พายุ “ตาลิม” ช่วยเติมน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 800 ล้าน ลบ.ม.

แม้จะทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นแต่ฝนสะสมทั้งประเทศยังคงต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 24 ขณะที่ปริมาณน้ำใช้การในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางยังน้อยกว่าปีที่แล้ว หน่วยงานด้านน้ำ คาด ‘เอลนีโญ’ จะเริ่มมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นต่อเนื่องต้องใช้โอกาสทองเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด

ที่ผ่านมาประเทศไทยมีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลของพายุตาลิม ร่องมรสุม และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ โดยพื้นที่ที่มีฝนมาก คือ บริเวณชายขอบของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือฝั่งตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันออก ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ตอนบนและฝั่งตะวันตก ซึ่งส่งผลให้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ เช่น จ.ระนอง จ.ชุมพร ฯลฯ รวมถึงเกิดเหตุดินสไลด์ในบางแห่ง ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์ในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ คาดการณ์ฝนและปริมาณน้ำจากอิทธิพลของพายุและร่องมรสุม พบว่าจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในช่วงวันที่ 16-22 ก.ค. 66 รวมกว่า 800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ซึ่งจะช่วยเติมเต็มปริมาณน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำที่มีน้ำน้อย

โดยคาดการณ์อ่างฯ ที่จะมีน้ำไหลเข้าสูงสุด ได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ 188 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ 108 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริธร 83 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนรัชชประภา 69 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนลำปาว 63 ล้าน ลบ.ม.

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ของแหล่งน้ำทั่วประเทศ ยังมีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำมากที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อย 80 ของความจุ รวม 34 แห่ง โดยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด คือ 24 แห่ง ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการกักเก็บน้ำไว้สำหรับใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ท่ามกลางสภาวะเอลนีโญที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องจนไปถึงปี 2567

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผย ปัจจุบัน กอนช. เร่งช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยจากพายุตาลิมและร่องมรสุม โดยพบปริมาณฝนเพิ่มขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าค่าปกติร้อยละ 24 เน้นย้ำทุกหน่วยบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุล แต่มีทิศทางดีขึ้น

“สัปดาห์นี้ยังคงมีโอกาสที่จะมีฝนตกกระจายหลายพื้นที่ โดยเป็นฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ รวมถึงมีแนวโน้มที่จะมีร่องมรสุมที่พาดผ่านในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงในพื้นที่ภาคใต้ กอนช. เพื่อเฝ้าระวังน้ำหลากบางพื้นที่ ในช่วง 15-20 กรกฎาคมนี้ ยกเว้นพื้นที่ตอนกลางของประเทศที่ยังคงมีฝนน้อย โดยยังคงเน้นย้ำความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการประหยัดน้ำ รวมถึงการส่งเสริมการปลูกพืชรอบเดียว เพื่อสงวนปริมาณน้ำไว้ให้ได้มากที่สุด เพื่อรองรับสภาวะเอลนีโญ”

ขณะที่ปริมาณปริมาณอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ณ วันที่ 20 ก.ค. 2566 เทียบกับปีที่แล้วยังน้อยกว่ามาก โดย ปีนี้มีน้ำใช้การทั้งประเทศ 14,241 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่วันเดียวกันเมือปีที่แล้ว 2565 มีน้ำใช้การได้ 17,732 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่า 3,490 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังรองรับน้ำได้อีก 38,153 ล้านลูกบาศก์เมตร

ขณะที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่มี 4 เขื่อนหลัก เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ แขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วันนี้ (20 ก.ค.66)ยังคงมีน้ำใช้การ อยู่ที่ 3,196 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 18 และยังรับน้ำได้อีก 14,979 ล้านลูกบาศก์เมตร

กรมชลประทานคาดการณ์ว่า ในช่วงฤดูฝนปีนี้ต้องเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด ซึ่ง วางเป้าหมายในช่วง 1 พฤศจิกายน 2566 คาดการณ์น้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา จะมีน้ำ 14,194 และน้ำใช้การได้ 7,498 คิดเป็นร้อยละ 41

นักวิชาการด้านน้ำระบุ ถ้าจะรอดพ้นจากเอลนีโญควรมีน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ตั้งแต่ 8,000-10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะทำให้มีน้ำสำรองไว้รับมือสถานการณ์เอลนีโญที่เริ่มจะมีแนวโน้มหนักขึ้นตั้งแต่ปี ปี 2567 – 2568 ที่จะเกิดสถานการณ์ภาวะน้ำน้อยจากปริมาณฝน ปี 2568 ที่น้อยอยู่เพียง 833 มิลลิเมตร /ปี

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active