’20 ปี สึนามิ’ สู่ บทเรียนความร่วมมือระหว่างประเทศ สร้างกลไกเตือนภัยพิบัติ

ย้ำความพร้อม ผ่านระบบเตือนภัยหลายรูปแบบ มุ่งเน้นความยืดหยุ่น พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม แจ้งเตือนภัย ฟื้นฟู ในระยะยาว แนะให้ความสำคัญการเตรียมพร้อมระดับชุมชน ไปสู่ ระดับชาติ เพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ

เมื่อเร็ว ๆ นี้ กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานรำลึกครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย ภายใต้ชื่อ “20 Years On: Remembering the 2004 Indian Ocean Tsunami” โดยมีคณะทูตานุทูต องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมเพื่อรำลึกถึงความสูญเสียในวันที่ 26 ธันวาคม 2547 พร้อมทั้งจัดงานเสวนา เน้นย้ำความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต ผ่านระบบเตือนภัยพิบัติหลายรูปแบบ (Multi-Hazard Early Warning Systems) รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

โดยการจัดงานรำลึกฯ ได้มีเวทีเสวนา 2 ช่วงหลัก ได้แก่ การฟื้นฟูหลังภัยพิบัติและบทเรียนที่ได้รับ รวมถึงการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติหลายรูปแบบ (Multi-Hazard Early Warning Systems) โดยผู้เชี่ยวชาญจากไทย และต่างประเทศ ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และแนวทางเสริมสร้างระบบเตือนภัยที่สามารถรับมือกับภัยพิบัติหลากหลายประเภท เช่น สึนามิ, พายุ, น้ำท่วม และมลพิษทางอากาศ พร้อมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มความแม่นยำและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในอนาคต

ตัวแทนรัฐบาลไทยได้มอบเงินอุดหนุนเป็นจำนวน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่กองทุนเอสแคป (ESCAP) สำหรับการเตรียมความพร้อมกับสึนามิ และภัยพิบัติด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อส่งเสริมการสร้างระบบเตือนภัยพิบัติล่วงหน้าในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ESCAP Trust Fund for Tsunami, Disaster and Climate Preparedness)

ตัวแทนรัฐบาลไทยมอบเงินอุดหนุน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ให้กองทุนเอสแคป (ESCAP)

บทเรียนสำคัญจาก ‘สึนามิ 2004’

ในเวทีเสวนาได้เน้นแนวทางการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ และการแบ่งปันประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งได้กล่าวถึงบทเรียนสำคัญที่ได้จากเหตุการณ์สึนามิในปี 2004 ที่ส่งผลให้ประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคต้องพัฒนาระบบเตือนภัยและการรับมือกับภัยพิบัติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การพัฒนาระบบเตือนภัยสึนามิ และการจัดตั้งกองทุน ESCAP Multi-Donor Trust Fund ซึ่งประเทศไทย เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งใน ปี 2548 ด้วยการมอบเงินทุนเริ่มต้นจำนวน 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่อมาได้รับการสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วเอเชียและยุโรป

พล.ท.นพ. อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้แบ่งปันประสบการณ์จากการตอบสนองและการฟื้นฟูหลังเหตุการณ์สึนามิในปี 2004 โดยยกตัวอย่างถึงความท้าทายที่พบในการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมหลังภัยพิบัติ โดยเฉพาะเรื่องการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย เช่น ที่อยู่อาศัย, การประมง, การเกษตร และการฟื้นฟูสภาพจิตใจ พร้อมทั้งการนำแนวคิด “Localization” หรือการเสริมพลังให้กับชุมชนท้องถิ่นมาใช้ในการฟื้นฟู โดยเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในระยะยาว

มาเรีย เทเรซา ที. อัลโมฆูเอลา (Maria Teresa T. Almojuela) ผู้ช่วยรัฐมนตรี สำนักงานองค์การสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงการปรับใช้เทคโนโลยีในการตอบสนองภัยพิบัติ โดยเน้นความสำคัญของการพัฒนา ระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning Systems : EWS) ที่มีความแม่นยำและสามารถเข้าถึงผู้คนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว โดยยกตัวอย่างกรณีของฟิลิปปินส์ ที่ได้พัฒนา EWS และใช้เทคโนโลยีในการแจ้งเตือนภัยที่ช่วยลดความเสียหายจากภัยพิบัติ รวมถึงการเสริมสร้างความยืดหยุ่นในชุมชนและการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ

มาเรีย เทเรซา ที. อัลโมฆูเอลา (Maria Teresa T. Almojuela) ผู้ช่วยรัฐมนตรี สำนักงานองค์การสหประชาชาติ

“ฉันเกิดบนเกาะที่อยู่ตรงกับทางผ่านของใต้ฝุ่น เป็นเกาะที่อยู่ฝั่งทิศตะวันออก ซึ่งพวกเราต้องรับแรงกระแทกจากพายุใต้ฝุ่นเป็นกลุ่มแรก”

“EWS ค่อย ๆ ถูกพัฒนามาโดยตลอด อย่างเหตุการณ์ ใต้ฝุ่นไห่เยี่ยน เมื่อปี 2013 เรามีระบบ EWS ที่ช่วยให้ชุมชนไม่ต้องเจ็บปวดมากนัก ไม่อย่างนั้นผลกระทบใต้ฝุ่นคงจะรุนแรงกว่านี้ เรายังมีการใช้โทรศัพท์และเครื่องมือดิจิทัล ร่วมมือกับบริษัทโทรคมนาคม ให้ประชากรของเราได้แจ้งเตือนแบบทันทีและลงไปถึงระดับชุมชน”

คาซึยะ ซูซุกิ (Suzuki Kazuya) หัวหน้าผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency หรือ JICA) ได้แบ่งปันบทเรียนจากการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติหลายครั้ง เช่น สึนามิ ในปี 2004 และแผ่นดินไหวในญี่ปุ่น โดยมุ่งเน้นที่แนวคิด “Build Back Better” หรือการใช้ภัยพิบัติเป็นโอกาสในการฟื้นฟูสังคมและโครงสร้างพื้นฐานให้กลับมามีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมทั้งแนะนำให้ใช้มาตรการลดความเสี่ยงในระยะยาว เช่น การลงทุนในการป้องกันภัยพิบัติในช่วงเวลาปกติ

ซันเจย์ อาฮูจา (Sanjay Pahuja) ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านการจัดการทรัพยากรน้ำ ธนาคารโลก ประเทศไทย ได้เน้นถึงบทบาทของภาคเอกชนในการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ โดยชี้ให้เห็นว่าการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในระบบการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster Risk Reduction – DRR) เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางในการพัฒนากลไกการเงิน เช่น การใช้ตราสารหนี้ภัยพิบัติ (CAT bonds) เพื่อให้ประเทศสามารถเข้าถึงเงินทุนได้อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดภัยพิบัติ

“นี่คือนักลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมาก ผลตอบแทนอาจสูงถึง 70 เท่า ระบบเตือนภัยพิบัติ EWS ควรเป็นความสำคัญลำดับแรกของทุกประเทศ เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่มีต้นทุนสูง และสามารถใช้ได้เลยภายใน 1-2 ปี และให้ผลตอบแทนที่สูง”

ซันเจย์ อาฮูจา

วงเสวนาหัวข้อ “Post-disaster Recovery, Lessons Learnt, and Experience Sharing”

การเสวนาในครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมและการฟื้นฟูหลังภัยพิบัติที่มุ่งเน้นการพัฒนาความยืดหยุ่นในระยะยาว โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการแจ้งเตือนภัยและการฟื้นฟู รวมทั้งการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม การนำแนวคิด “Localization” หรือการเสริมพลังให้กับชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างความยืดหยุ่นและความมั่นคงในการรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะช่วยให้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีความพร้อมและความสามารถในการรับมือกับภัยพิบัติที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความจำเป็นของระบบเตือนภัยพิบัติ

ขณะที่การเสวนาเชิงวิชาการหัวข้อ “Towards Multi-Hazard Early Warning Systems” ผู้เชี่ยวชาญจากไทยและต่างประเทศได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการพัฒนาและการปรับปรุงระบบเตือนภัยพิบัติในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมุ่งเน้นการเตรียมความพร้อมต่อภัยพิบัติหลายรูปแบบ เช่น สึนามิ, พายุ, น้ำท่วม, และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ต่าง ๆ

พล.อ.อ. สมนึก สวัสดิ์ถึก ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้เล่าถึงความสำเร็จในการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติหลายรูปแบบหลังเหตุการณ์สึนามิในปี 2004 โดยกล่าวถึงความท้าทายที่ประเทศไทยต้องเผชิญในช่วงเริ่มต้นการพัฒนา 

“ในตอนนั้นเราขาดความรู้เรื่องสึนามิ ผู้คนไม่รู้ว่าการที่น้ำทะเลลดระดับแปลว่าสึนามิกำลังมา คนไทยที่ไม่รู้ก็ลงไปเล่นน้ำต่อในระดับที่ลึกขึ้น”

พล.อ.อ. สมนึก สวัสดิ์ถึก

เมื่อก่อนประเทศไทยไม่ทราบถึงลักษณะของสึนามิ และไม่ได้มีระบบเตือนภัยที่เพียงพอ จึงมีการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก ต่อมาไทยได้เริ่มติดตั้งระบบเตือนภัยทั้งในรูปแบบของ ทุ่นเตือนภัย และ หอเตือนภัย ในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ และสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยผ่านช่องทางเช่น SMS แอปพลิเคชัน Thai Disaster Alert และ Line Alert โดยการพัฒนาเหล่านี้มีความสำคัญในการเตือนภัยทั้งในกรณีของสึนามิ น้ำท่วม พายุ และ PM2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาในปัจจุบัน

ซาฟีนาซ ฮัสซัน (Safeenaz Hassan) เลขาธิการองค์การจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ สาธารณรัฐมัลดีฟส์ ประเทศเกาะที่มีระดับความสูงเฉลี่ยเพียง 1.5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ซึ่งทำให้มัลดีฟส์มีความเสี่ยงสูงต่อภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น พายุฝน, น้ำท่วม, และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลได้กล่าวถึงการตั้งระบบเตือนภัยที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรระดับภูมิภาค โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความยืดหยุ่นของชุมชนผ่านการพัฒนาระบบ การบริหารจัดการภัยพิบัติในชุมชน (Community-Based Disaster Management หรือ CBDM) โดยชุมชนท้องถิ่นจะสามารถเป็นผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้นในการจัดการภัยพิบัติ เนื่องจากการเข้าถึงชุมชนที่ห่างไกลอาจใช้เวลานาน

“ถ้าเราสามารถสร้างความยืดหยุ่นให้ชุมชนได้ เราก็จะสามารถสร้างความยืดหยุ่นของชาติได้”

ซาฟีนาซ ฮัสซัน

เอ. อาร์. ซูบเบียห์ (A.R. Subbiah) ผู้อำนวยการระบบเตือนภัยหลายภัยคุกคามแบบบูรณาการในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย (Regional Integrated Multi-Hazard Early Warning System for Africa and Asia หรือ RIMES) ได้เน้นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีในการพัฒนาระบบเตือนภัย จากเดิมที่ต้องใช้เวลานานในการกระจายข้อมูลผ่านการส่งแฟกซ์และ SMS การใช้ระบบดิจิทัลในปัจจุบันมีความรวดเร็วมากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบการสังเกตการณ์และการคาดการณ์ภัยพิบัติที่สามารถลดต้นทุนในการประมวลผลข้อมูล แต่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม

ซาฟีนาซ ฮัสซัน (ซ้าย) เอ. อาร์. ซูบเบียห์ (กลาง) ดิอานา แพทริเซีย มอสเกรอา คัลเล่ (ขวา)

ดิอานา แพทริเซีย มอสเกรอา คัลเล่ (Diana Patricia Mosquera Calle) รองผู้อำนวยการสํานักงานลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ UNDRR ได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติหลายรูปแบบที่สามารถครอบคลุมทุกภัยพิบัติ โดยเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศเพื่อสร้างกรอบการทำงานที่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

โดยการดำเนินงานต้องมุ่งเน้นไปที่การเผยแพร่คำเตือนที่ชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้สำหรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

“หนึ่งในเสาหลักที่อ่อนแอที่สุดคือการเผยแพร่ข้อมูลและการรับประกันว่าการเตือนภัยจะเข้าถึงทุกคน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง การเตือนภัยต้องสามารถนำไปปฏิบัติได้และชัดเจนสำหรับผู้รับที่แตกต่างกัน”

ดิอานา แพทริเซีย มอสเกรอา คัลเล่

ภายในวงเสวนา ยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมในระดับชุมชน และการสร้างแผนการตอบสนองที่สามารถกระตุ้นได้อย่างรวดเร็วจากระดับท้องถิ่น โดยการจัดการภัยพิบัติ จะต้องเริ่มจากการเตรียมความพร้อมในระดับชุมชน ขยายไปยังระดับจังหวัด และระดับชาติ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงความจำเป็นในการร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นปัญหาระดับโลก

วงเสวนาหัวข้อ “Towards Multi-Hazard Early Warning Systems”

การเสวนาครั้งนี้ เน้นให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติหลายรูปแบบ (Multi-Hazard Early Warning Systems) ที่ต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองต่อภัยพิบัติต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบเตือนภัยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์กรต่าง ๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เชื่อมโยงกันและสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ทันเวลา ให้ทุกฝ่ายสามารถรับข้อมูลและตอบสนองต่อภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active