สธ. แจ้งสถานพยาบาล รับมือระบาดระลอกใหม่ “กรมควบคุมโรค” ยอมรับครึ่งปีหลังไทยป่วยโควิดขาขึ้น จับตา ก.ย.สูงสุดวันละ 4 พันคน “กรมวิทย์ฯ” ไม่ยืนยันเป็นเพราะ BA.4/BA.5 ด้าน “นพ.ยง” แนะกักตัว 10 วัน
วันนี้ 4 ก.ค. 2565 เพจเรื่องเล่าหมอชายแดนเปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า สถานการณ์โควิดระบาด กำลังกลับมา หากยังอยากจะใช้ชีวิตปกติ ขอประกาศให้ประชาชนทุกท่านยกการ์ดขึ้นให้เคร่งครัดโดยด่วนมันกลับมาแล้วเงียบๆ ใครไม่ประกาศเราต้องรู้เอง
โดยยกตัวอย่าง ผู้ป่วยคนไทย โรคประจำตัวตับแข็ง เบาหวาน ความดันสูงปฏิเสธการฉีดวัคซีนโควิด-19 มาตลอด ไม่ว่าจะชักจูงรูปแบบไหน คนไข้เดินมานอนโรงพยาบาล ด้านซ้ายคือเอกซเรย์ปอดแรกรับ ให้ยาเรมเดซิเวียร์ ฉีดอย่างรวดเร็ว 12 ชั่วโมง ต่อมาเหนื่อยมากจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เอกซเรย์ คือด้านขวา
3 วันต่อมา คุณหมอที่ใส่ท่อช่วยหายใจให้เขาติดโควิดด้วย ทั้งๆที่ใส่อุปกรณ์ป้องกันเต็มที่ แต่อยู่ในห้องปิดเป็นเวลานานกว่าจะได้ย้ายไอซียู ดีที่หมอฉีดวัคซีน 4 เข็ม จึงมีอาการเล็กน้อย ไข้สูง เจ็บคอ กักตัวครบ 7 วันก็มาทำงานวันนี้วันแรก
“อยากบอกว่าใครยังดื้อไม่มาฉีด ให้มาฉีดเถอะ วัคซีนไม่ได้น่ากลัวเลย ผลข้างเคียงเล็กน้อยอยู่ในเกณฑ์รับได้ ฉีดแล้วจะได้ปลอดภัยไม่อายุสั้น ส่วนคนไข้คนนี้เขาก็เข้าใจแล้วถึงโทษของการไม่ฉีดวัคซีน กรุณาอย่าคอมเมนต์พาดพิงถึงเขาเลย”
เพจเรื่องเล่าหมอชายแดนระบุ
ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มองว่า จำนวนการติดเชื้อเพิ่มขึ้นยังไม่ชัดว่า มาจากโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4/BA.5 หลบภูมิคุ้มกัน และสามารถติดซ้ำได้ แต่แนวโน้มการติดเชื้อสายพันธุ์ย่อยใหม่BA.4/ BA.5 คาดการณ์ว่าเร็วๆจะเข้ามาแทนสายพันธุ์เก่า และครองสัดส่วนการติดเชื้อในประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 11-17 มิ.ย.65 ตรวจพบประมาณ 6% วันที่ 18-24 มิ.ย.65 พบเพิ่มเป็น 44.3% สัปดาห์นี้ 25 มิ.ย.-1 ก.ค. พบเพิ่มเป็น 51.7% โดยตรวจพบเชื้อในเกือบทุกเขตสุขภาพ พบมากสุดใน กทม. จำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์44 คน หรือ 29.5%
ยอมรับโควิดขาขึ้น
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกล่าวว่าแนวโน้มมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณเตือนเริ่มต้น ว่า กรุงเทพฯปริมณฑล จังหวัดใหญ่ จังหวัดท่องเที่ยว ต้องพิจารณาควบคุมการระบาดบางส่วน อาจจะต้องเพิ่มมาตรการป้องกันโรค เช่น การสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะพื้นที่รวมกลุ่มคนมากๆ ขนส่งสาธารณะทุกประเภท
ทั้งนี้ สถานที่เสี่ยง พบระบาดกลุ่มก้อนในจังหวัดเหล่านี้ รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ โรงเรียน สถาบันการศึกษาหลายจังหวัด โดยพบเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ ซึ่งคุมได้ แต่อาจจะแพร่สู่ครอบครัว กลุ่ม 608 ได้
ข้อมูลระบบ HI เคยมีผู้ป่วยเข้าระบบหลักหมื่นคน ตอนนี้เพิ่มมาเป็น 1.4 หมื่นคนอาจจะเป็นไปได้ว่ามีการระบาดเล็กๆ ในครอบครัว จึงรักษาด้วยตนเองและลงทะเบียบรับยากับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้ OPSI เพิ่มขึ้นจากประมาณ 191,000 ราย เป็นประมาณ 207,000 ราย เพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
จากการประเมินหลังวันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป จนถึงปี 2566 ตั้งแต่สัปดาห์นี้ไปจนถึง 10 สัปดาห์ข้างหน้า จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น แต่อาจจะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลไม่มากเท่าช่วงที่เชื้อโอมิครอนระบาดระบาดใหม่ๆ เนื่องจากวัคซีนฉีดไปเป็นจำนวนมาก และหากยังป้องกันใกล้เคียงก่อนผ่อนคลายมาตรการกราฟจะไม่สูงมาก แต่หากผ่อนคลายหมด คนไม่สวมหน้ากากเลย เส้นกราฟจะสูงมาก โดยคาดว่าเดือน ก.ย. สูงสุดวันละ 4,000 คน
