กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยพบสายพันธ์ลูกผสม XE, XJ อย่างละคน จับตาแพร่เร็ว-หลบภูมิ เช็กเกณฑ์โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นในอีก 3 เดือน รักษาตัวในรพ.ยังเกิน 10% ยอดตายยังสูง ขณะที่ นพ.เฉลิมชัย ชี้จำนวนติดเชื้อยังไม่ถึงจุดพีค
การกลายพันธุ์เป็นธรรมชาติของไวรัส หากติดเชื้อจำนวนมากจะมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้ การติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ขึ้นไปในคนเดียว (Mixed Infection) จะมีโอกาสเกิดการผสมพันธุ์เป็นตัวใหม่หรือ “ไฮบริด” ซึ่งมีระบบการเรียกโดยใช้ “X” นำหน้า ขณะนี้มีประมาณ 17 ตัว ตั้งแต่ XA ถึง XS แต่ในระบบเฝ้าระวังของโลกคือ GISAID มีการยอมรับว่าเป็นลูกผสมจริง 3 ตัว คือ XA, XB และ XC
สำหรับไวรัสที่พบตั้งแต่ XD ลงไป ยังต้องวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้นก่อนจะสรุปได้ว่าเป็นตัวใหม่จริง ทั้งนี้ พบว่าสายพันธุ์ลูกผสมหลายตัวมาจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 + BA.2 เช่น XE XG XH XJ เป็นต้น โดยพบในประเทศที่แตกต่างกัน แต่ที่ต้องกำหนดชื่อแตกต่างกันเนื่องจากมีรหัสพันธุกรรมแตกต่างกัน และตำแหน่งที่ผสมไม่ตรงกัน
ขณะนี้ในประเทศไทย น่าจะพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสมแล้วอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ คือ XE กับ XJ
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถอดรหัสพันธุกรรมเพื่อเฝ้าระวังสายพันธุ์สัปดาห์ละ 500-600 คน เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2565 พบว่า มี 1 คนที่ใกล้เคียงกับ “XJ” ที่พบครั้งแรกในฟินแลนด์ ซึ่งเป็น BA.1 + BA เป็นผู้ป่วยชายไทย อายุ 34 ปี อาชีพพนักงานขนส่ง ซึ่งมีโอกาสพบเจอคนจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ขึ้นไปในคนเดียวได้ง่าย และมีโอกาสผสมพันธุ์เป็นตัวใหม่ แต่ยังต้องรอ GISAID วิเคราะห์ข้อมูลอีกมากก่อนจะสรุปว่าเป็นลูกผสมจริงหรือไม่ และอาจจะใช้ชื่อ XJ หรือไม่ก็ได้
ขณะที่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2565 ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดียืนยันพบผู้ติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ลูกผสม “XE” ที่พบครั้งแรกในอังกฤษแล้ ว1 คน รอตรวจสอบก่อนว่า ติดเชื้อจากไหน
องค์การอนามัยโลก WHO ระบุในรายงานระบาดวิทยารายสัปดาห์ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2565 ว่า โอมิครอนสายพันธุ์ “XE” จะยังคงถือเป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนจนกว่าจะมีรายงานที่แสดงถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้านการแพร่เชื้อและลักษณะของโรคซึ่งรวมถึงความรุนแรง แต่จากการประมาณการเบื้องต้น XE มีอัตราการแพร่เชื้อในชุมชนได้มากกว่าสายพันธุ์ BA.2 อยู่ราว 10% อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้จำเป็นต้องได้รับการยืนยันเพิ่มเติม
สำหรับโอมิครอนสายพันธุ์ “XJ” นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุยังไม่มีข้อมูลเรื่องการแพร่เร็วหรือรุนแรง เพราะเบื้องต้นจะต้องตรวจหาตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนแปลงรหัสพันธุกรรมก่อน และมาพิจารณาว่าตำแหน่งที่เปลี่ยนนั้นมีโอกาสหลบภูมิ ทำให้รุนแรง หรือแพร่เร็วมากขึ้นหรือไม่
“ประชาชนยังไม่ต้องกังวลเรื่องสายพันธุ์ลูกผสม ส่วนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มีการแพร่เชื้อเร็ว ทำให้มีโอกาสติดเชื้อมากขึ้น จึงขอให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงและป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน รวมถึงต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน”
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
การกลายพันธุ์จะกระทบการประกาศโรคประจำถิ่นหรือไม่?
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่าการเป็นโรคประจำถิ่นไม่ได้แปลว่าโรคนั้นไม่อันตราย ไม่ต้องมีมาตรการอะไรแล้ว กลับไปใช้วิถีชีวิตอย่างเดิมได้เลย เพราะต้องเข้าใจว่าในกรณีโรคโควิด-19 กลายพันธุ์มาแล้วหลายครั้ง
- “อัลฟ่า” ที่มาจากการระบาดใหญ่ในอังกฤษปลายปี 2563
- “เดลต้า” ที่มาจากการระบาดใหญ่ในอินเดียกลางปี 2564
- “โอมิครอน” ที่มาจากการระบาดในแอฟริกาปลายปี 2564
หากการกลายพันธุ์ไม่ทำให้ไวรัสมีความรุนแรงขึ้น ก็คงจบกันโดยเร็ว แต่ธรรมชาติมักอยู่เหนือความคาดหมาย เรามีอัลฟ่าที่แพร่เร็วขึ้น มีเดลต้าที่ทั้งเร็วและแรง โชคดีที่เบต้าเร็วสู้ไม่ได้ เรามีโอมิครอนที่เร็วขึ้นไปอีก แถมมีลูกหลานโอมิครอย BA.1 ,BA.2 ที่มาแรงทั้งเร็วและหลบภูมิได้ดี ทำให้การแพร่ระบาดกว้างขวางอยู่ในตอนนี้
“หวังว่าการกลายพันธุ์ที่เร็ว แรง และหลบภูมิมากขึ้น จะไม่เกิดขึ้น ซึ่งหากช่วยกันทำให้การแพร่เชื้อน้อยก็มีโอกาสกลายพันธุ์น้อย”
เมื่อเช็คเกณฑ์พิจารณา โควิด เป็นโรคประจำถิ่น ที่ตั้งเป้าวันที่ 1 ก.ค. 2565 ซึ่งเหลืออีกเพียง 3 เดือน พบว่า เกณฑ์โรคประจำถิ่น ผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 10,000 คนต่อวัน แต่สถานการณ์ปัจจุบัน (5 เม.ย.65) ผู้ติดเชื้อเกิน 20,000 คนต่อวัน ,อัตราป่วยตายน้อยกว่า 0.1% แต่ขณะนี้อัตราป่วยตายอยู่ 0.2%, รักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่า 10% ล่าสุดรักษาในโรงพยาบาล 28% และกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนอย่างน้อย 2 โดสมากกว่า 80% ขณะที่ผู้สูงอายุรับวัคซีนเข็ม 2 แล้ว 79.4%
ด้าน นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุขวุฒิสภา ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อพบคนไทยติดเชื้อสายพันธุ์ลูกผสม XE, XJ เคสแรกแล้ว ก็คงจะเป็นเรื่องที่คาดคะเนได้ไม่ยากว่า จะมีการแพร่ระบาดต่อไปในที่สุดส่วนจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทน BA.2 หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
“ถ้าสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่า ก็จะส่งผลกระทบ ทำให้การเข้าสู่จุดสูงสุดในระลอกที่สี่หรือระลอกมกราคม 2565 ล่าช้าออกไปอีก ส่วนความรุนแรงในการก่อโรค การดื้อต่อวัคซีน ก็จะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารกันต่อไป”
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุขวุฒิสภา
ในกรณีที่ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในมิติการแพร่ระบาด ความรุนแรงในการก่อโรค ตลอดจนการดื้อต่อวัคซีน ทางองค์การอนามัยโลกก็จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการพร้อมทั้งตั้งชื่อเป็นอักษรกรีกโบราณลำดับถัดไปคือ “Pi “ พาย