เกษตรกรไทยขาดการพัฒนา นักวิชาการ เสนอยกระดับมาตรฐาน ปรับเป้าหมายจาก “ครัวโลก” เป็น “โรงงานผลิตสินค้าเกษตรตามสั่งของโลก” ผลิตสินค้าราคาแพงด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง ปรับแผนเพาะปลูกจัดโซนนิ่ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
รศ.อภิชาต อนุกูลอำไพ ประธานอนุกรรมการพัฒนาหลักเกณฑ์ นวัตกรรมการบริหารทรัพยากรน้ำ และผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศกสิกรรม จนครั้งหนึ่งถูกตั้งเป็นครัวของโลก แต่สินค้าเกษตรที่ส่งออกนั้นส่วนใหญ่ส่งออกแบบเป็นวัตถุดิบสำหรับการแปรรูปต่อหรือในรูปของอาหารหลักสำหรับบริโภคซึ่งมีราคาค่อนข้างต่ำ ประกอบกับการขาดระบบบริหารจัดการที่ดีและได้รับการสนับสนุนในระดับนโยบายและงบประมาณเพื่อการยกระดับสินค้าและเพื่อการแข่งขัน จึงทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในฐานะที่มีหนี้สินแทนที่จะอยู่ในฐานะพอกินพอใช้หรือร่ำรวย (น้อยมาก) มีแต่กลุ่มทุนทำธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรที่มีรายได้ดี
ประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรของโลกทำให้มีแสงแดดตลอดปี อีกทั้งยังมีร่องมรสุมพัดผ่านทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากพอควร มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรมากและตั้งอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ที่มีความสะดวกในการติดต่อกับประเทศอื่น ๆ การเกษตรที่ดีนั้นต้องพึ่งแสงแดดและน้ำ ซึ่งธรรมชาติได้มีให้กับประเทศไทย นอกจากนั้นเรายังมีเกษตรที่สามารถปรับตัวและเรียนรู้เทคนิคการเพาะปลูกได้รวดเร็ว สำหรับด้านการขนส่งสินค้าเรามีเครือข่ายถนนที่ดีเชื่อมต่อทุกภูมิภาครวมทั้งมีรูปแบบการขนส่งระบบราง ทางน้ำและทางอากาศ ที่สามารถสนับสนุนสำหรับสินค้าได้ทุกประเภท ถ้ามองในแง่มุมการผลิตแบบโรงงาน ประเทศไทยมีต้นทุนพร้อมในการเป็นโรงงานสำหรับผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญได้เกือบทุกประเภท ขาดแต่การจัดการเพื่อเข้าสู่การเป็นโรงงานรับผลิตอย่างเป็นรูปธรรมเท่านั้น

จุดอ่อนไทยต่อการพัฒนาสินค้าเกษตร
ลองมาดูสภาพการเกษตรของประเทศไทย แม้ว่าประเทศไทยจะอยู่ในภูมิศาสตร์ที่ดี มีการพัฒนาเกษตรได้ผลดีและเป็นแหล่งผลิตอาหารหลักสำหรับส่งออกเป็นรายได้เข้าประเทศเป็นเวลาช้านาน แต่การเกษตรของประเทศไทยแทบจะไม่มีการพัฒนาการเปลี่ยนแปลงเลยตลอดระยะเวลาเกือบศตวรรษที่ผ่านมา
จำได้สมัยเรียนหนังสือชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาครูสอนว่าประเทศไทยมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าว ยางพารา อ้อย น้ำตาล มันสำปะหลัง จนถึงปัจจุบันเวลาผ่านไปเกือบ 70 ปี สินค้าส่งออกทางเกษตรของไทยก็ยังหนึไม่พ้นพืชหลัก ยกเว้นมีสินค้าอื่นเพิ่มเช่น พวกเนื้อสัตว์ ผลไม้และสัตว์น้ำ ฉะนั้นหากต้องการพัฒนาภาคการเกษตรของไทย เราต้องถอดบทเรียนจากที่ประเทศจีนพลิกผันตัวเองจากเป็นโรงงานผลิตเล็ก ๆ ถูก ๆ มาเป็นโรงงานผลิตชั้นแนวหน้า ผลิตสินค้าราคาแพงด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง
