แนะ’รัฐบาลใหม่’ก่อนตัดสินใจแก้แล้งต้องมีข้อมูลรอบด้าน

เหตุ ‘นายกฯ เศรษฐา’ ลงพื้นที่ภาคอีสาน พร้อมยกโครงการ โขง ชี มูล หวังใช้แก้ปัญหาการจัดการน้ำระยะยาว ขณะนักวิชาการด้านน้ำแนะ ต้องรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน ไม่รีบตัดสินใจ หวั่นสูญเสียงบประมาณแต่แก้ปัญหาไม่ตรงจุด

วันนี้ (9 ก.ย.2566) ก่อนที่ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะแถลงนโยบายต่อที่ประชุมรัฐสภา 11-12 กันยายนนี้ ซึ่งการบูรณาการองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพเพื่อตอบสนองต่อความต้องการน้ำในแต่ละพื้นที่ เป็น 1 ในเนื้อหาที่จะมีการแถลงนโยบาย ระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน นายกรัฐมนตรี พร้อมรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่จังหวัดขอนแก่น อุดรธานี และหนองคายเพื่อติดตามปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง รวมถึงปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งจากสถานการณ์เอลนีโญ โดยระบุช่วงหนึ่งถึงความสำคัญในการเก็บน้ำเพื่อใช้หลังฤดูฝนที่เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือน เชื่อมโยงไปถึงแผนระยะยาว โครงการ โขง ชี มูล ที่จะต่อเข้ามาที่เขื่อนอุบลรัตน์ ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว โดยได้ฝากให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ติดตามเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพื่อบรรเทาปัญหาระยะยาว

แม่น้ำโขง

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ และนักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ปีนี้ไปจนถึงปีหน้า ไทยจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งจากเอลนีโญที่รุนแรงและเสี่ยงหนักกว่า เพราะน้ำในเขื่อนใหญ่ที่เป็น น้ำใช้การในเขื่อนภาพรวมทั้งประเทศ (ณ วันที่ 8 ก.ย. 2566) เหลือเพียง 19,556 ล้านลูกบาศก์เมตรน้อยกว่าปีที่แล้ว กว่า 5 พันล้าน เพราะปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันเรามีน้ำมากถึง 25,471 ล้านลูกบาศเมตร ขณะที่แต่ละภาคก็มีบริบทการจัดการปัญหาน้ำที่แตกต่างกัน ซึ่งคาดว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 อาจมีน้ำไม่มากพอที่จะช่วยเหลือพื้นที่เกษตรได้ทั้งหมด

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ผู้เชี่ยวชาญดด้านการจัดการน้ำและนักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

สำหรับการลงพื้นที่ของรัฐบาลชุดใหม่รอบนี้ถือว่ามีความเร่งด่วน ไปพร้อมกับสถานการณ์ที่ต้องไปรับฟังเสียงของประชาชน แต่ดูเหมือนจะเป็นการไปแบบรีบด่วน และมีหลายหน่วยงานพยายามให้ข้อมูลต่อการแก้ปัญหา จนทำให้นายกรัฐมนตรี เร่งรัดการแก้ปัญหา โดยมีการเชื่อมโยงไปถึงแผนระยะยาว คือ โครงการ โขง ชี มูล ที่คล้ายจะรับปาก หวังให้เป็นการแก้ปัญหาระยะยาว แต่ขอให้รับฟังข้อมูลอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจ

“ท่านอย่าเพิ่งรับปาก อย่าเพิ่งสั่งการ แบบรวดเร็ว อยากให้ท่านนายกฯ พิจารณาข้อมูลให้รอบด้านเกี่ยวกับภาพรวมด้านน้ำก่อน เพราะปัจจุบันสถานการณ์แม่น้ำโขงมีความไม่แน่นอน เพราะจีนมีแผนบริหารจัดการน้ำที่จะก่อสร้างเขื่อนเพิ่มและสภาพภูมิอากาศต่อปริมาณน้ำก็ไม่มั่นคง ซึ่งอาจทำให้สูญเสีย งบฯ กว่า 2 ล้านล้าน หากด่วนตัดสินใจ”

ขณะที่การไปรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี ผศ.สิตางศุ์ มองว่า พอจะได้ใจเกษตรกรในหลายจังหวัด เพราะรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะเร่งรัดการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งอาจเป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยได้ในระยะสั้น แต่อันที่จริงแล้วการวางแผนแก้ปัญหาเอลนีโญร้อนแล้ง ที่อาจลากยาวถึงปีหน้า รัฐบาลต้องมองการบริหารจัดการน้ำแบบตีโจทย์ให้ถี่ถ้วนเพราะ การบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก และภาคใต้

