ผู้เชี่ยวชาญวงการหนังไทยชี้ ไทยต้องปรับตัว ดึงกองถ่ายหนังประเทศอื่นมาเพิ่ม เช่น ยุโรป ขณะรัฐบาลไทยต้องทำงานให้หนักขึ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์
วันนี้ (5 พ.ค.2568) เป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีทรัมป์ เดินหมากตัวแรกในเกมภาษีของสหรัฐอเมริกา ในหมวดหมู่ของธุรกิจสร้างสรรค์หรือทรัพย์สินทางปัญญา ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการภาพยนตร์ทั่วโลก เมื่อมีรายงานว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแนวโน้มที่จะออกนโยบายเก็บภาษีภาพยนตร์อเมริกันที่ไปถ่ายทำในต่างประเทศสูงถึง 100% ซึ่งหากมีการบังคับใช้จริง อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจกองถ่ายต่างชาติในประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาณุ อารีย์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดซื้อภาพยนตร์ต่างประเทศ บริษัทสหมงคลฟิล์ม และอาจารย์พิเศษ วิชาธุรกิจภาพยนตร์ และ การผลิตภาพยนตร์สารคดี ให้มุมมองกับ The Active ว่า นโยบายดังกล่าวจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางยอดนิยมของกองถ่ายทำภาพยนตร์จากทั่วโลก โดยเฉพาะกองถ่ายจากประเทศสหรัฐอเมริกา
“จริง ๆ แล้วประเทศไทยก็เหมือนกับประเทศทั่วโลก ที่พยายามแข่งขันให้สิทธิพิเศษเพื่อดึงดูดกองถ่ายต่างประเทศเข้ามา โดยเฉพาะกองถ่ายสัญชาติอเมริกันซึ่งมีงบประมาณการผลิตสูง โดยเฉลี่ยมากกว่า 5 ล้านเหรียญสหรัฐต่อเรื่อง” ภาณุกล่าว
ระบบสิทธิประโยชน์ทางภาษีของไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Rebate) สำหรับกองถ่ายต่างชาติที่เข้ามาลงทุนถ่ายทำในประเทศ โดยมีเงื่อนไขว่าต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กองถ่ายขนาดใหญ่จากอเมริกาสามารถตอบโจทย์ได้ง่าย
“ไม่ใช่ว่ากองถ่ายอะไรมาก็จะได้รับการยกเว้นภาษีหมด กองถ่ายที่มีศักยภาพถึงเกณฑ์นี้ส่วนใหญ่มักเป็นกองถ่ายจากอเมริกา ถ้าคำสั่งนี้ออกมาจริง เท่ากับเป็นการบีบให้กองถ่ายอเมริกันต้องถ่ายทำในประเทศของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งเราอาจจะต้องขาดรายได้สำคัญตรงนี้ และต้องไปพึ่งพากองถ่ายจากประเทศอื่น ๆ แทน แต่ปัญหาคือ พวกเขาอาจจะไม่ได้ลงทุนเยอะเท่า”
ระบบการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กองถ่ายต่างชาติไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นนโยบายที่มีการดำเนินการมายาวนาน
นโยบายเหล่านี้เพิ่งจะมาเป็นที่รู้จักและถูกทำออกมาเป็นระบบระเบียบช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา อย่างกรณีการลดหย่อนภาษีของกองถ่าย The White Lotus ซีซัน 3 ที่ถ่ายทำบนเกาะสมุยของประเทศไทย เป็นข่าวใหญ่เรื่องการลดหย่อนภาษีขนาดใหญ่
“จริง ๆ เรื่อง Tax Rebate เป็นเรื่องปกติและทำกันมานานแล้ว การส่งเสริมให้กองถ่ายทำมาถ่ายเป็นเรื่องเก่ามาก น่าจะเกือบห้าสิบปีแล้ว”
“หนังสงครามเวียดนามเมื่อก่อนก็มาถ่ายในบ้านเรา และได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย แม้ตอนนั้นจะยังไม่เป็นระบบเหมือนปัจจุบัน และอัตราสิทธิพิเศษอาจจะไม่ได้สูงเท่าปัจจุบัน” ภาณุ อธิบาย
หลังจากนี้กองถ่ายสหรัฐฯ หันไปถ่ายทำที่ไหน?
