กลุ่มอุตสาหกรรมหนัง เชื่อ การชมภาพยนตร์ที่ดีที่สุด ควรเกิดขึ้นที่โรงหนัง แม้ พฤติกรรมคนดูเปลี่ยน คนทำหนังต้องเข้าใจ ปรับตัว ปรับกลยุทธ์ มั่นใจโอกาสหนังไทย โอบรับผู้ชมหลากหลายขึ้น ไม่จำกัดแค่หนังตลก หนังผี
การมาถึงของแพลตฟอร์ม สตรีมมิ่งภาพยนตร์ต่าง ๆ เติบโตอย่างรวดเร็วภายในเพียงไม่กี่ปี ผู้คนคุ้นชินกับดูคลิปสั้น หรือแม้กระทั่งการดูหนังไปพร้อมกับการเล่นโซเชียลมีเดีย ทำให้วันนี้วัฒนธรรมการชมภาพยนตร์เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นี่จึงเป็นคำถามสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ว่า จะปรับตัว เปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาไปในทิศทางใด เพื่อให้เดินไปข้างหน้าต่อได้อย่างยั่งยืน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ภายในวงเสวนา เรื่อง การเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจภาพยนตร์ “Film Changes” ส่วนหนึ่งในงาน Open House & Synergy Talk: Creative Change 2025 ที่หลายฝ่ายได้ร่วมกันสะท้อนการเปลี่ยนแปลงนี้ ผ่านสายตาของผู้กำกับ ผู้ผลิต นำเข้า และโรงภาพยนตร์ไว้อย่างเข้มข้น น่าสนใจ

โรงหนังยังจำเป็นไหม ? เมื่อสตรีมมิงเข้ามาท้าทายคนทำหนัง
พิทยา สิทธิอำนวย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดต่างประเทศ บริษัท สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้ผลิตและนำเข้าภาพยนตร์จากต่างประเทศ อธิบายว่า ตอนนี้ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก และมีคนดูหนังกลุ่มหนึ่งหายไปจากตลาดโรงหนังเพราะการเกิดขึ้นของโควิด-19
“ผมเคยเชื่อว่าลูกค้ากลุ่มใหญ่ของโรงหนังคือวัยทีน วัยรุ่นมัธยมต้น-ปลาย แต่หลังโควิด คนกลุ่มนี้หายไปเพราะเขาไม่เคยได้เข้าโรงหนังในช่วงวัยของเขา จึงต้องดูหนังผ่านมือถือ แท็บเล็ตเป็นส่วนใหญ่”
พิทยา สิทธิอำนวย
อีกสิ่งหนึ่งที่ พิทยา สังเกตเห็น ไม่เพียงแต่เด็กวัยรุ่นกลุ่มคนดังกล่าว แต่คนทั่วไปก็มีช่วงเวลาจดจ่อ (attention span) สั้นลงมาก เพราะคุ้นชิ้นกับการดูคลิปสั้นอย่าง TikTok และ Reel รวมถึงอ่านหนังสือน้อยลง ทำให้ผู้ผลิตก็ต้องปรับตัวตามเช่นกัน
“เมื่อก่อน การขายหนังสักเรื่อง จะดึงดูดคนดูได้อาจใช้เวลาสั้นระดับนาที แต่ตอนนี้ เราต้องทำให้ 15 วินาทีแรกฮุกคนอยู่ให้ได้ ตอนนี้ พอคนเห็นหนังสักเรื่อง เขาต้องการรู้ให้เร็วที่สุดว่าเขาจะได้อะไรจากหนังเรื่องนี้ การทำตัวอย่างหนังก็ต้องปรับให้คน get to the point ให้เร็วกว่าเดิมมาก ๆ จนเหลือแค่ 15 วินาทีแรกเท่านั้น”
พิทยา สิทธิอำนวย

สอดคล้องกับ พิมสิริ ทองร่มโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า นี่คือยุคสมัยที่ท้าทายคนทำหนังที่สุด ที่จะทำอย่างไรให้คนออกจากบ้านมาซื้อตั๋วและเข้าโรงหนัง แต่ยังเชื่อมั่นว่า อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์กับโรงหนังเป็นของที่ต้องอยู่คู่กัน ขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไปไม่ได้
“โรงหนังกับหนังก็เหมือนสามี-ภรรยา ขาดกันและกันไม่ได้ แต่ตอนนี้ทุกอย่างในโลกมันเร็วมาก จุดท้าทายคือ คนเสพข่าวไม่ทัน จะทำอย่างไรให้คนรู้ว่ามีหนังเรื่องที่เขาสนใจออกฉายแล้ว และทำให้เขาออกจากจอมือถือแล้วมาเข้าโรงหนังให้ได้”
