นักวิจัย ชี้ ประมงพื้นถิ่น เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเปราะบาง ไร้ทางเลือก หาแหล่งน้ำทดแทน ไม่สามารถปรับเปลี่ยนอาชีพได้ในระยะสั้น ทำตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง จี้ แก้ปัญหาที่ต้นน้ำ หยุดกิจการเหมือง ปลดปล่อยสารพิษลงแหล่งน้ำ
วิกฤตการณ์สารหนูปนเปื้อนในแม่น้ำกกที่กำลังคุกคามชีวิตผู้คนในพื้นที่เชียงใหม่ และเชียงราย กลับเผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างชัดเจน เมื่อกลุ่มคนจนและชุมชนเปราะบางกลายเป็นผู้ที่ต้องเผชิญความเสี่ยงสูงสุด แต่กลับไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม
สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยอิสระ และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภายโดยชุมชน (CHIA Platform) ให้สัมภาษณ์ The Active ถึงความกังวลเรื่องนี้อย่างชัดเจนว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าใครบ้างที่เข้าไม่ถึงระบบน้ำประปา หรือยังใช้น้ำจากแม่น้ำโดยตรง ความจริงที่น่ากังวล คือ ในพื้นที่ชายขอบและชุมชนห่างไกล ยังมีครัวเรือนจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำกก เป็นแหล่งน้ำหลักในการดำรงชีวิต ทั้งการอุปโภค บริโภค และการประกอบอาชีพ กลุ่มเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานได้เต็มที่

(ภาพ : brand biznews)
ชาวประมง – เกษตรกรรายย่อยเสี่ยงสูงสุด
สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและรุนแรงที่สุดจากวิกฤตครั้งนี้ คือ ชาวประมงพื้นถิ่นและเกษตรกรรายย่อยที่ต้องใช้น้ำจากแม่น้ำกกในการประกอบอาชีพ กลุ่มเหล่านี้มักเป็นครัวเรือนที่มีรายได้จำกัด ไม่มีทางเลือกในการหาแหล่งน้ำทดแทน และไม่สามารถปรับเปลี่ยนอาชีพได้ในระยะสั้น
“การประกาศห้ามใช้น้ำ ต้องมีแผนรองรับชัดเจนว่าชาวบ้านจะมีแหล่งน้ำสะอาดใช้ได้อย่างไร จะมีการแจกจ่ายน้ำหรืออาหารอย่างไร และรัฐบาลจะช่วยเหลือผู้ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้อย่างไร”
สมพร เพ็งค่ำ
ส่วนปัญหาที่วิกฤตกว่านั้นคือ กลุ่มเปราะบางเหล่านี้มักไม่มีเสียงในการเรียกร้องสิทธิ์ หรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างเพียงพอ ทำให้อาจไม่ทราบถึงความเสี่ยงที่แท้จริง หรือไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม

เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง กลุ่มเสี่ยงพิเศษ
นอกจากมิติความยากจนแล้ว กลุ่มเปราะบางทางชีววิทยา อย่างเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเรื้อรัง ก็เผชิญความเสี่ยงสูงเป็นพิเศษจากการสัมผัสสารหนู เนื่องจากร่างกายมีความต้านทานต่ำกว่าคนปกติ
เด็กเล็กที่อยู่ในวัยเจริญเติบโต จะได้รับผลกระทบต่อการพัฒนาสมองและระบบประสาท ขณะที่ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอาจมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น สำหรับหญิงตั้งครรภ์ การสัมผัสสารหนูอาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์
‘ฝายดักตะกอน’ แนวคิดที่ยังต้องตั้งคำถาม
ท่ามกลางวิกฤตที่กระทบกลุ่มเปราะบางอย่างหนัก รองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เตรียมนัดประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแม่น้ำกก ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ โดยจะเสนอพิจารณา “ระบบดักตะกอน” ในแม่น้ำกกเพื่อสกัดสารปนเปื้อน
ประเด็นนี้ สมพร ยอมรับว่า ยังไม่สามารถสนับสนุนแนวทางนี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะมองว่ามาตรการนี้ไม่ใช่การแก้ไขที่ต้นเหตุ