ที่น่าสังเกตคือทางประเทศจีนเขาเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้ามาใช้ทรัพยากรมนุษย์และธรรมชาติของตนก็จริง แต่เขาก็มีมาตรการกำกับส่งเสริมให้เอกชนหรือบริษัทของคนจีนเพิ่มขีดความสามารถและสามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติในขณะเดียวกัน มิให้บริษัทต่างชาติยึดฐานผลิตแย่งทรัพยากรกับประชากรคนไทย
จากการนำรูปแบบการพัฒนาของประเทศจีนที่เป็นโรงงานของโลกประกอบกับบริบทภาคการเกษตรของประเทศไทย ถ้าเราจะตั้งเป้าหมายให้ “ประเทศไทยเป็นโรงงานผลิตสินค้าเกษตรตามสั่งของโลก” จะทำอย่างไรที่ใช้คำว่าสินค้าเกษตรตามสั่งนั้น เพราะต้องการแยกจากหลักคิดเดิมที่ต้องการแค่เป็นครัวโลก คือผลิตสินค้าตามที่ถนัดและมีตลอดอยู่แล้วแต่ส่วนใหญ่จะราคาถูกและขาดทุนด้วยซ้ำเพื่อไปเลี้ยงประชากรโลกแต่ต้องการใช้ศักยภาพและทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ ผลิตสินค้าเกษตรราคาสูง โดยมีมาตรการให้เกษตรรายย่อยได้มีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์โดยตรง ไม่ใช่ในฐานเป็นลูกจ้างได้แค่แรงงาน คล้าย ๆ กับส่งเสริมธุรกิจSME สำหรับกลุ่มเกษตรกร

วิธีการ
1.ปรับแผนการเพาะปลูก โดยต้องเริ่มจัด zoning ทั้งในมิติของพื้นที่ สภาพอากาศและภูมิสังคมเพื่อกำหนดพืชที่มีความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ พร้อมกับลดการส่งเสริมการปลูกพืชแบบเดิมๆที่ขาดทุน ด้วยมาตรการสร้างสิ่งจูงใจให้มีพืชทางเลือกรวมทั้งมาตรการสุดกู่คือการตั้งใจให้เลิกปลูกในกรณีน้ำแล้งหรือโอกาสอื่นๆ ที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแผนการปลูกพืช โดยการจ้างให้เลิกปลูก
2.การปรับแนวทางการพัฒนาและบริหารโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาระบบชลประทาน ในปัจจุบันโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ขนาดกลางนั้นสามารถส่งน้ำเพื่อเสริมการทำนาในฤดูฝนได้ครบพื้นที่โครงการ เพราะส่งน้ำช่วยในช่วงฝนทิ้งช่วงหรือช่วงการเตรียมแปลงปลูกต้นกล้าเท่านั้น แต่ในช่วงฤดูแล้งสำหรับข้าวนาปรัง สามารถส่งน้ำให้พื้นที่โครงการได้เพียงหนึ่งในสามเท่านั้น เพราะปริมาณน้ำที่เก็บในอ่างไม่เพียงพอ หรืออีกนัยหนึ่งเกษตรกรที่มีที่นาติดกับคลองส่งน้ำช่วงต้นๆ เท่านั้นที่จะได้รับน้ำส่วนช่วงปลายคลองจะไม่มีน้ำให้ หรือถ้าตามธรรมชาติถ้าเดินทางไปต่างจังหวัดในหน้าฝน จะเห็นทุ่งนาหรือพื้นที่สองข้างทางเขียวขจีไปหมด
แต่ถ้าเป็นหน้าแล้งก็จะเห็นแต่ทีนาเป็นสีแดงรกร้างว่างเปล่าเวิ้งว้างไปหมดสุดลูกหูลูกตา คำถามคือจะใช้ทรัพยากรน้ำให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้และเป็นธรรมกว่านี้ได้ไหม หากเราแทนที่จะส่งน้ำให้เกษตรกรเพียงหนึ่งในสามของโครงการปลูกนาปรังซึ่งมีโอกาสขาดทุนสูง เราส่งเสริมจัดระบบกระจายน้ำให้เกษตรกรทั้งโครงการมีน้ำสำหรับทำการเกษตรหลังบ้าน “Backyard
Agriculture” คนละ 1 ไร่ ก็จะเป็นการกระจายน้ำให้เกษตรกรมีงานทำและมีรายได้เสริม หรืออย่างน้อยมีผลิตผลสำหรับบริโภคในครัวเรือนเป็นต้น อนึ่งมีกลุ่มเกษตรกรหลายพื้นที่ทำการเกษตรตามแนวทาง “เกษตรหลังบ้านหรือ Backyard Agriculture” สามารถสร้างรายได้เป็นเงินหลักหมี่นหลักแสนในการทำการเกษตรบนพื้นที่ไม่เกินหนึ่งไร่ภายในเวลาแค่ 3 เดือน ซึ่งเท่ากับเวลาการปลูกข้าวนาปรัง จึงสรุปได้ว่าการบริหารจัดการน้ำในโครงการของกรมชลประทาน หรือกรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลควรจะมีการปรับเปลี่ยนแนวคิดออกแบบรบบการส่งน้ำหรือการกระจายน้ำให้ครอบคลุมเกษตรกรให้ได้มากที่สุด โดยขั้นต้นทดลองส่งเสริมการเกษตรหลังบ้าน ส่งน้ำให้เกษตรกรรายละ 1 ไร่ มีน้ำสำหรับเพาะปลูกได้ตลอดปีก่อน
3.ปรับบทบาทขององค์กรทำหน้าที่ส่งเสริม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมีหน่วยงานเกือบครบสำหรับกระบวนการการทำการเกษตร หน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริมแลวิจัยพัฒนาหลักๆ ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมประมง กรมปศุสัตว์ และกรมพัฒนาที่ดิน หากแต่บทบาทของหน่วยงานเหล่านี้มักจะเน้นไปทางศึกษาวิจัย ทำแปลงทดลองขาดการขยายผลจากแปลงทดลองสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังอาจด้วยสาเหตุหลายๆเรื่อง แต่ถ้าต้องการปรับเปลี่ยนการเกษตรของประเทศไทยเป็นโรงงานรับผลิตของโลก หน่วยงานควรจต้องมีการทบทวนเปลี่ยนบทบาทของตัวเอง โดยนอกจากจทำแปลงทดลองวิจัย มาเป็นแปลงสาธิตแล้วแนะนำนวัตกรรมเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ เรื่องเมล็ดพันธุ์พืชหรือพันธุ์สัตว์ เกษตรกรมักจะประสบปัญหาเรื่องเมล็ดพันธุ์และพันธุ์สัตว์ ยังต้องอาศัยสั่งซื้อจากภาคเอกชน เป็นไปได้ไหมที่หน่วยงานจะสามารถผลิตเพื่อสนับสนุนเกษตรกรโดยตรง ตรงนี้อาจต้องมีการกำหนดนโยบายและแก้ระเบียบการงบประมาณด้วย
4.นโยบายและงบประมาณ
อย่างที่เขียนแต่ต้นว่าไม่ต้องการให้ใช้เกษตรกรไทยเป็นแค่แรงงงานถูกๆ แต่ต้องการให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย ตัวอย่างปัจจุบันสินค้าเกษตรที่สำคัญและกำลังได้รับความสนใจจากตลาดประเทศจีนคือทุเรียน เนื่องจากขาดแนวทางและการกำกับของรัฐบาล จะเห็นมีข่าวว่าคนจีนไปกว้านซื้อที่ปลูกทุเรียนเอง หรือล้งต่างชาติไปทำสัญญาเหมาซื้อทุเรียน (ตกเขียว) จาก