พิมสิริ ทองร่มโพธิ์
สิ่งท้าทาย สร้างหนังดี ๆ สักเรื่องในยุคนี้
ศิวโรจน์ คงสกุล ผู้กำกับภาพยนตร์และซีรีส์ “สืบสันดาน” ที่ออกฉายทาง Netflix อธิบายว่า แม้ตอนนี้ วิธีการดูหนังของผู้คนจะเปลี่ยนไปแล้ว เพราะทุกคนดูหนังได้ทุกที่ไม่ว่าจะคอมพิวเตอร์หรือจอเล็ก ๆ อย่างมือถือ แต่เชื่อว่าการชมภาพยนตร์ที่ดีที่สุดควรเกิดขึ้นที่โรงหนัง และมั่นใจว่าความนิยมในการดูหนังในโรงจะอยู่ไปอีกนานเหมือนกับที่ทุกวันนี้เราฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้แล้ว แต่ยังมีคนนิยมแผ่นเสียงอยู่นั่นเอง
ในฐานะผู้ผลิตในอุตสหกรรมภาพยนต์ ศิวโรจน์ มองว่า การสร้างภาพยนตร์ดี ๆ สักเรื่องในตอนนี้เป็นเรื่องท้าทาย และทำให้ผู้ผลิตหลายรายถอดใจไป อาจต้องใมีปรับตัวอย่างมากเพื่อให้เหมาะกับพฤติกรรมของคนดู แต่หากมีวิธีคิดต่อการสร้างหนังสักเรื่องมาอย่างดี ไม่ฉาบฉวย ก็จะยืนระยะได้ยาวนาน
“ภาพยนตร์เป็น พาณิชยศิลป์ หรืองานศิลปะราคาแพง ใช้กำลังแรงงานหลายร้อยชีิวิต แม้มีราคาสูงที่ต้องจ่าย แต่สิ่งนี้ไม่ใช่ปัญหาหลักของการทำภาพยตร์ ปัญหาคือการขาดความมุ่งมั่นต่อเนื่องของผู้ผลิต หลายครั้งที่คนทำหนังท้อแท้ เอาความล้มเหลวมาเป็นก้อนดำในใจ แล้วออกไปบอกผู้คนว่านี่ไง ดูสิ ทำหนังแบบนี้มันไม่เวิร์กเลย ความมุ่งมั่นที่มีก็หายไป สิ่งสำคัญของคนทำหนัง คือ การสัมผัสถึงคุณค่าของภาพยนตร์จริง ๆ และอยู่กับมันนานพอ เพราะหากทำหนังเหมือนมาเที่ยวเล่นแล้วจากไป มันเหมือนเข้ามาในบ้านเพื่อนแล้วรีบตัดสินว่าบ้านนี้สกปกรก นั่นเพราะคุณเป็นเพื่อนกับเขาไม่นานพอต่างหาก”
ศิวโรจน์ คงสกุล

สุดท้ายแล้ว ความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยสักเรื่องไม่ได้มาจากเนื้อหาที่ดีจากผู้ผลิตเท่านั้น แต่ยังต้องมีทั้งโรงภาพยนตร์ การโปรโมท นายทุน และอีกหลายฝ่ายเป็นองค์ประกอบ แม้การผลิตหนังสักเรื่องมีราคาสูงที่ต้องจ่าย แต่สิ่งสำคัญที่สุด กลับย้อนไปที่ความมุ่งมั่น ทำจริง ของคนทำหนังมากกว่า
ขณะที่ พิทยา ก็มองว่า ในมุมของคนทำธุรกิจ การลงทุนในภาพยนตร์เป็นเกมยาว ไม่สามารถตัดสินใจจากการฉายหนังแล้วล้มเหลวเพียงไม่กี่ครั้งได้ การมองหนังเห็นความสำเร็จของภาพยนตร์สักเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องกำไรขาดทุน แต่เป็นการเรียนรู้จากความล้มเหลวและหาทางแก้ไขในครั้งต่อไป และยังเป็นเรื่องของจังหวะและการโปรโมทด้วย
“ในทางธุรกิจ เราวัดความสำเร็จที่กำไร-ขาดทุน แต่คนดูหนังไม่ใช่นักธุรกิจ เขาเลือกดูหนังจากความพอใจซึ่งบางครั้งเราก็อธิบายไม่ได้ จึงต้องดูกันระยะยาว บางเรื่องไม่สำเร็จเราก็เสียใจ แต่จะไม่ถอดใจ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์ควรคำนึง คือ การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดว่าอะไรทำให้หนังเรื่องนั้นล้มเหลว หารูรั่วแล้วอุดให้ได้ อะไรผิดพลาดแล้วไม่ทำซ้ำ ผมเชื่อในกระบวนการมากกว่าความสำเร็จ บางทีเราไม่เข้าใจเลยว่าทำไมหนังแบบนี้ทำเงินได้ หรือหนังบางเรื่องที่ว่าดีแต่ทำเงินไม่ได้ แต่เรายังเชื่อในการทำหนังที่ดี ว่าวันหนึ่งมันจะทำงานกับคนดูและธุรกิจหนังได้ในระยะยาว”
พิทยา สิทธิอำนวย
