนี้ต้องแก้ไขตั้งแต่ในระดับนโยบาย เฉพาะหน้าเลยต้องมีการเจรจาทางด้านการค้ากับผู้นำจีน เพราะเป็นบ้านพี่เมืองน้องพึ่งพาช่วยเหลือกันมาอยู่แล้ว และด้วยจีนเองก็เป็นประเทศที่มีการค้าแบบตรงไปตรงมา โดยอาจเป็นการเจรจากันภายในที่ไม่ต้องเปิดเผยอะไร เพราะถ้าเปิดเผยออกไปอาจไม่ดี แต่หลักสำคัญ คือต้องรู้จักที่จะรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศไทย อีกส่วนที่สำคัญคือในการรักษาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรคือ กระทรวงเกษตรและสหกรรณ์ ต้องปฏิวัติ ปฏิรูป ระบบการเกษตรขนานใหญ่

“หลายประเทศ การเกษตรเขาพัฒนามาก ๆ  จริง ๆ ไทยเราก็มีดี แต่เหมือนเกษตรกรยังต้องช่วยเหลือตัวเอง ผมได้ดูคลิปติ๊กต๊อก ที่เกษตรกรรายหนึ่ง ซึ่งมาจากอิสราเอล เอาความรู้ที่ติดตัวมาปลูกองุ่นที่จังหวัดชัยภูมิ เดือนนึง หรือรอบนึง ได้หลายหมื่น กลายเป็นว่าพี่น้องเกษตรกรจของเราต้องมาทำอะไรต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ด้วยภูมิความรู้ของเราเอง แต่กลับกันข้าราชการไทย คนที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ พอเกษียณไปแล้ว กลับไปอยู่บริษัทใหญ่ ที่เป็นดูแลผูกขาดทางด้านสินค้าเกษตรหมดเลย กลายเป็นว่าไม่ได้มาดูผลประโยชน์ของพี่น้อง แทนที่จะมาพัฒนาพันธุ์ข้าว มาพัฒนาเรื่องการแก้ไขปัญหาเรื่องดิน เรื่องอะไรต่าง ๆ แต่มันไม่มี ดังนั้นต้องมีแนวทางในการสนับสนุนดูแลให้คนกลุ่มนี้มาดูแลเกษตรกรไทย”

ชวลิต วิชยสุทธิ์

ชวลิตร ทิ้งท้ายว่า ที่สำคัญคือ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรในไทย การเข้มงวดในการตรวจสอบความปลอดภัยของสินค้าเกษตร ต้องมีมาตรการที่จริงจังในการควบคุมสารเคมีเกษตรที่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน ทั้งในแปลงเกษตรของไทยเอง รวมไปถึงสินค้าเกษตรนำเข้าต่าง ๆ ด้วย ทำอย่างไรจึงจะตรวจสอบย้อนกลับไปยังแปลงผักต่าง ๆ ได้ หรืออาจจะมีเครื่องไม้เครื่องมือตรวจสอบเฉพาะหน้าให้ได้เร็ว ให้ได้คุณภาพ และสุดท้ายสิ่งที่ทุกคนช่วยกันได้ คือการส่งเสริมหรือสนับสนุนการบริโภคผลผลิตพืชผักผลไม้ที่ปลูกภายในประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active