ซึ่งสิ่งที่ต้องมองร่วมกันคือ ทำอย่างไรให้มีการใช้น้ำน้อยลง ในภาวะแล้งที่เสี่ยงขาดแคลนขนาดนี้ ที่ไม่บริหารน้ำแบบตัดเสื้อโหล ใช้แบบเดียวกันหมด เพราะสิ่งแวดล้อม ดินน้ำอากาศ มีความต่างกัน พอสมควร

ระยะสั้น รัฐบาลอาจต้องลงลึกถึงการสนับสนุนภาคเกษตกร ให้มีการขุดบ่อสระ หรือการคิดโครการเก็บน้ำใต้ดิน หรือแม้แต่ การคิดถึงการส่งน้ำด้วยท่อ ที่อาจต้องเสริมเพิ่มเข้ามาในอนาคต ที่จริงไทยมีโรลโมเดลหลายแห่งที่ดี และเป็นต้นแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ต้องเร่งรัดสั่งการจำกัดน้ำจริงจังเพราะไม่เช่นนั้นศึกแย่งน้ำอาจมีให้เห็นอนาคตแน่นอน

ขณะนี้ภาคกลางมีการใช้น้ำในหลายภาคส่วนจุดนี้ต้องมีการทำความเข้าใจ เพื่อลดความขัดแย้งอนาคต ควรลดการใช้น้ำให้มากเพื่อความอยู่รอดของทุกภาคส่วน ภาคเกษตรอาจทำนาน้อยลง แต่เชิงนโยบายรัฐก็ต้องเสริมอาชีพอย่าปล่อยให้แคว้ง หาตลาด หาพืชที่เป็นที่ต้องการมาสนับสนุน เกษตกรอำเภอ เกษตรจังหวัด อาจต้องตั้งรับแล้ว ขณะเดียวกัน เรื่องราคาค่าปุ๋ย ค่ายา อาจต้องมีการปรับลดและคิดหาวิธีที่จะอยู่ภายใต้แล้งยาว 1-2 ปี

ซึ่งหน่วยงานด้านน้ำก็เช่นกัน การปรับลดการใช้น้ำทำแบบเดิมปีต่อปีไม่ได้แล้ว จากนี้ต้องมีการคาดการณ์ที่แม่นยำ สำรองน้ำล่วงหน้าไว้อนาคตคิดต่อว่าต้องตุนน้ำมากแค่ไหนให้เพียงพอและรอดจากปรากฎการณ์เอลนีโญแล้งนี้ไปก่อน

ระยะยาว อาจต้องวางแผนจัดการน้ำทั้งระบบ มีการเชื่อมโยงบริหารจัดการให้สอดคล้องกับน้ำที่มีอยู่ ไม่ใช้เพียงแค่ชงเรื่องสร้างโครงการขนาดใหญ่ แล้วจบ เพราะอนาคตการใช้น้ำคือปากท้องของประชาชน

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ด้านสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)  เปิดเผยว่า ในการประชุมสัมมนาถอดบทเรียน การติดตามประเมินผลการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/66 และการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ เอลนีโญ ที่ร่วมกับคณะกรรมการลุ่มน้ำ เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำ นักวิชาการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจาก 7 กระทรวง รวม 31 หน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิจากทั่วประเทศ เกษตรกร   และ The Active Thai PBS จะนำมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนในการเตรียม ความพร้อมและวางมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/67 ตลอดจนใช้เป็นกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำแล้งปีถัดไป

โดยสถานการณ์น้ำในปี 2566  จะเกิดปรากฏการณ์ เอลนีโญ ทำให้ฝนตกน้อยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันต่ำกว่าค่าปกติถึง 21% หากไม่มีพายุพาดผ่าน  กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 จะมีปริมาณน้ำใช้การในแหล่งน้ำขนาดใหญ่รวมเพียง 26,142 ล้าน ลบ.ม.  หรือคิดเป็นร้อยละ 55 ของปริมาณกักเก็บ น้อยกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 11 ดังนั้นในฤดูแล้งปี 2566/67 จะต้องปรับแนวทางมาตรการรองรับฤดูแล้ง ให้เหมาะสมเข้ากับสถานการณ์น้ำที่เป็นปัจจุบัน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active