GISTDA เผยภาพไทยโชตพบน้ำท่วมขัง จ.เพชรบูรณ์ 2 หมื่นไร่

นักวิชาการ วิเคราะห์แนวโน้มน้ำปีนี้มากกว่าปีที่แล้วร้อยละ 10 คาดน้ำท่วมขังต่อเนื่องตั้งแต่ อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ หลังก.ย. เริ่มท่วมนครสวรรค์ เตรียมจับตาพายุซ้ำเติมสถานการณ์

GISTDA เผยภาพจากดาวเทียมไทยโชต บริเวณพื้นที่อำเภอหล่มเก่าและอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ของวันพุธที่ 10 สิงหาคม 2565 เวลา 10.25 น. พบพื้นที่น้ำท่วมขังรวมแล้วกว่า 19,900 ไร่ แบ่งเป็นอำเภอหล่มเก่า จำนวน 6,900 ไร่ และอำเภอหล่มสัก จำนวน 13,000 ไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ลุ่มต่ำ และริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก ตลอดจนชุมชนที่อยู่อาศัย และเส้นทางคมนาคมบางส่วน

ขณะนี้ GISTDA ได้ส่งต่อข้อมูลภาพจากดาวเทียมให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน การติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมขังในช่วงนี้ GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ท่านสามารถตรวจสอบพื้นที่อื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://flood.gistda.or.th

ผศ.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

ผศ.ภาณุวัฒน์ ปิ่นทอง หัวหน้าศูนย์วิจัยวิศวกรรมน้ำและโครงสร้างพื้นฐาน และอาจารย์ประจำ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำปีนี้ 2565 นี้มีแนวโน้มจะมากกว่าปีที่แล้ว(2564) อยู่ประมาณ ร้อยละ 10

นั้นหมายความว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม เราจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมขังบางพื้นที่ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่จังหวัด อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์ พอเดือนกันยายนจะเริ่มมีน้ำท่วมที่จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดทางภาคกลาง ขณะที่การระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาจะมีแนวโน้มระบายเพิ่ม ซึ่งอาจมากถึง 1,000-2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะทำให้พื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่งกระทบน้ำท่วมได้ อีกทั้งในช่วงนี้ยังคงต้องจับตาพายุที่จะเข้าในช่วงนี้ด้วยหากมีพายุพัดเข้ามาถี่ต่อเนื่องอาจทำให้หลายพื้นที่ภาคกลางท่วมขัง และอาจมากกว่าปีที่แล้ว

ส่วนกรุงเทพมหานครเมืองปลายน้ำอาจต้องรับมือเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำเหนือที่หลากมา ขณะเดียวกันยังมีน้ำฝนในพื้นที่ และน้ำทะเลหนุน โดยมีการคาดการณ์กันด้วยว่าเดือนสิงหาคมนี้ ไปจนถึงเดือนกันยายนฝนจะเพิ่มมากขึ้นซึ่ง กทม.จะมีปริมาณฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 10 เช่นกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์