วงการหนังไทยเบ่งบาน : เมื่อวันนี้ ไม่ได้มีแค่หนังผี-ตลก
สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องน่ายินดี คือวันนี้วงการหนังไทยไม่ได้มีแต่หนังผี หรือหนังตลกอีกต่อไป แต่เต็มไปด้วยความหลากหลายอย่างชัดเจน เรามีหนังดรามาที่มียอดผู้ชมสูงขึ้นกว่าแต่ก่อน และมีหนังกลุ่ม LGBTQ+ ที่ตอบโจทย์ผู้ชมอย่างเจาะจงมากขึ้น
พิมสิริ อธิบายว่า เมื่อก่อนหนังบางประเภท แค่ได้เห็นหน้าหนังก็รู้แล้วว่าไม่ทำเงิน แต่ตอนนี้คนดูแต่ละกลุ่มจำเพาะเจาะจงกว่าแต่ก่อนมาก ในทางการตลาดจะคิดแทนคนดูแบบเดิมไม่ได้อีกต่อไป

“เมื่อก่อน หนังที่เราเห็นแล้วรู้กันว่าไม่ทำเงินแน่คือหนังดรามา เราเชื่อว่าคนไทยไม่ชอบหนังเศร้า การสร้างหนังตลกหรือหนังผีจึงมีความเป็นไปได้มากกว่าในบ้านเรา แต่ในปีที่ผ่านมา เราเห็นหนังอย่าง ‘หลานม่า’ (2567) ที่ประสบความสำเร็จมาก และยังเดินทางต่อไปยังต่างประเทศต่อได้อีก หรือ ‘วิมานหนาม’ (2567) ที่ค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แบบที่เดิมที่เราคิดว่าคนไทยไม่ชอบดู แต่กลับประสบความสำเร็จและทะลายข้อจำกัดบางอย่างของวงการหนัง แม้กระทั่ง ‘วัยหนุ่ม 2544’ (2567) ที่ทำงานกับคนดูอย่างมาก”
พิมสิริ ทองร่มโพธิ์
สอดคล้องกับ พิทยา ที่มองว่า ในทางธุรกิจภาพยนตร์ จะใช้หลักการตลาดที่มีกลุ่มเป้าหมายจำนวนมาก (mass marketing) มาทำงานไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะสังคมไทยแบ่งกลุ่มความชอบที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นจริง
“ความวุ่นวายของคนทำหนังยุคนี้ คือ ความชอบในการดูหนังของคนไทยแยกย่อยออกไปหลายแบบมาก เราจะทำการตลาดแบบเดิมไมได้อีกต่อไป แต่จำเป็นต้้องรู้จักกลุ่มเป้าและรู้ว่าจะสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ด้วยข้อความแบบไหน”
พิทยา สิทธิอำนวย
เช่นเดียวกับ ศิวโรจน์ ที่ย้ำว่า ความหลากหลายนี้ทำให้ตนเองมีความหวังกับวงการภาพยนตร์ ตอนนี้อาจยังคุยกันถึงปัญหาที่ปลายทาง แต่จะให้วงการหนังไทยดีกว่านี้ได้อาจต้องมีการวางแผนร่วมกันทุกฝ่าย
“ภาพยนตร์เป็นงานศิลปะที่มีในโลกไม่กี่ร้อยปี ทุกคนยังมีเรื่องต้องเรียนรู้และค้นคว้าร่วมกันอีกมาก วิธีหนึ่งอาจเป็นการเก็บสถิติคนดูภาพยนตร์ในโรงหนัง แล้วเอานักเขียนบท ผู้กำกับ โรงหนัง ฯลฯ มานั่งคุยกันว่ามีอะไรจะทดลองร่วมกันเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหนังในบ้านเรา และส่งสิ่งนี้ต่อไปยังผู้ชมได้บ้าง”
ศิวโรจน์ คงสกุล
ท้ายที่สุดแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า การผลักดันภาพยนตร์สักเรื่องต้องอาศัยการผลิตและผลักดันอย่างมีคุณภาพ ทุกองคาพยพของอุตสาหกรรมหนังจำเป็นต้องปรับตัวไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลงและทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
“เวลาหนังสักเรื่องเอาดาราดังมาเล่น มันคือการทำหนังให้กับแฟนคลับดูแและเชื่อว่าแฟนคลับจะช่วยโปรโมทหนัง แต่แท้จริงแล้ว เราไม่ควรสร้างหนังสักเรื่องเพื่อแฟนคลับดาราโดยเฉพาะ เราเชื่อว่าหนังแต่ละเรื่องมีกลุ่มผู้ชมเฉพาะของมัน ถ้าหนังดีจริง ผู้ชมเหล่านั้นต่างหากจะทำหน้าที่แบบแฟนคลับที่ช่วยโปรโมทหนังเอง”
พิมสิริ ทองร่มโพธิ์