เปิดทางเลือก ฉีดไฟเซอร์เข็ม 3 ครึ่งโดส ลดผลข้างเคียงผู้สูงอายุ

หวังเรียกความมั่นใจ หลังพบฉีดเข็ม 3 ไปเพียง 32% “ปลัด สธ.” ห่วงผู้มีอายุ 60 ขึ้นไปเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอื่น ศบค. กำหนด 21-31 มี.ค. เป็นสัปดาห์รณรงค์ฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ ก่อนลูกหลานกลับบ้านสงกรานต์  ขณะที่ “สปสช.” จ่าย 2.4 แสนบาท เยียวยา ชาย 63 ปี ติดเตียงหลังฉีดวัคซีนโควิด เข็ม 3

วันนี้ (15 มี.ค. 2565) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไป มีอัตราเสียชีวิตสูงถึง 7.5% โดยวันนี้มีรายงานผู้เสียชีวิต 70 ราย พบว่า 47 ราย อายุเกิน 70 ปี ขณะที่ 52 รายได้รับวัคซีนไม่ครบ 

ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกแล้ว 83% เข็มสอง 78.8% ส่วนเข็มสามฉีดได้เพียง 32% จึงต้องเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนในกลุ่ม 608 (อายุ 60 ปีขึ้นไป และมีโรคประจำตัว) หากฉีดครอบคลุมได้มากขึ้น จะช่วยลดอัตราป่วยและเสียชีวิตลงได้ 

โดยช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะมีการเดินทางกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งสร้างความปลอดภัยแก่กลุ่มนี้ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ การจัดสัปดาห์รณรงค์ฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 (SAVE 608) ระหว่างวันที่ 21-31 มีนาคม 2565 โดยจะเน้นการฉีดเข็มกระตุ้น รวมถึงการฉีดเข็มแรกและเข็มสองโดยจะเร่งฉีดให้ได้มากที่สุด

“แต่ละจังหวัดมีการฉีดเข็มสามในผู้สูงอายุไม่เท่ากัน บางจังหวัดได้มาก บางจังหวัดยังได้น้อย ได้มอบหมายให้รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขวางเป้าหมายการฉีดวัคซีนแต่ละจังหวัดให้ได้มากที่สุด โดยพิจารณาจากศักยภาพการฉีดในช่วง 10 วันที่จะรณรงค์”

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่อาจมีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีน จะเปิดให้เลือกรับวัคซีนไฟเซอร์เข็ม 3 แบบครึ่งโดสได้ ซึ่งยังกระตุ้นภูมิได้ดี แต่จะช่วยลดปัญหาเรื่องผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ถึงกำหนดฉีดวัคซีนเข็ม 4 ก็สามารถเลือกฉีดไฟเซอร์แบบครึ่งโดสได้เช่นกัน 

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวต่อว่า สำหรับอีกเรื่อง คือ การแนะนำให้ลูกหลานที่จะเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์ ทำตัวเองให้ปลอดจากเชื้อโควิด-19 (Self Clean Up) โดยระมัดระวังตนเองช่วง 1 สัปดาห์ก่อนเดินทางกลับ ไม่ควรรวมกลุ่มสังสรรค์พบปะผู้คนจำนวนมาก หรือเข้าไปยังสถานที่เสี่ยง/แออัด และก่อนเดินทางกลับควรตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท ATK เพื่อคัดกรองตนเองให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ลดความเสี่ยงนำเชื้อกลับไปแพร่ให้ผู้สูงอายุที่บ้าน

กทม.ขานรับ สธ.เร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ 

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จะขึ้นไปสูงสุดช่วงกลางเดือนเมษายนนี้ กรุงเทพมหานคร จึงได้จัดทำแผนเชิงรุกและเร่งสำรวจจำนวนผู้สูงอายุใน กทม. ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ให้มารับวัคซีนโดยเร็ว ตามข้อสั่งการของ ศบค. ที่กำหนดให้ระหว่างวันที่ 21-31 มีนาคม 2565 เป็นสัปดาห์ของการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กลุ่มผู้สูงอายุ

ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัยได้ให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 เข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 เข็มกระตุ้นให้แก่ผู้สูงอายุ ณ จุดฉีดต่าง ๆ ทั้งในและนอกโรงพยาบาล บริการฉีดวัคซีนถึงบ้าน รถฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ กทม. (BMV) รวมถึงศูนย์ฉีดวัคซีนของ กทม. ผ่านแอปพลิเคชัน “QueQ” มาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติการเข้ารับบริการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ กทม. มีจำนวน 2,771,327 โดส (ข้อมูล ณ วันที่ 14 มี.ค. 65)

ทั้งนี้ คนที่ฉีดวัคซีนสามเข็ม ลดการเสียชีวิตถึง 41 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดเลย และลดการเสียชีวิตได้อีก 7 เท่า เทียบกับคนที่ฉีดสองเข็ม อย่างไรก็ตามสมาชิกทุกคนในครอบครัวยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มผู้สูงอายุและเคร่งครัดมาตรการดูแลตนเองแบบครอบจักรวาล 

สปสช. จ่าย 2.4 แสนบาท เยียวยา ชาย 63 ปี ติดเตียง หลังฉีดวัคซีนโควิด เข็ม 3

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า ตามที่มีสื่อนำเสนอข้อมูลร้องเรียนกรณีการขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังรับฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ของชายอายุ 63 ปี สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งภายหลังจากเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 3 ที่โรงพยาบาลกระบี่ ได้เกิดภาวะแน่นหน้าอกและเจ็บป่วยรุนแรงต้องเข้ารักษารักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 14-26 มกราคม 2565 กระบี่เป็นเวลานาน 12 วัน หลังจากนั้นได้เกิดภาวะหายใจหอบเหนื่อย จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลกระบี่อีกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นเวลา 3 วัน ปัจจุบันผู้ป่วยอยู่ในภาวะติดเตียง เดินไม่ได้ รับประทานอาหารไม่ได้ หายใจหอบเหนื่อย บางครั้งต้องใส่ออกซิเจน เพลีย ไม่มีแรง 

สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานีแจ้งว่า ได้รับคำร้องผู้ป่วยรายนี้เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา และมองว่าเป็นกรณีเร่งด่วน ประกอบกับเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่ครบถ้วน ทางอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระดับเขตพื้นที่ สปสช. เขต 11 สุราษฎร์ธานี จึงได้นำเรื่องของผู้ป่วยรายนี้เข้าสู่ที่ประชุมพิจารณาคำร้องในวันเดียวกัน โดยผลการพิจารณาเข้าข่ายความเสียหายระดับที่ 2 คือ สูญเสียอวัยวะหรือพิการ ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ เป็นอัตราเพดานช่วยเหลือสูงสุด คือจำนวน 240,000 บาท เนื่องจากเป็นกรณีที่เจ็บป่วยรุนแรงและอยู่ในภาวะติดเตียง และได้ประสานไปยังครอบครัวผู้ป่วยในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว    

“สปสช. พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่เกิดภาวะไม่พึงประสงค์หลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นการฉีดวัคซีนในเข็มที่เท่าไหร่ เนื่องจากเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบ เพื่อลดภาวะเจ็บป่วยรุนแรง และเพื่อให้ประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมกลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS