อนุฯ นบข. สรุป 3 มาตรการ แก้ปัญหาราคาข้าว ชาวนา อัด ไม่จริงใจแก้ปัญหา เสนอ ให้ควบคุมราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง
วันนี้ (20 ก.พ. 2568) เวลาประมาณ 17.30 น. มีการประชุมคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ด้านการตลาด (นบข.) เพื่อถกการแก้ปัญหาราคาข้าวเปลือกตกต่ำ โดยกลุ่มชาวนา ยังคงนัดรวมตัวกันหน้ากระทรวงพาณิชย์ รอฟังผลการประชุมครั้งนี้
พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงหลักการที่เสนอในวันนี้ โดยระบุในช่วงต้นของการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีมีความกังวลในเรื่องนี้เนื่องจากความเป็นอยู่ของชาวนาเป็นเรื่องสำคัญ โดยยืนยันว่า “ทุกข์ของชาวนา คือทุกข์ของแผ่นดิน” จึงพยายามหาทางช่วยเหลือเท่าที่ทำได้

ซึ่งมีมาตรการที่จะนำเสนอเข้าบอร์ดใหญ่อีกครั้ง ได้แก่
- สินเชื่อชะลอขายข้าวนาปรัง เนื่องจากประเทศอินเดียกลับมาส่งออกข้าวทำให้เป็นปัญหาในเรื่องราคาข้าว เพราะ 2 – 3 ปีก่อน อินเดียงดส่งออก ไทยจึงไม่มีปัญหาราคาข้าวโดยสินเชื่อชะลอขายข้าวนาปรังนี้จะกำหนดให้ราคา 500 บาทสำหรับชาวนาจำนวน 1.5 ล้านตัน หากชาวนามีที่เก็บเองก็จะได้รับ 1,500 บาท แต่ถ้าไม่มีที่เก็บเองแล้วต้องไปแบ่งกับสหกรณ์หรือโรงสี ตัวชาวนาเองจะได้รับ 1,000 บาท ส่วนอีก 500 บาทก็จะเป็นของโรงสีหรือสหกรณ์นั้น ๆ เป็นค่าเก็บ 1 – 5 เดือน
- ชดเชยดอกเบี้ย 2 ล้านตัน ระยะเวลา 2 – 6 เดือน เพื่อให้ดึงซัพพลายออกจากตลาด ให้ราคาของข้าวเพิ่มขึ้น
- เปิดจุดรับซื้อข้าว สำหรับชาวนาที่ต้องการขายทันทีเพื่อให้ได้เงินทันที โดยชาวนาจะได้เพิ่มอีก 300 บาท
พิชัย กล่าวเสริมอีกว่า มาตรการเหล่านี้กำลังดำเนินการและหวังว่าชาวนาจะเข้าใจว่าทางรัฐบาลทำเต็มที่เพื่อให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นส่วนเรื่องอื่น ๆ จะมีการค่อย ๆ นำเสนอสู่ นบข. เพราะไม่อยู่ในส่วนการจัดการของกระทรวงพาณิชย์ อาจจะให้คณะกรรมการ นบข. เป็นฝ่ายพิจารณา
ด้าน ปราโมทย์ เจริญศิลป์ นายกสมาคมชาวนาและ เกษตรกรไทย กล่าวว่า จากมาตรการที่ออกมามีความพอใจในระดับหนึ่ง ในส่วนของชาวนาก็อยากได้ราคาเยอะ ๆ แต่ราคาของข้าวสด ที่เกษตรกรจะได้รับไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท มองว่าสามารถพอรับได้ โดยตอนนี้ต้นทุนของชาวนาเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 5,500 – 6,000 บาท ไม่รวมการเผาตอซัง

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายเรื่องที่เรียกร้อง อย่าง 1แหล่งน้ำให้เกษตรกร 2. ลดต้นทุนการผลิต 3. เมล็ดพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ให้กับเกษตรกร อายุไม่เกิน 100 วัน ได้ผลผลิตไร่ละตันกว่า สิ่งเหล่านี้ถ้าทำให้ชาวนาได้ ก็จะไม่เรียกร้องอะไรมาก และหากในตอนนี้ชาวนาขายข้าวไปแล้วอยากให้ทางกระทรวงฯ ช่วยดูว่าเขาขายได้ราคาเท่าไหร่ ถ้าไม่ถึง 6,000 – 7,000 บาท ทางรัฐต้องชดเชยให้ชาวนาให้ได้ถึง 8,000 บาทตามที่ตกลงกันไว้ โดยเป็นการให้ย้อนหลัง
ส่วนตัวแทนชาวนาที่มาร่วมฟังการประชุมครั้งนี้ ฐิติวัฒน์ กลีบมาลัย บอกว่า ทางภาครัฐบาลไม่มีความจริงใจต่อพี่น้องชาวนา น่าจะเป็นการสับขาหลอก ชาวนาเรียกร้องให้ราคาข้าวอยู่ที่ 11,000 บาท เพราะต้นทุนตอนนี้ 6,500 บาทแล้ว และมาบอกว่าราคา 8,000 บาท เอาตรงไหนมาตั้ง เพราะข้าวเราเกี่ยวสด ไม่ใช่เกี่ยวแห้ง แล้วการไปตั้งจุดรับซื้อให้อีก 300 บาทคืออะไร จึงทำให้ชาวนาเกิดความสับสน
“ชาวนายังไม่พอใจแน่นอน เพราะต้นทุนตอนนี้ 6,000 กว่าบาทแล้ว อีกทั้งเป็นพื้นที่รับน้ำ และเป็นนาเช่า ทำให้รู้สึกว่าโดนกดทับตลอด ก็มาเรียกร้องชัดเจนอยู่แล้วว่าขอราคาอยู่ที่ 11,000 บาท เราขอราคานี้ตั้งให้เรา ความชื้น 15% พี่น้องชาวนาจะได้ก็ไม่เกิน 9,000 บาท ช่วยเอาตรงนี้มาให้เราก่อน เพราะข้าวของเรากำลังจะออกสู่ตลาด”

ปุ้ย แสงนาค ชาวนา จ.พระนครศรีอยุธยา บอกว่า เข้าใจว่านี่คือการเริ่มต้นแก้ แต่อยากได้มาตรการที่ชัดเจนมากกว่านี้ ถ้าเข้าไปที่ประชุมใหญ่ก็ขอให้ได้มากกว่านี้ และชดเชยย้อนหลังให้ชาวนาที่ขายไปแล้ว และกำลังจะขาย พร้อมกำชับควบคุมราคาปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อย่าให้ราคาลอยตัวอิสระแบบนี้ได้หรือไม่
“อยากให้นายกรัฐมนตรีกำหนดว่าชาวนาที่ประสบปัญหาอยู่จะได้รับการช่วยเหลือในช่วงเวลาใด ชาวนารอไม่ได้แล้ว”