‘หมอชนบท’ รับ UCEP PLUS ทำ รพ.ชุมชน จำใจปฏิเสธ ‘ผู้ประกันตน’ ติดโควิด

ย้ำผู้ป่วย ‘ประกันสังคม’ ไม่มีอาการ ให้ รพ.คู่สัญญา ดูแลเท่านั้น หวั่นเข้าถึงบริการยาก คนปฏิบัติหน้างานสับสน วอน รัฐบาล เร่งแก้ปัญหา ดึง สปสช. จัดการ Clearing house “เจอที่ไหน แจก จบที่นั่น” ภายใน 48 ชั่วโมง

กรณีที่ ชมรมแพทย์ชนบท โพสต์แสดงความเห็นถึงระบบ UCEP PLUS ที่เริ่มประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ก่อนประกาศใช้ระบบนี้ ผู้ติดเชื้อโควิดทุกกรณี ไม่ว่าจะป่วยหนักเบา โรงพยาบาลต่าง ๆ ช่วยกันรักษา ข้ามเขตได้ ข้ามสังกัดได้ แล้วส่งหลักฐานการใช้จ่ายมาเบิกกับ สปสช. ซึ่งทำหน้าที่เป็น Clearing house ในทุกสิทธิ์ ซึ่งสะดวกและเป็นธรรม แต่เมื่อประกาศ UCEP PLUS ทำให้ต้องแบ่งผู้ติดเชื้อเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มที่มีอาการ สีเหลือง และ สีแดง ให้รักษาได้ทุกโรงพยาบาล เบิกค่ารักษาคืนจาก สปสช. เหมือนเดิม ในขณะที่กลุ่มผู้ติดเชื้อที่อาการน้อย หรือ สีเขียว ให้รับบริการตามสิทธิ์กับโรงพยาบาลคู่สัญญา ซึ่งตีความตรง ๆ ก็คือ ใครใช้สิทธิไหน ก็ให้ใช้โรงพยาบาลคู่สัญญานั้น ๆ ซึ่งในทางปฏิบัติจริง ๆ พบว่า ผู้ติดเชื้อที่มารับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน ส่วนใหญ่ไม่ใช่โรงพยาบาลคู่สัญญา จึงรักษาให้ไม่ได้ สร้างความสับสนให้กับทั้งผู้ติดเชื้อ และ ผู้ให้บริการอย่างมาก

TheActive สอบถามประเด็นนี้ กับ นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผอ.โรงพยาบาลจะนะ จ.สงขลา ในฐานะ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ยอมรับว่า ข้อจำกัด และความสับสนดังกล่าว เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่เป็นผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคม อธิบายง่าย ๆ คือ  ปกติแล้วโรงพยาบาลคู่สัญญาของผู้ประกันตน คือ โรงพยาบาลใหญ่ ๆ ทั้งรัฐ และเอกชน ประจำจังหวัด หมายความว่า จากนี้ผู้ติดเชื้อ ที่แต่เดิมเคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลประจำอำเภอได้ ก็ต้องไปเข้าโรงพยาบาลใหญ่คู่สัญญาตามสิทธิ เพราะโรงพยาบาลชุมชน จะไม่สามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้

สิ่งนี้ยิ่งสร้างความสับสนให้กับคนปฏิบัติหน้างานรวมถึงประชาชนเอง เพราะหากติดเชื้อก็ต้องดั้นด้นไปรักษาตัวในเมือง อาจไม่สอดคล้องกับความต้องการเปลี่ยนผ่านระบบการรักษาโควิด เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น

“เรากำลังพยายามทำความเข้าใจเพื่อก้าวข้ามให้โรคโควิด เป็นเหมือนโรคทั่ว ๆ ไป ซึ่งในอนาคตอันใกล้ ก็จะไปถึงตรงนั้น แต่ในเมื่อยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านการไปสู่โรคประจำถิ่น ก็ควรใช้เวลานี้สร้างมาตรฐานเดียวกันให้ทุกสิทธิ ทุกระบบการรักษาเทียบเท่ากันทั้งประเทศ เพื่อลดความลำบากของคนปฏิบัติหน้างาน และประชาชนจะได้ไม่สับสนกับระบบการรักษา เนื่องจากตอนนี้พบว่าโรงพยาบาลชุมชนหลายพื้นที่ ต้องปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยโควิดที่ใช้สิทธิประกันสังคม เพราะต้องให้ไปรักษากับโรงพยาบาลคู่สัญญา แต่ที่เป็นปัญหาคือโรงพยาบาลต่าง ๆ ไม่อยากทำแบบนั้น ตอนนี้ถ้า 1 ครอบครัว ติดเชื้อโควิด 6 คน มี 4 คน ใช้สิทธิบัตรทอง ก็ได้รับการรักษาเต็มที่ แต่อีก 2 คน ใช้สิทธิประกันสังคม กลับไม่ได้รับบริการ โรงพยาบาลชุมชนอยากดูแล แต่ถ้าให้การรักษาก็เข้าเนื้อ เพราะไม่ได้ทำตามระเบียบ”

ประธานชมรมแพทย์ชนบท ย้ำว่า ต้องการสะท้อนในมุมของคนทำงานหน้างาน เพราะมองว่า ระบบที่ดี ต้องเอื้อให้กับทั้งผู้ป่วย และ คนปฏิบัติ ที่ผ่านมา “เจอ แจก จบ” กำลังเดินต่อไปได้ จึงไม่อยากให้ระบบ UCEP PLUS ซึ่งถือเป็นความตั้งใจที่ดี ต้องเกิดปัญหา ในช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้ จึงเสนอให้ กระทรวงสาธารณสุข รัฐบาล เร่งแก้ปัญหา และให้ สปสช. มาดูแลจัดการ เป็น Clearing house แบบเดิม คือ “เจอที่ไหน แจกที่นั่น” ภายใน 48 ชั่วโมง ก็จบ

ทีมข่าว TheActive ได้ประสานไปยังสำนักงานประกันสังคม เพื่อชี้แจงในประเด็นนี้ เบื้องต้น ได้รับแจ้งว่า ประกันสังคม รับทราบถึงข้อห่วงใยจากชมรมแพทย์ชนบทแล้ว อยู่ระหว่างจัดทำคำชี้แจงเผยแพร่ เพื่อการพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับความต้องการประชาชนมากที่สุด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active