“การสร้างฝายดักตะกอนไม่ได้แก้ปัญหาโดยตรง แม้ว่าตะกอนจะสามารถเก็บโลหะหนักบางส่วนไว้ได้ แต่สารหนูมีคุณสมบัติละลายน้ำ ซึ่งหมายความว่าแม้จะมีฝาย สารหนูก็ยังสามารถผ่านไปในน้ำได้อยู่ดี”
สมพร เพ็งค่ำ
ทั้งยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การสร้างฝายต้องมีระบบงบประมาณรองรับ เช่น การดูดตะกอนหน้าเขื่อนไปฝังในหลุมที่ควบคุมการรั่วไหลของสารพิษ ซึ่งต้องลงทุนสูงและมีความเสี่ยงใหม่เกิดขึ้น หากการจัดการไม่รัดกุม
“เราต้องถามว่าเราจะเก็บตะกอนที่ไหน จะทำทุกปีหรือเปล่า เพราะถ้าข้างบนยังเปิดหน้าดินเหมืองต่อไปเรื่อย ๆ มันก็จะมีตะกอนใหม่ไหลลงมาอยู่ดี”
สมพร เพ็งค่ำ

งบประมาณมหาศาลแต่ไม่คุ้มค่า
ข้อกังวลสำคัญของการสร้างฝายดักตะกอน คือ การใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลจากภาษีประชาชน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน และอาจสร้างปัญหาใหม่ตามมา โดยมีบทเรียนจากลำห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี ที่เคยใช้วิธีสร้างฝายดักตะกอนตะกั่วตลอดแนวลำห้วย แล้วดูดขึ้นมาเก็บใส่ถุงที่มีเมมเบรนกันสารพิษรั่วไหล แต่สุดท้ายก็ยังติดปัญหาว่าจะนำไปทิ้งที่ไหน และใครเป็นเจ้าภาพ
ไม่เพียงแต่ต้องฝังกลบอย่างปลอดภัย ยังต้องเฝ้าระวังสารพิษที่อาจเล็ดลอดซึมลงน้ำใต้ดิน และต้องตรวจสอบตลอดไปโดยใช้งบประมาณมหาศาลจากภาษีประชาชน
ทางออกที่แท้จริงต้องแก้ที่ต้นน้ำ
สมพร เน้นย้ำว่า ทางออกที่แท้จริงคือ การแก้ปัญหาที่ต้นน้ำ รัฐบาลไทยต้องตั้งโต๊ะเจรจากับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งทหารในพื้นที่ ฝ่ายจีน ซึ่งบริษัทที่ทำเหมืองเป็นของจีน และรัฐบาลเมียนมา เพื่อหยุดการปล่อยหางแร่ลงแม่น้ำ หยุดการเปิดหน้าดิน และควบคุมกิจกรรมเหมือง
“คุณกำลังล้างแผลโดยไม่หยุดเลือด มันก็ไม่มีวันหาย ต้องเจรจาระหว่างประเทศเพื่อหยุดมลพิษจากต้นทาง แล้วจึงค่อยจัดการปลายน้ำ”
สมพร เพ็งค่ำ
ขณะที่คณะอนุกรรมการฯ ที่จะประชุมกันในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้ มีหน้าที่วิเคราะห์สาเหตุ วางแนวทางฟื้นฟู บรรเทาความเดือดร้อน และประสานความร่วมมือกับเมียนมา ซึ่งอาจเป็นแหล่งต้นตอมลพิษ
ปัญหาสารหนูในแม่น้ำกก เริ่มพบตั้งแต่เดือนมีนาคม 2568 โดยคาดว่าแหล่งกำเนิดมาจากกิจกรรมเหมืองในรัฐฉานของเมียนมา ซึ่งมีการทำเหมืองจำนวนมาก แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามีการใช้สารเคมีอะไรบ้างในการแต่งแร่
‘แม่น้ำกก’ ร้ายแรงกว่า ‘ลำห้วยคลิตี้’
เมื่อวิกฤตแม่น้ำกกปนเปื้อนสารหนู เริ่มปรากฏเป็นข่าวครึกโครม นักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมจำนวนไม่น้อยต่างหวนกลับไปนึกถึง “ลำห้วยคิตตี้” ที่เคยเผชิญปัญหาปนเปื้อนตะกั่วจากโรงแต่งแร่เมื่อกว่า 40 ปีก่อน
อย่างไรก็ตาม สมพร ชี้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในแม่น้ำกกอาจร้ายแรงกว่าลำห้วยคิตตี้มาก ทั้งในแง่ของขนาดพื้นที่ ผลกระทบที่ครอบคลุม และ “แหล่งกำเนิดมลพิษ” ที่ไม่สามารถควบคุมได้ เพราะอยู่นอกเขตแดนประเทศ
แม่น้ำกกไหลมาจากรัฐฉานของเมียนมา ผ่านพื้นที่ที่มีการทำเหมืองจำนวนมาก ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีแร่มากถึง 17 ชนิดที่เกี่ยวข้อง และอาจใช้สารเคมีหลากหลายชนิดที่ยังไม่มีใครตรวจพบ
“เรารู้แค่สิ่งที่ตรวจได้ ถ้าไม่ตรวจ ก็ไม่มีทางรู้เลยว่ามีอะไรอยู่บ้าง”
สมพร เพ็งค่ำ
‘ลำห้วยคลิตี้’ บทเรียนที่ไม่ควรลืม
ลำห้วยคลิตี้ เป็นพื้นที่ในประเทศไทยที่เผชิญภัยพิบัติสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมแต่งแร่ตะกั่ว โรงงานแห่งหนึ่งได้นำแร่ตะกั่วจากพื้นที่อื่นมาทำการแต่งแร่ในหมู่บ้าน “คลิตี้บน” โดยของเสียจากกระบวนการแต่งแร่ที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม ได้ไหลลงสู่ลำห้วยผ่านบ่อกากแร่ที่รั่วซึม
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ สัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน เช่น วัว ควาย เริ่มล้มป่วยและตายไปทีละตัว โดยไม่มีใครรู้สาเหตุ จนกระทั่งหลายปีต่อมา การตรวจสอบอย่างจริงจังพบว่า แหล่งน้ำของชุมชนมีตะกั่วในระดับสูงผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์อย่างร้ายแรง
สิ่งที่น่าสะเทือนใจคือ ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเหตุการณ์ลำห้วยคลิตี้ ก็คือกลุ่มคนจนและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ขณะที่เจ้าของโรงงานและผู้มีอำนาจสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบได้
สมพร เน้นว่า ขณะที่กำลังแก้ปัญหาที่ต้นทาง ต้องมีมาตรการรองรับสำหรับชุมชนข้างล่าง ที่ต้องอยู่กับความเสี่ยงในระยะสั้นและระยะกลาง เช่น การจัดระบบเฝ้าระวัง วางแผนเส้นทางมลพิษ และลดการสัมผัสของชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มคนจนหรือกลุ่มเปราะบางที่เข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน
สิ่งสำคัญที่รัฐต้องทำในทันทีคือ การสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนอย่างตรงไปตรงมาและเข้าใจง่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่มีการศึกษาจำกัดหรือไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ดี
“มันต้องออกเป็นมาตรการที่เป็นระบบ ไม่ใช่แค่บอกห้าม แล้วปล่อยให้ชาวบ้านรอดกันเอง การไม่พูด การไม่ตรวจสอบ และการไม่เจรจา อาจเท่ากับการปล่อยให้หายนะเดินทางมาถึงชุมชนโดยไม่ตั้งใจ”
สมพร เพ็งค่ำ
เปรียบเทียบ กรณีแม่น้ำกก-ห้วยคลิตี้
ประเด็น | ห้วยคลิตี้ (จังหวัดกาญจนบุรี) | แม่น้ำกก (จังหวัดเชียงราย) |
วันที่เกิดการปนเปื้อน | ประมาณปี 2531-2541 | พบการปนเปื้อนเดือนมี.ค. 2568-ปัจจุบัน |
สถานที่ตั้ง | บ้านคลิตี้ล่าง ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี | อ.ท่าตอน จ.เชียงใหม่ อ.แม่จัน,อ.เมือง, อ.เวียงชัย,อ.เวียงเชียงรุ้ง,อ.ดอยหลวง, อ.เชียงแสน จ.เชียงราย |
ความยาวของลำน้ำ | ประมาณ 10 กิโลเมตร (จากแหล่งเหมืองถึงบ้านชาวบ้าน) | ประมาณ 130 กิโลเมตร (ไหลจากภูเขาทางภาคเหนือจรดแม่น้ำโขง) |
แหล่งกำเนิดสารพิษ | เหมืองแร่สังกะสีของบริษัทตะกั่วคอนเซนเตรตส์ | คาดว่าเป็นเหมืองทองคำในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา |
สารปนเปื้อนในน้ำ | ตะกั่ว (Lead) | สารหนู (Arsenic) |
จำนวนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ | ประมาณ 400-500 คนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง | ประมาณ 1.2 ล้านคนตลอดแนวลำน้ำกก |
วิธีการบำบัด/ฟื้นฟู | – ดูดตะกอนดินที่ปนเปื้อนสารตะกั่วออกจากลำห้วย จำนวนกว่า 40,000 ตัน – การก่อสร้างหลุมฝังกลบแบบปลอดภัย – สร้างฝายดักตะกอน – ใช้งบประมาณจากรัฐมากกว่า 460 ล้านบาท | – หน่วยงานท้องถิ่น,นักวิชาการเก็บตัวอย่างเฝ้าระวัง – ยังไม่มีมาตรการฟื้นฟูขนาดใหญ่จากรัฐไทย (เพราะแหล่งมลพิษอยู่นอกราชอาณาจักร) – มีการเสนอให้เจรจาระหว่างประเทศและเฝ้าระวังร่วมกับชุมชน -รัฐเสนอสร้างฝายดักตะกอน |