ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้ง ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งวิฤตโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ภาวะสงครามส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารโลก นำมาสู่การปรับปรุงแผนแม่บทน้ำ 20 ปี ให้ทันกับสถานการณ์ โดยเน้นเป้าหมายสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมถึงกรรมการลุ่มน้ำที่เพิ่งเกิดขึ้น
สราวุธ ชีวะประเสริฐ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ได้มีการดำเนินการมาแล้วในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย โดยผลการประเมินในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีบางกลยุทธ์หรือแผนงานที่ยังไม่มีการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและยังไม่มีการขับเคลื่อน
นอกจากนี้ บางกลยุทธ์ควรต้องมีการปรับปรุงแผนงาน เนื่องจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เช่น สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทำให้แรงงานคืนถิ่น นำไปสู่ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำกินน้ำใช้และน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อสร้างรายได้
รวมถึง ภาวะสงครามที่ทำให้เกิดวิกฤตอาหารโลก นำไปสู่ความต้องการพืชอาหารบางประเภทและการใช้น้ำที่มากขึ้นในบางพื้นที่ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและภัยธรรมชาติ ทำให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น ทั้งอุทกภัย ภัยแล้ง และการรุกตัวของน้ำเค็ม เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังไม่ได้บรรจุในแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปีเดิม จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงแผนใหม่ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกและประเทศไทยในครั้งนี้
“จากการเปลี่ยนแปลงของโลกโดยเฉพาะประเด็นด้านน้ำ สทนช. ในฐานะหน่วยงานกลางนโยบายด้านน้ำของประเทศ จำเป็นต้องปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี ในช่วงปี 2566-2580 ทั้ง 6 ด้าน ให้ทันสมัย สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น รวมถึงการปรับปรุงการขับเคลื่อนค่าเป้าหมาย จากภาพรวมส่วนกลางและข้อมูลระดับลุ่มน้ำ
ไปบูรณาการ เพื่อให้สอดคล้องและสนับสนุนการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ที่ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อการพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรม และภาคบริการ การป้องกันและบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย ภัยแล้ง ลดปัญหาน้ำเสีย และการยกตัวของน้ำเค็ม รักษาป่าต้นน้ำ ภายใต้การบริหารจัดการ ซึ่งครอบคลุมในแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี”
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า ในประเด็นน้ำสะอาด ไทยเข้าถึงเพียงแค่ร้อยละ 30 ทั่วประเทศ ซึ่งภายในอีก 4-5 ปีต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้สำเร็จ ควบคู่กับการจัดหาน้ำเพื่อเกษตรและการลดปัญหาขาดแคลนอาหาร
ขณะที่กระบวนการปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ในครั้งนี้ เน้นกระบวนการ co-design และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยจะมีจัดการประชุมของหน่วยงาน 20 ครั้งและระดมความคิดเห็นของประชาชนในระดับพื้นที่ จำนวน 7 ครั้ง เพื่อให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอนล่าง
ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนและคณะกรรมการลุ่มน้ำสามารถแสดงความคิดเห็นในการประชุมและในระบบออนไลน์ เพื่อให้การปรับแผนแม่บทฯ น้ำในครั้งนี้ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปดำเนินการขับเคลื่อนสู่แผนปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้านน้ำในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากการอุปโภคบริโภคน้ำสะอาด มีน้ำใช้สร้างรายได้ ลดความเสียหายจากภัยพิบัติด้านน้ำเพื่อการพัฒนาประเทศที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป