“ศ.นพ.ยง” ชี้ ประชาชนใช้ ATK วันละหลายแสนชิ้น เสี่ยงเชื้อแพร่กระจายลงแม่น้ำลำคลอง แนะ ทำลายด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำก่อนทิ้ง
สถานการณ์โควิด-19 กรุงเทพฯ ยังพุ่งเป็นอันดับ 1 ข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานตัวเลข ณ วันที่ 27 มี.ค. 2565 จำนวน 2,749 คน ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศ 25,821 คน เช่นเดียวกับปริมาณขยะติดเชื้อโควิด-19 จากการรักษาที่บ้าน หรือ Home Isolation และขยะติดเชื้อทั่วไป เช่น ชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่พุ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า ปัจจุบันมีการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK วันละหลายแสนชิ้น ซึ่งไม่ว่าจะตรวจพบเชื้อหรือตรวจไม่พบเชื้อ ถือเป็นขยะติดเชื้อ มาตรการในการทิ้งขยะติดเชื้อจะต้องใส่ถุงแดง และมีการทำลายอย่างถูกต้อง
พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ตามบ้านทั่วไปจะไม่มีถุงแดง และมาตรการการเก็บขยะ ไม่มีการแยกขยะติดเชื้อ จึงเป็นปัญหาในการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ ถ้าทิ้งในขยะปกติที่ไม่ได้มีการแยกขยะ
ดังนั้น การตรวจน้ำเสีย ที่ทิ้งไปยังโรงบำบัดน้ำเสีย หรือตามแม่น้ำลำคลอง จึงสามารถตรวจพบ RNA ของไวรัสโควิดได้ สิ่งจำเป็นที่ทุกคนจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ หลังการตรวจคือการทำลายเชื้อในสิ่งที่ตรวจเสียก่อนที่จะนำไปทิ้ง
“สารเคมีที่สามารถทำลายไวรัสได้เป็นอย่างดีในทุกกลุ่ม ได้แก่สารในกลุ่มของฟอร์มาลีน ฟอร์มาลดีไฮด์ในทางปฏิบัติเราก็ไม่ได้ใช้กันตามบ้าน สารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ทำลายได้ดี ได้แก่สารที่มีส่วนประกอบของคลอรีน เช่น โซเดียมไฮโปคลอไรด์ หรือสารคลอรีนที่อยู่ในน้ำยาล้างห้องน้ำ ดังนั้น ATK ที่ใช้แล้ว ควรแยกทิ้งในขยะติดเชื้อหรือถุงแดง แต่ถ้าไม่มี ควรทำลายเชื้อเสียก่อนด้วยน้ำยาล้างห้องน้ำ ที่มีส่วนประกอบของคลอรีน โดยหยดลงไป 1-2 หยดแล้วห่อให้มิดชิดก่อนทิ้ง เพื่อเป็นการทำลายเชื้อเสียก่อน”
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ
รายงานข้อมูลขยะติดเชื้อ กทม. เฉพาะวันที่ 25 มี.ค. 2565 จำนวน 113.76 ตัน แบ่งเป็นขยะมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 49.02 ตัน มูลฝอยติดเชื้อทั่วไป 64.74 ตัน ขณะที่ภาพรวมทั้งประเทศโดยกรมอนามัย พบช่วงการระบาดระลอก 4 ปี 2565 ช่วงเดือน ก.พ. สูงสุดอยู่ที่ 330 ตันต่อวันโดยคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณสูงสุดในช่วงเดือน เม.ย. ประมาณ 789 ตันต่อวัน โดยพบว่าประชาชนยังคงกำจัดมูลฝอยติดเชื้อผิดวิธี
ขณะที่ ภาพรวมระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อมีอยู่ประมาณ 17 แห่ง และระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อที่โรงพยาบาลกำจัดเอง มีศักยภาพอยู่ที่ ประมาณ 342 ตันต่อวัน