ภาคประชาสังคม ชี้ ไทยต้องเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ และฐานข้อมูล แนะ “นักสังคมสงเคราะห์” มีบทบาทนำ พัฒนาระบบสวัสดิการสังคม โยง “โลกร้อน” เสนอพรรคการเมืองสานต่อสู่ระดับ “นโยบาย” ที่เป็นรูปธรรม
เมื่อวันที่ 4 ส.ค.67 รศ.อัจฉรา ชลายนนาวิน คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หยิบยกตัวอย่างความเลวร้ายของสถานการณ์โลกร้อนมาเล่าภายในงาน “สัมมนาวิชาการระดับบัณฑิตศึกษา ของคณะสังคมสงเคราะห์ฯ” ว่า พื้นถนนละลายในประเทศอินเดีย ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 53 องศาเซลเซียส และมีผู้คนตายนับพัน, ที่ราบสูง ธารน้ำแข็งในชิงไห่-ทิเบต หดลงปีละ 7.8 เมตร, รัฐบาลอิตาลี ประกาศภาวะฉุกเฉิน ที่เมืองเวนิส หลังน้ำท่วมแตก 1.87 เมตร ทั้งที่เวนิสน้ำท่วม 20-30 ปีครั้้ง แต่หลังจากโลกเผชิญหน้ากับโลกเดือด ทำให้เมืองเวนิส เผชิญน้ำท่วมซ้ำซากเฉลี่ย 5 ปี ต่อครั้ง หรือน้อยกว่า นี่เป็นสถานการณ์วิกฤติของโลกร้อน ที่เผชิญกันมาได้สักระยะ พร้อมระบุว่า สำหรับโลกเดือดในเวลานี้ เป็นช่วงเวลาที่จะกลับไปแก้ไขให้อุณหภูมิลดลงได้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องมองไปข้างหน้า คือการมองว่า บทบาทของนักสงคมสงเคราะห์ จะทำงานเพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างไร
“ ทิศทางงานสังคมสงเคราะห์ กับการทำงานด้านโลกร้อน ควรให้ชุมชนเป็นเจ้าของ ทำอย่างไรให้นโยบายการจัดการทรัพยากร เกิดมาจากความต้องการของสมาชิกในชุมชน และทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่เท่าเทียม นักสังคมสงเคราะห์ เป็นกลไกลสำคัญที่จะช่วยนำองค์ความรู้ และบริหารจัดการเครือข่าย เพื่อช่วยเหลือคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง”
ผลกระทบจาก “โลกร้อน” หลายเรื่องมักไร้การเยียวยา ไม่มีสวัสดิการรองรับ
ในวงสัมมนา มีตัวแทนชุมชน จากบ้านขุนสมุทรจีน โดยนายวิษณุ เข่งสมุทร เล่าให้ฟังถึงการแก้ปัญหาระดับชุมชน โดยที่ผ่านมาชาวชุมชนพยายามแก้ปัญหา ปรับตัวจากสถานการณ์วิกฤติกันเอง ทั้งการยกพื้นบ้านให้สูงขึ้น การปลูกป่าชายเลน ความพยายามจัดการขยะ และการรีไซเคิลในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากประสบปัญหา ชาวบ้านก็ยังไม่เคยได้รับเงินเยียวยา เช่น ปัญหาหลักในพื้นที่อย่างเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ชาวบ้านต้องแก้ปัญหาโดยการถอยร่นที่ทำกิน และยังไม่ได้รับการเยียวยา กลายเป็นวังวนหนี้สิน และภาระที่ต้องแบกรับ
ล่าสุด เรื่องหนึ่งที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวกับโลกร้อน แต่เกี่ยวโดยอ้อม คือ การเพิ่มขึ้นของแรงงานข้ามชาติ ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ในพื้นที่บ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ เจอปัญหาจากแรงงานแฝงในพื้นที่ พบคนข้ามชาติ 50% กระทบกับการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่มากขึ้น ส่งผลต่อการแบ่งกันใช้บริการภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล ที่หนาแน่นมากขึ้น ส่งผลให้การบริการภาครัฐในพื้นที่ลดคุณภาพลงไป
