เตือน ! ไทยเสี่ยงวิกฤตแล้งหนักติดต่อยาว 4-5 ปี

นักวิชาการด้านภัยพิบัติ เผย ปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ มีแนวโน้มจะรุนแรงหนักขึ้นปลายปีนี้ และถือเป็นครั้งแรกของไทยที่จะเกิดวิกฤตภัยแล้งหนักติดต่อยาวนาน 4-5 ปี ต่อจากนี้ เตือนรัฐบาลชุดใหม่เตรียมวางแผนปรับตัวรับมือ

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ปีนี้กำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านจาก ปรากฏการณ์ ‘ลานีญา’ หรือน้ำมาก มาเป็นปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ หรือแล้งเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญรอบนี้จะเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่จะมีความต่อเนื่อง  4-5 ปี ซึ่งไทยไม่เคยเกิดขึ้นแบบนี้มากก่อน ที่ผ่านจะเกิดขึ้นแบบไม่ยาวนานติดต่อกันหลายปี เช่น วิกฤตแล้งหนัก ปี 2558 ปี 2559 แต่ปีนี้มันไม่เป็นแบบนั้นซึ่งต้องเฝ้าระวัง

“เพราะฉะนั้นจึงคาดการณ์ว่าปีนี้ ในช่วงเดือนธันวาคม 2566 จนถึง กุมภาพันธ์ 2567  จะเป็นช่วงที่เอลนีโญรุนแรงที่สุดซึ่งดัชนีจะขึ้นสูงสุดเป็นปีแรก หลังจากนั้นก็จะไปขึ้นอีกทีหนึ่ง ปี 2568 และ 2569 แล้วจะไปขึ้นอีกที ตอน 2570 และ2571 ผมว่ามันยาว มันจะเจอ 3 ยอดหรือ 3 ช่วงที่ใกล้เคียง ถ้าเราเจอ 3 ยอด แต่ปีนี้ บริหารน้ำปีเดียว เราตายแน่เลย อีก 2 ยอดทีหลังเสร็จแน่ เพราะฉะนั้นต้องประหยัดต้องบริหารตั้งแต่ตอนนี้”​

รศ.เสรี ศุภราทิตย์ ผอ.ศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต

รศ.เสรี ยังกล่าวอีกว่า ปีนี้มีการคาดการณ์ว่าฝนในช่วงต้นปีอาจยังมีไม่มากนัก เพราะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากปรากฏการณ์ลานีญามาเป็นเอลนีโญ แม้จะยังเห็นฝนตกบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเมื่อเกษตรกรเห็นฝนก็มักจะต้องปลูกแล้ว เรื่องนี้สำคัญมากต้องบอกต่อและชัดเจน เพราะมันคือความเสี่ยงเนื่องจากว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน เดือนกรกฎาคมฝนจะเริ่มทิ้งช่วง และเปลี่ยนเข้าสู่ เอลนีโญ ในขณะที่ ปลายฝนจะไม่ค่อยจะดี มันจะเริ่มมีสัญญาณที่รุนแรงขึ้น ๆ โดยช่วงปลายปี เอลนีโญจะขึ้นระดับสูงสุดเลย หมายความว่าปีหน้าแล้งหนักแน่

“แม้ปีนี้ยังพอมีน้ำต้นทุนใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา ประมาณ 6 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีหน้าแล้งหนักและยังใช้น้ำไม่ประหยัดหรือใช้น้ำหมดหน้าตัก แล้วรอความหวังฝนจะตกเพียงพอ อาจต้องคิดใหม่ เพราะถัดไปจากปีหน้าไปอีก 2567และ2568 ยอดจะแตะอีกยอดหนึ่ง ก็กลับมาฝนไม่ดีอีก ​ต้นทุนมันจะถูกใช้ ซึ่งอาจเก็บไม่ได้ โดยจะทำให้ 2568 และ 2569 ตรงนั้นมันจะหนักขึ้น หลังจากนั้นในปี2570 และ 2571 ต่อเนื่องมา มันหมายถึง ความแล้งแตะมาถึง 3 ยอด ตรงนี้ต้องประเมิน 4-5 ปีเลย เพราะวางแผนปีเดียวไม่ได้  แต่ความหนักก็จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ  เพราะต้นทุนน้ำในเขื่อนมันหายไปเรื่อย ๆ”

สิ่งที่ต้องปรับตัวและการออกแบบนโยบายเพื่อรับมือ

ประเด็นแรก เกษตรกรที่เคยปลูกต้องลดพื้นที่ปลูกพืชให้เหลือครึ่งหนึ่งเลย ประเด็นที่สอง หาอาชีพอื่นทำ หรือไม่ควรหันไปปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย ขณะที่รัฐต้องออกแบบประกาศและวางนโยบายและแนวทางที่ต้องทำอย่างจริงจังเพื่อลดความเสี่ยงเพื่อเกษตรกร หากเกษตรกร บอกว่าปลูกอย่างอื่นไม่ได้ หน่วยงานรัฐต้องคุยให้เข้าใจและเข้าถึง ไม่ว่าจะเป็นกรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน หรือกรมวิชาการเกษตร ซึ่งต้องส่งเสริม และหาพืชอายุสั้น ประเด็นที่สาม สำหรับข้าวที่มีอยู่ที่จำเป็นต้องปลูกต้องมีความเข้าใจพูดคุยระหว่างรัฐและเกษตรกร ต้องคุยแบบถึงลูกถึงคนสร้างความเข้าใจแบบจริงจัง ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน ต้องคุย

ณ ปัจจุบันยังไม่เห็นนโยบายพรรคการเมืองด้านนี้จริงจังมากนักเพราะข่าวคราวเรื่องแล้งมันเสี่ยงกระทบฐานเสียงเกษตรกร ซึ่งจะมาใช้หลักประกันรายได้อาจทำไม่ได้แล้วเพราะที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่ารัฐสูญเสียงบประมาณไปมากกับเรื่องนี้ ซึ่งเกษตรกรเขาสามารถมีเงินได้ชั่วคราวเท่านั้นเอง แต่ในที่สุดก็มาตกเรื่องการเป็นหนี้สะสมไปเรื่อย ๆ เพราะฉะนั้น พูดง่าย ๆ ควรให้เบ็ดตกปลา ให้ประชาชนหากินให้ได้ ซึ่งอนาคต ปลูกพืชระยะสั้นและสนับสนุนให้มีนวัตกรรม ในพื้นที่เดิม และมีการลดการปลูกให้สอดคล้องกับสภาพแล้ง ​โดยเอกชนก็นำเทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริม ขณะเดียวกันหลังเลือกตั้งนักการเมืองและรัฐบาลชุดใหม่ก็ต้องนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเรื่องพวกนี้  อย่างมุ่งไปแต่ใช้เงินชดเชยเยียวยา จำนำ และประกัน มันไปต่อไม่ได้แล้ว การเตรียมพร้อมรับภัยแล้งจึงเป็นเรื่องจำเป็นไม่เช่นนั้นอาจสายเกินแก้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active