สวนทุเรียนของเกษตรโดยตรง ทำให้เกษตรกรขาดอำนาจในการต่อรองสำหรับแนวคิดทำให้ประเทศไทยเป็นโรงงานผลิตสินค้าเกษตรตามสั่ง รัฐบาลต้องมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่จะรักษาพื้นที่ให้เกษตรกรและภาคธุรกิจคนไทยสามารถมีบทบาทในการ
แข่งขันกันกับบริษัทต่างชาติที่นำตลาดมา หรือทำอย่างไรให้เกษตรกรกลายเป็นเจ้าของโรงงานขนาดเล็กรับใบสั่งผลิตสินค้าตามสเปคและมีการกำกับคุณภาพพร้อมสนับสนุนทางปัจจัยการผลิตและเทคโนโลยีจากรัฐบาลเรื่องงบประมาณก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเกษตรกรและนักธุรกิจจะไม่มีความสามารถในการหางบประมาณมาทำการวิจัยหรือลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ภาครัฐอาจจะต้องมีการตั้งงบประมาณพิเศษสำหรับเร่งการพัฒนาลงทุนในด้านนี้โดยเฉพาะ ตัวอย่างประเทศจีนถูกกีดกันเรื่องเทคโนโลยีการผลิตชิปสำหรับคอมพิวเตอร์หรือสำหรับพัฒนาระบบโทรคมนาคมชั้นสูงรวมทั้งการพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์จากสหรัฐอเมริกา รัฐบาลจีนตอบโต้ด้วยการทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อส่งเสริมสถาบันวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศเพื่อไม่ต้องพึ่งพาต่างประเทศและสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เรื่องนี้สำคัญมากจะเป็นไปได้ไหม พิจารณาปรับแผนการจัดสรรงบประมาณที่สนับสนุนชดเชยเกษตรกรในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการชดเชยธุรกิจที่ขาดทุนและส่วนใหญ่กลุ่มทุนใหญ่เท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ เป็นการลงุทนวิจัยพัฒนาและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็งแบบ SME โรงงานผลิตขนาดย่อม
5.ใครเป็นผู้ริเริ่มและเมื่อไร
ที่กล่าวข้างต้นเป็นแนวคิดจากการศึกษารูปแบบและประสบการณ์ในการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร กอปรกับสภาพปัญหาด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหารของโลก จึงเห็นทั้งปัญหาและโอกาสที่ประเทศไทยอาจจะสามารถพัฒนาตัวเองมาเป็นผู้เล่นสำคัญ มีบทบาทเป็นโรงงานผลิตสินค้าเกษตร อันจะนำมาซึ่งรายได้ของประเทศและยกระดับรายได้ของเกษตรกร ไม่อยากให้เป็นเหมือนแบบเดิมๆ แค่เป็นความเพ้อฝัน แต่ใคร่เสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งภาคเอกชนที่สนใจลองใช้แนวคิดนี้เป็นสารประกอบเบื้องต้นเพื่อคิดต่อยอด ซึ่งอาจจะมีแนวทางที่ดีกว่านี้ก็เป็นไปได้ ในเบื้องต้นใคร่เสนอดังนี้รัฐหรือองค์กรอิสระจัดตั้งกลุ่มหรือคณะทำงานขึ้นมาทบทวนประเด็นปัญหาและกำหนดแนวทางที่จะปรับเปลี่ยนระบบการเกษตรของประเทศไทยทั้งระบบในปัจจุบันให้ตอบโจทย์ในการพัฒนาเป็นระบบเกษตรที่ก้าวหน้า พร้อมจัดหา/พัฒนาเทคโนโลยีและระบบการบริหารที่สามารถ
ระดมทุนหรือผู้ซื้อจากต่างประเทศ เพื่อให้ประเทศไทยมีศักยภาพและมีสภาพเป็น “โรงงานผลิตสินค้าการเกษตรตามสั่งของโลก”