“อยากเห็นการแก้ปัญหาที่รอบด้านทั้งมิติสังคม และสิ่งแวดล้อม การทำงานเชิงรุก และมีมาตรการเยียวยาด้านสังคมเข้ามาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนไป หรือ “สวัสดิการที่เชื่อมโยงอยู่กับภาวะโลกร้อน สิ่งแวดล้อม” ก็จะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนดีขึ้น”
การรับมือด้านภัยพิบัติไทยไม่ชัดเจน ต้องเปลี่ยนเชิงระบบ และฐานข้อมูล
เรวดี ประเสริฐเจริญสุข มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบุว่า การมีองค์ความรู้ระดับสถาบันการศึกษา และเครือข่ายฯ คงไม่เพียงพอ ต้องยกระดับให้สวัสดิการเหล่านี้เชื่อมโยงกับ พรรคการเมือง เพราะยังมีงานอีกมากที่ต้องทำต่อ เช่น การปรับปรุงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงาน การพัฒนาระบบฐานข้อมูล โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับมิติของกลุ่มเปราะบางในสังคม เวลานี้การรับมือด้านภัยพิบัติของไทยไม่ชัดเจน ต้องเปลี่ยนแปลงกันเชิงระบบ และฐานข้อมูล
โลกร้อนผลกระทบเกิดทั่วโลก มนุษย์มีส่วนสำคัญ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เช่น กิจกรรมที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกในบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นเป็นเหตุให้ภาวะเรือนกระจกรุนแรงกว่าที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติ และส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกสูงขึ้น จนเราต้องเผชิญกับวิกฤติ “ภาวะโลกร้อน”
ผลกระทบของเรื่องนี้เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง กระทบหลายอาชีพ ที่เห็นผลชัดคือภาคการเกษตรที่ต้องพึ่งพา ฟ้าฝน ตัวอย่างเช่น การปรับตัวของเกษตรที่ขายข้าวไม่ได้ เผชิญน้ำท่วม น้ำแล้ง ไม่สามารถปรับเปลี่ยนผลผลิตได้ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น รายได้ไม่เพียงพอ และมีภาระหนี้สิน, เช่นเดียวกับ อาชีพประมงชายฝั่ง ที่ได้รับผลกระทบลงทุนเพิ่มขึ้น หากินไกลขึ้น
แค่ภาคการผลิต ที่เป็นภาคการเกษตรอย่างเดียวก็ชัดเจนว่า ได้รับผลกระทบจากโลกร้อน ยังไม่นับรวมภาคการผลิตอื่น ๆ ของไทย ที่ส่วนใหญ่อยู่ในระดับรายย่อย แรงงาน ที่มีเงินไม่เพียงพอต่อการยังชีพ
จึงเสนอว่า “นโยบาย” ควรมองให้รอบด้าน และไม่ลืมกลุ่มที่เปราะบางในสังคม ที่ช่วยเหลือหรือต้องพึ่งพิง สวัสดิการสังคม อาจจะต้องมองกว้างและลึก เพื่อออกแบบสวัสดิการสังคมให้เหมาะสมกับโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว
“คนทำงานสังคมสงเคราะห์ควรเข้ามาขับเคลื่อนงาน เชื่อมกันระหว่าง โลกร้อน ย้ำว่า นโยบายหลังจากนี้จะต้องไม่ลืมเรื่องสิ่งแวดล้อม ส่วนตัวรู้สึกมีความหวังที่ คณะสังคมสงเคราะห์ฯ จะออกมาทำงานขับเคลื่อนเป็นส่วนสำคัญของการสร้างนโยบายเพื่อรองรับวิกฤติของสังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เคยมีใครหยิบประเด็นนี้กล่าวถึงมาก่อน…”