‘รศ.เสรี’ คาดสิ้นเดือนนี้ ฝนหนักกว่าเดิม เตือน กทม. อย่าทำพลาดอีก

เหตุร่องฝนพาด ‘ภาคกลาง – อีสานใต้’ หนักกว่าปีที่แล้ว เสี่ยงยาวถึงสิ้นปี ‘ภาคใต้’ เตรียมรับมือช่วง พ.ย. ย้ำผู้ว่าฯ ต้องเด็ดขาด แจ้งข้อมูลสำคัญประชาชน

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยกับ The Active ถึงสถานการณ์น้ำฝนในอนาคตว่า จากข้อมูลการคาดการณ์พบว่าฝนที่ตกมาช่วงก่อนหน้านี้ เป็นเหมือนสัญญาณเตือนว่าอาจมีฝนตกหนักมากกว่านี้เนื่องจาก ในปีนี้น้ำฝนมาเร็วกว่าปกติ จากหลายปัจจัย ทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ลานีญา และน้ำในมหาสมุทรอินเดียที่เพิ่มสูงขึ้น ร่องฝนในช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. มีค่าเฉลี่ยหนักกว่าปกติ และเราจะเห็นผลในปลายเดือนนี้ 

“อย่าไปติดกับดักว่า ทุกอย่างที่เคยเกิดขึ้น จะมีผลแบบนั้นเสมอไป อย่างคลองประเวศบุรีรมย์วันนี้ น้ำเหนือยังไม่มาเลย ทำให้ลาดกระบังน้ำท่วมหนักกว่าเดิม อย่าไปยึดติดกับอดีต จะมากกว่าปี 54 หรือไม่ เป็นสิ่งที่เราไม่รู้ แต่ข้อมูลตรงหน้าสำคัญที่สุด” 

รศ.เสรี กล่าวต่อว่า ร่องฝนที่พาดผ่านประเทศไทย จะเข้มหนักในพื้นที่ภาคกลาง รวมถึงภาคตะวันออก และอีสานใต้ด้วย อย่างเช่น ตอนนี้ จ.ระยองโดนฝนตกหนักมา 2-3 ครั้งแล้ว ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนในช่วงเดือน พ.ย. น่ากังวล ควรติดตามสถานการณ์ให้ดี เนื่องจากปีที่แล้ว มีเหตุการณ์ฝนตกวันละ 600 มิลลิเมตร ที่ อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร และต้องประเมินว่าถ้าหากปริมาณน้ำฝน 600 มิลลิเมตร มาตกในพื้นที่ภาคกลาง และ กทม. จะเป็นอย่างไร  

“สิ่งที่เรากังวล คือ กทม. อาจจะรับมือไม่ไหว ต้องเตรียมความพร้อม ปีนี้อย่างที่บอกร่องฝนมันเข้มกว่าเดิม มาหนักแน่ หน่วยงาน กทม. และหน่วยงานอื่น ๆ ต้องประเมินว่าที่ผ่านมาทำได้ดีหรือยัง ต้องบอกให้ประชาชนรู้ตัวก่อน ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่จอดรถชั้นใต้ดิน หรือที่ลาดกระบัง…” 

เหลือเวลาเตรียมตัว 10 วัน ยกระดับการจัดการ และเครื่องมือ

รศ.เสรี กล่าวว่า ประสบการณ์ที่รังสิต และคลองประเวศบุรีรมย์ เป็นบทเรียนสำคัญ ที่จะบอกว่าครั้งหน้า เราจะพลาดไม่ได้แล้ว นับถอยหลังไปจนถึงปลายเดือนนี้ มีเวลาเตรียมตัวประมาณ 10 วัน ผู้บัญชาการเหตุการณ์ของท้องที่นั้น ต้องประเมินสถานการณ์ ณ ปัจจุบันว่า จุดไหนที่น้ำจะไหลไป แล้วตรงนั้นมีกำลังสูบเท่าไหร่ จะผันน้ำไปที่ไหน สัญญาณสำคัญตอนนี้ที่ประตูระบายน้ำบางไทร น้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 2,600 ลบ.ม./วินาที ปรากฏชัดว่าพฤติกรรมน้ำหลากต่างจากปี 2554 เนื่องจากในพื้นที่เราไปสร้างทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้น้ำอาจจะสูงมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ในวันพรุ่งนี้ รศ.เสรี มีนัดพูดคุยกับ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. โดยจะเน้นไปที่การประเมินสถานการณ์ และจะเพิ่มเติมในเรื่องการบัญชาการเหตุการณ์ เราจะได้เห็นปรากฏการณ์ “ฝนจะตกทั่วฟ้า” โดยบอกไม่ได้ว่าจะตกที่ไหน ต้องบริหารความเสี่ยง จะกลายเป็นว่าทุกเขตจะมีปัญหา และผู้ว่าฯ ไม่สามารถไปพื้นที่น้ำท่วมทุกจุดได้ ผู้ว่าฯ จะต้องอยู่ที่ศูนย์บัญชาการ แล้วมีคนติดตาม ตรวจสอบ รายงาน แล้วค่อยสั่งแก้ไข ถ้าไม่ทำแบบนี้ ประชาชนจะเดือดร้อนหนักขึ้น 

“เราชอบใช้คำว่าประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ แต่ถ้าฉุกเฉินคุณรอประสานไม่ได้นะ ต้องสั่งการ แต่ในทางปฏิบัติผู้ว่าฯ กทม. ไปสั่งการหน่วยงานอื่นได้หรือไม่ แล้วถ้าเป็นแบบนี้ จะทำอย่างไร อันนี้ผมตั้งเป็นคำถาม ว่าจะเป็นใครที่ต้องลงมาสั่งการในภาวะวิกฤติ…”

นอกจากนั้น รศ.เสรี ยังเตือนไปถึง คนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีความเสี่ยงสูง และอาจจะหนักมากแล้ว ตอนนี้ที่ได้รับแจ้งข้อมูล แถว อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ท่วมไปแล้ว ทั้งที่เพิ่งผ่านเดือนกันยายนแค่ครึ่งเดือนเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าสภาพการใช้ที่ดินทำกินในลุ่มน้ำเปลี่ยนไปแล้วโดยสิ้นเชิง เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเชิงพื้นที่ ยังไม่นับรวม “น้ำหนุน” ที่มาตามธรรมชาติในช่วงเดือน ต.ค.-พ.ย. เมื่อน้ำหนุนขึ้น ฝนตกหนักขึ้น น้ำเหนือส่งผ่านลงมามากขึ้น ถึงจุดนั้นอาจเข้าสู่ภาวะวิกฤติจริง ๆ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active