สำรวจมาตรการฉีดวัคซีนเชิงรุกในสัปดาห์รณรงค์ฉีดวัคซีนกลุ่ม 608 รพ.สต. ท่าลาดขาวจ.นครราชสีมา พบข้อท้าทาย ทั้งความกลัวผลข้างเคียง และไม่มั่นใจวัคซีนของรัฐ
วันนี้ (24 มี.ค. 2565) แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า ผู้มารับวัคซีน ณ วันที่ 23 มีนาคม 2565 ณ เวลา 18.00 น. มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 71,997 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 19,010 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 113,164 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 23 มีนาคม 2565 มีผู้รับวัคซีนสะสมทั้งหมด จำนวน 127,862,740 โดส
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 55,044,107 ราย
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 50,162,888 ราย
- จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 22,655,745 ราย
กลุ่มที่ได้รับวัคซีนเข็ม 3 ยังเป็นตัวเลขที่ไม่ได้ขยับเท่าไร ถือได้ว่ายังต่ำอยู่คือ 32.6% เช่นเดียวกับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งหากติดเชื้อแล้วอาจมีอาการป่วยหนัก ทั้งประเทศฉีดเข็ม 2 ไปแล้ว 10 ล้านโดส คิดเป็น 79% แต่เข็ม 3 ของกลุ่มสูงอายุ 60 ปียังอยู่ที่ 33.6% ยังค่อนข้างน้อยและต้องรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง
สำหรับพื้นที่ที่ยังได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นค่อนข้างน้อยได้แก่เขตสุขภาพที่ 8 ได้แก่ อุดรธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ และอีกเขตได้แก่เขตที่ 12 ได้แก่จังหวัด สงขลา สตูล ตรัง พัทลุงปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ส่วนเขตที่มีการฉีดค่อนข้างสูงได้แก่เขตสุขภาพที่ 13 คือ กทม. ซึ่งเป็นเขตที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นที่เป็นไปตามแผน
พบ 6 คนฉีดครบ 3 เข็มแต่ยังเสียชีวิต
แพทย์หญิงอภิสมัย เปิดเผยรายละเอียดของผู้เสียชีวิต 82 คนในวันนี้ เป็นชาย 46 คน หญิง 36 คน เป็นคนไทย 76 คน เมียนมา 5 คน อังกฤษ 1 คน สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อและมีอาการรุนแรงจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว ซึ่งอีกปัจจัยหนึ่งที่เน้นย้ำทุกครั้งคือการได้รับวัคซีน
โดยในวันนี้ผู้เสียชีวิต 82 คน มีถึง 46 คน ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มที่ 1 และมี 6 คนที่เพิ่งได้รับเข็ม 1 ไม่นานก็เกิดการติดเชื้อ และทำให้มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต และมี 16 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น
โจทย์ท้าทาย รพ.สต. เคาะประตูบ้านฉีดวัคซีนเชิงรุก
สำหรับเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ที่ต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายหลายเรื่อง เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ตั้งเป้าให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น กับกลุ่ม 608 (กลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค) ให้ถึง 70% ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ ลูกหลานกลับบ้าน
The Active ติดตามปฏิบัติการเชิงรุกของ รพ.สต. ท่าลาดขาว อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา ก็พบว่าต้องใช้เวลาในการเกลี้ยกล่อมผู้สูงอายุบางคน แต่ในที่สุดแล้วพวกเขาก็ไม่ยอมฉีดวัคซีน
แม้ กาญจนี บุณยวงศ์วิโรจน์ ผอ. รพ.สต.ท่าลาดขาว จะพยายามเกลี้ยกล่อมให้หญิงวัย 57 ปี กลุ่มเสี่ยงโรคอ้วน ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น แต่เธออ้างว่าฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มเมื่อเดือนธันวาคม โดยลูกได้จอง วัคซีนโมเดอร์นา เอาไว้ซึ่งจะครบกำหนดฉีดอีก 6 เดือน โดยไม่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพวัคซีนที่รัฐบาลจัดหาให้
กาญจนี ชี้แจงกับ หญิงกลุ่มเสี่ยงคนนี้ว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน กระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนแผนใหม่ให้ต้องฉีดเข็มกระตุ้นเร็วขึ้น 3 เดือนหลังจากครบเข็ม 2 ซึ่งการฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม จะช่วยลดการเสียชีวิตได้ถึง 41 เท่า แต่หญิงคนดังกล่าวก็ปฏิเสธการฉีดวัคซีนจากเจ้าหน้าที่
สัปดาห์ของการรณรงค์ฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ท่าลาดขาว อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา เดินปูพรมไปบ้านทุกหลังตามรายชื่อกลุ่ม 608 โดยพบว่าบ้านหลังต่อมา หญิงวัย 63 ปี ยังไม่เคยฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว เธอบอกว่าคนในบ้านได้รับวัคซีนกันหมดเว้นเธอเองคงไม่เป็นไร และกังวลเรื่องผลข้างเคียง จึงไม่อยากฉีด เธอคิดว่าต่อให้ฉีดก็ยังติดเชื้อได้
อย่างไรก็ตาม ในชุมชนนี้ผู้ที่ปฏิเสธไม่รับวัคซีนนับว่าเป็นส่วนน้อย ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ยอมฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น หลังเจ้าหน้าที่เข้าไปอธิบายทำความเข้าใจ และมีทางเลือกในการฉีดวัคซีน คือ แอสตราเซเนกา ไฟเซอร์ หรือจะฉีดฉีดไฟเซอร์เพียงครึ่งโดส ก็ได้หากกังวลเรื่องผลข้างเคียง
ผอ.รพ.สต.ท่าลาดขาว ระบุว่า ตำบลท่าลาดขาว มีผู้สูงอายุรวมกว่า 600 คน ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มไปแล้ว 90% และฉีดเข็ม 3 ไปแล้วกว่า 400 คน การฉีดวัคซีนเชิงรุก นอกเจ้าหน้าที่ รพ.สต. ยังมีครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงพื้นที่ไปพร้อมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจ แต่ก็คำนึงถึงสิทธิผู้ป่วย หากไม่ต้องการฉีดก็ไม่บังคับ เพียงแต่ขอโอกาสได้เข้าไปอธิบายด้วยความหวังดี และไม่ต้องการเห็นเทศกาลสงกรานต์ ต้องจบลงด้วยความสูญเสีย