ภาณุชี้แจงว่าเหตุผลที่หลายกองถ่ายอเมริกันเลือกออกมาถ่ายทำนอกประเทศ เนื่องจากค่าภาษีในการถ่ายทำภายในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์กนั้นสูงมาก จนการเดินทางไปถ่ายทำต่างประเทศนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าสำหรับหลายโปรเจกต์
“หลายกองถ่ายของชาวอเมริกันใช้วิธีออกมาถ่ายทำข้างนอกประเทศ เพราะการถ่ายในอเมริกามีภาษีถ่ายทำสูงมาก อย่างเช่นในนิวยอร์ก หลายคนก็จะเลี่ยงเลย ตัดสินใจถ่ายทำในต่างประเทศแทนเพื่อรับสิทธิพิเศษทางภาษีที่มากขึ้น” ภาณุ กล่าว
ส่วนสำหรับแนวโน้มของนโยบายภาษี 100% ใหม่นี้ ภาณุประเมินว่าจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อการตัดสินใจของสตูดิโอภาพยนตร์อเมริกัน
เขาเชื่อว่า นโยบายนี้จะมีผลกระทบทันที ถ้าทรัมป์ประกาศเก็บภาษีหนังที่ไปถ่ายทำต่างประเทศ 100% นั่นเป็นตัวเลขที่สูงมาก และเชื่อว่าสตูดิโอทุกแห่งคงไม่เลือกที่จะโดนเก็บภาษีในอัตราขนาดนั้น และจะเลือกถ่ายทำในอเมริกาแทน
นโยบายภาษี กระทบกองถ่ายไทยหรือไม่
การเล็งเก็บภาษีครั้งนี้กระทบโดยตรงกับกองถ่ายภาพยนตร์สัญชาติสหรัฐฯ แต่สำหรับมิติของการส่งออกภาพยนตร์ไทยไปฉายในสหรัฐนั้น ยังไม่ได้ถูกพูดถึงนัก ภาณุ มองว่าขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่านโยบายภาษีใหม่นี้จะครอบคลุมธุรกิจภาพยนตร์อย่างไรบ้าง
“จริง ๆ แล้วภาพยนตร์แต่ละประเทศในเรื่องภาษี จะถือว่าเป็นสิทธิทางปัญญา เรามีอัตราภาษีอยู่ที่ 5% แต่เดิม แต่ยังไม่ชัดเจนว่าในกรณีหนังจะเป็นอย่างไร ถ้าพูดถึงการขึ้นภาษีของทรัมป์ที่ผ่านมา มันจะเป็นสินค้าประเภทอื่น พวกสินค้าหนัก แต่พวกไม่มีความเป็นตัวตน อย่างม้วนฟิล์มดิจิทัล มันยังไม่มีการพูดถึง” ผู้กำกับกล่าว
และวันนี้เป็นครั้งแรกที่มีรายงานเกี่ยวกับธุรกิจสิทธิทางปัญญา งานสร้างสรรค์ที่ไม่เป็นรูปธรรม ภาณุ ไม่แน่ใจว่าหลังจากนี้จะมีความเปลี่ยนแปลงแค่ไหน
ต้องจับตามองกันต่อว่า ทรัมป์ จะออกนโยบายเรื่องภาษีเพิ่มเติม ที่ส่งผลกระทบของสาขาอื่น ๆ ในหมวดหมู่ของอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์อีกหรือไม่
อนาคตของประเทศไทย ศูนย์กลางกองถ่ายต่างชาติ
แม้นโยบายจะดูกระทบประเทศไทยอย่างหนัก แต่จริง ๆ แล้ว ภาณุให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยยังเป็นที่นิยมของกองถ่ายจากประเทศอื่น ๆ นอกจากกองถ่ายจากสหรัฐอเมริกา
อเมริกาไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่มาถ่ายในเมืองไทย เกาหลีก็มี อินเดียก็มี ซึ่งอินเดียเข้ามาถ่ายเยอะที่สุด มากกว่าอเมริกาด้วยซ้ำในแง่ของจำนวนกองถ่าย แต่ถ้าเทียบตัวเงิน อเมริกาให้เม็ดเงินมากกว่า นอกจากนี้ยังมีกองถ่ายจากจีนและยุโรปที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยด้วย
ผู้กำกับชื่อดังมองว่า หากนโยบายนี้มีผลบังคับใช้จริง รัฐบาลไทยอาจต้องปรับแผนการทำงานเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
“ผมคิดว่าเผลอ ๆ รัฐต้อง Active มากขึ้นด้วยซ้ำ โดยมุ่งเป้าไปที่ตลาดอื่น เช่น ยุโรป ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เข้ามาถ่ายหนังในไทย ในแง่ของเม็ดเงิน อเมริกาให้เงินมากกว่าเยอะ เราอาจจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาลูกค้าประเทศอื่น ๆ เพื่อชดเชยส่วนที่อาจจะเสียไป”
ก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
ภาณุ มองว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งจากภายในและขยายตลาดต่างประเทศเพิ่มเติม
“มันกระทบแน่นอน ก่อนหน้านี้รัฐบาลเจอศึกหนักในการหาทางแก้ไขเรื่องสินค้าที่จับต้องได้ พอนโยบายมันกำลังจะเข้าสู่สินค้าลักษณะงานสร้างสรรค์ ก็อาจจะเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องมานั่งขบคิดกัน” ผู้กำกับวิเคราะห์
ทางออกคือ หาทางพึ่งพาตลาดในบ้านเราเองด้วย หนังไทยอย่างน้อยก็มีความเข้มแข็งมากขึ้น ต้องหาช่องทางเผยแพร่มากขึ้น และอาจจะต้องขยายตลาดใหม่ ตอนนี้หนังไทยก็ไปได้ไกลในหลายตลาด ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ละตินอเมริกา และควรเสริมสร้างความแข็งแกร่งในหนังไทยให้มากขึ้น รวมถึงเจาะตลาดที่หนังไทยน่าจะไปได้อย่างยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา
การเคลื่อนไหวครั้งนี้ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์ ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้เกี่ยวข้องในวงการภาพยนตร์ทั่วโลกกำลังจับตามอง และหากมีการประกาศใช้นโยบายดังกล่าวจริง คาดว่าจะเกิดการปรับตัวครั้งใหญ่ในวงการภาพยนตร์ทั้งในไทยและทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้