สำหรับภาพรวมผู้ป่วยปอดอักเสบเข้าโรงพยาบาล และครองเตียง ทั้งประเทศราว 10.9% บางจังหวัดมีการปรับเตียงไปใช้ดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ แล้ว เหลือเตียงสำหรับโควิด-19 ไว้บางส่วน จึงทำให้ดูเหมือนว่า สัดส่วนอัตราการครองเตียงสูงขึ้น แต่การครองเตียงที่ระดับ 20-30% ยังสามารถรองรับได้ เพราะเกณฑ์การรองรับคือ 50% หากเกินนี้จึงจะมีมาตรการเพิ่มเตียงได้
แนะกักตัว 10 วัน
วันเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ระยะนี้มีผู้ป่วยจำนวนมาก มีคำถามว่าต้องแยกเก็บตัวผู้ติดเชื้อโควิด 19 หรือป้องกันการติดเชื้อสู่ผู้อื่นกี่วัน เพราะในช่วงหลังเราลดระยะลงมา
จากการศึกษา เผยแพร่ถึง 2 วารสาร คือวารสารสมาคมแพทย์อเมริกัน JAMA และใน New England Journal of Medicine ที่เป็นวารสารชั้นนำของโลก โดยดูจากการเพาะเชื้อ ถ้าไวรัสยังมีชีวิตอยู่ก็สามารถเพาะเชื้อเจริญเติบโตขึ้นมาได้ในเซลล์เพาะเลี้ยง แสดงว่ายังสามารถแพร่กระจายเชื้อได้
จากการศึกษาทั้งสองวารสาร มีผลที่คล้ายกันมาก คือเชื้อจะลดลงหลัง 7 วันไปแล้ว และจะพบได้น้อยมาก ต้องหลัง 10 วันไปแล้ว โดยนับตั้งแต่วันที่เริ่มมีอาการระยะเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ติดเชื้อแบบมีอาการ หรือมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ ระยะเวลาก็ยังคงเหมือนกัน แต่ระดับปริมาณไวรัส และเปอร์เซ็นต์การตรวจพบในผู้มีอาการน้อยจะพบได้น้อยกว่า
เช่นเดียวกันผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้วหรือไม่ได้ฉีดวัคซีน ระยะเวลาการแพร่เชื้อก็ไม่ได้ต่างกัน เป็นเพียงต่างกันในปริมาณของไวรัส และอัตราการตรวจพบในผู้ที่ฉีดวัคซีนมาแล้วจะน้อยกว่า แต่ระยะเวลา ก็ยังคงเป็น 10 วันเหมือนเดิม
สธ. แจ้งสถานพยาบาล เตรียมรับมือโควิดระลอกใหม่
เพจ ชมรมแพทย์ชนบท ได้เปิดเผยข้อความ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีหนังสือสั่งการ ด่วนที่สุด ถึง ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ให้หน่วยบริการสุขภาพในสังกัด เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ การระบาด “โควิด” ระลอกใหม่ ที่มีแนวโน้ม ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้น ในหลายพื้นที่เตรียมสำรองเตียง เตรียมรับผู้ป่วยหนักและการรับส่งต่อขอประชาชนอย่าได้ประมาท
โดย กระทรวงสาธารณสุข เห็นควรแจ้งสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขเตรียมความพร้อม ดังนี้
- สื่อสารให้บุคลากรทางการแพทย์ รับทราบสถานการณ์ผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมความพร้อมการให้บริการ และระมัดระวังป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ
- สำรวจและเตรียมความพร้อมด้านยา เวชภัณฑ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ป้องกัน การติดเชื้อเพื่อสามารถให้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เตรียมพร้อมในการสำรองเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
- เตรียมพร้อม และซักซ้อมระบบการส่งต่อผู้ป่วย
- เร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้บุคลากร-ประชาชนอย่างครองคลุม โดยเป็นไปตามความสมัครใจ
- ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนป้องกันการติดเชื้อ และการแพร่กระจายเชื้อ
- บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อวางแผนในการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาด
- รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วนอย่างต่อเนื่อง