ชาวท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา จี้กรมชลฯ เปิดประตูระบายน้ำพระนารายณ์

หลังพื้นที่เหนือประตูระบายน้ำท่วมหนัก​ เกือบมิดหลังคาบ้าน เหตุ กรมชลฯ ปิดประตูระบายน้ำพระนารายณ์ไม่ปล่อยน้ำลงคลองระพีพัฒน์ หวั่นน้ำท่วมรังสิต​ก่อนเข้ากรุงเทพฯ

วันที่ 9 ต.ค. 2565 สถานการณ์น้ำท่วมที่อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา​ ชาวบ้านต้องอยู่กับน้ำที่ท่วมสูงมาร่วม 1 สัปดาห์แล้วโดยมีพื้นที่ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างแทบทุกตำบล หนักที่สุดน้ำล้นตลิ่งแม่น้ำป่าสัก บริเวณตลาดสดท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอท่าเรือ และหลังสถานีรถไฟท่าเรือ​ ซึ่งเป็นชุมชนอยู่ท้ายเขื่อนพระราม 6 ราว 5 กิโลเมตร รถเล็กไม่สามารถสัญจรผ่านได้ ต้องใช้เรือเท่านั้น ทั้งยังมีผู้สูงอายุที่ยังอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นจำนวนมาก​  

โดยระดับน้ำเหลืออีกเพียง 30 เซนติเมตรจะเท่ากับปี 2554 ขณะที่เมื่อปีที่แล้วอำเภอท่าเรือก็ถูกน้ำท่วมเช่นกันแต่ปีนี้ชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า หนักกว่า​ปีก่อน ขณะนี้หลายครอบครัวต้องย้ายขึ้นไปอยู่อาศัยบริเวณชั้น 2 ของบ้าน ขณะที่บริเวณที่น้ำท่วมไม่ลึกมากก็จะมีการก่อแนวอิฐป้องกันน้ำ หรือวางกระสอบทราย

ประเทือง เลิศบำรุงชัย ชาวเทศบาลท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา

ประเทือง เลิศบำรุงชัย ชาวเทศบาลท่าเรือ อายุ​ 85​ ปี​ กล่าวว่า อาศัยอยู่ที่นี่มากว่า 50 ปี เผชิญกับปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำ และเชื่อว่าครั้งนี้จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย และหมดความคาดหวังกับรัฐบาลในการบริหารจัดการน้ำ 

“เข้าใจว่าไม่อยากให้ท่วม กทม. เพราะเป็นคนหมู่มาก การไม่ทำให้น้ำท่วมอำเภอท่าเรือจึงเป็นเรื่องยาก แต่ก็ไม่อยากให้ระดับน้ำสูงไปมากกว่านี้ โดยหลังจากที่น้ำเริ่มล้นตลิ่งจากแม่น้ำป่าสัก จะรีบบอกลูกหลานให้มาช่วยเก็บของขึ้นที่สูงเอาไว้ก่อนเพราะหากเก็บของทันก็จะลดความเสียหายลงไปได้​” 

ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์น้ำที่บริเวณเขื่อนพระราม 6 ขณะนี้ระดับน้ำเสมอกับแนวตลิ่ง โดยประตูเขื่อนเปิดสุดทั้ง 6 บาน แต่ในขณะเดียวกันประตูระบายน้ำพระนารายณ์ซึ่งจะระบายน้ำลงคลองระพีพัฒน์ จากเขื่อนทดน้ำพระราม 6 แง้ม เปิดเพียงบานเดียว และระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์ต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำป่าสักหลายเมตร จนชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าเป็นที่มาที่ทำให้น้ำท่วมสูง ในอำเภอท่าเรือ

เขื่อนพระราม 6
ประตูระบายน้ำพระนารายณ์

กระทั่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมาชาวบ้านรวมตัวกันประท้วงกรมชลประทานให้เปิดประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ซึ่งกรมชลฯ ก็ให้สัญญาว่าจะเปิดแบบขั้นบันได 40 60 และ 80 ตามลำดับซึ่งก็เริ่มเปิดบานเดียวบานแรกในวันที่ 8 ตุลาคม แต่ก็ยังไม่เป็นที่พอใจของชาวบ้าน

ชาวบ้านประท้วงกรมชลฯ เปิดประตูน้ำพระนารายณ์ วันที่ 7 ต.ค. 2565

พิษเพลิน สง่าเนตร ผู้ได้รับผลกระทบท้ายเขื่อน กล่าวว่า ​บ้านของเธอถูกน้ำท่วมเกือบมิดหลังคา ซึ่งรัฐปล่อยให้น้ำท่วมแบบนี้หนักเกินไป โดยที่ไม่แบ่งน้ำผ่านการระบายน้ำลงคลองระพีพัฒน์ แต่กลับปิดไว้ จนน้ำเอ่อท่วมบ้านหลายหลังเกือบจมมิดหลังคา พร้อมเห็นว่า เปิดประตูระบายน้ำพระนารายณ์แง้มออกเพียงบานเดียว ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้น้ำลดลงได้มากนัก​ และทุกๆครั้งที่น้ำท่วม ก็มักจะปิดประตูระบายน้ำพระนารายณ์เพื่อไม่ให้น้ำวิ่งไปตามคลองระพีพัฒน์แล้วไปท่วมกรุงเทพฯแต่คนบริเวณนี้เดือดร้อนอย่างมาก

“เข้าใจว่ามีบ้านอยู่ติดแม่น้ำอยู่ใกล้แม่น้ำก็จะต้องถูกน้ำท่วมแต่ท่วมมากแบบนี้มันเกินไปก็เป็นประชาชนเหมือนกันน้ำมาก็ต้องแบ่งเบาภาระแบ่งเบากันไปบ้างไม่ใช่ปล่อยให้ท่วมมิดหลังคาบ้านแบบนี้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active