Doc Club & Pub เผย อุปสรรคการทำ micro cinema ไม่ใช่เรื่องของโลเคชั่น ทุน หรือ คอนเทนต์ ชี้ชัดต้องแก้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ – กฎกระทรวง ให้พื้นที่ฉายหนังขนาดเล็กเกิดขึ้นได้อย่างอิสระ
วันนี้ (16 ธ.ค. 67) เพจ Doc Club & Pub. ประกาศแจ้งหยุดให้บริการในส่วนของการฉายภาพยนตร์ลงแล้ว โดยระบุเหตุผลถึงการตัดสินใจหยุดให้บริการครั้งนี้ว่า
- เราเข้ามาทำพื้นที่ส่วนนี้ต่อจากเจ้าของเดิมที่ตัดสินใจเลิกกิจการไปในช่วงโควิด-19 เนื่องจากเรามีความใฝ่ฝันอยากมีสเปซฉายหนังนอกกระแสและหนังสารคดีเป็นของตัวเองมานานแล้ว และน่าเสียดายหากที่ที่มีความพร้อมด้านองค์ประกอบต่าง ๆ แทบทุกอย่างแห่งนี้จะต้องถูกรื้อถอนทิ้งไป
- แม้เราจะทำงานเกี่ยวข้องกับหนังกันมานานเราก็ขาดความรอบรู้เพียงพอในหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำที่ฉายหนัง อันเป็นกิจการที่เราไม่เคยทำมาก่อน หนึ่งในนั้นคือการไม่รู้ว่าที่นี่ยังขาดการขออนุญาตการเป็นโรงมหรสพ
- เราทำงานด้วยความไม่รู้นั้นมาเรื่อยๆ จนเมื่อเราจัดฉายหนังเรื่องหนึ่งที่ได้เรต 20+ ทำให้เจ้าหน้าที่เดินทางมาตรวจว่าเราควบคุมการเข้าชมของผู้ชมถูกต้องหรือไม่ และวันนั้นเองที่ทำให้เราถูกถามเรื่องการขออนุญาตเป็นโรงมหรสพดังกล่าวพ่วงไปกับการตรวจด้วย เมื่อได้รู้แล้วเราจึงลงมือดำเนินการจัดเตรียมเอกสารแล้วไปยื่นขอตามที่เจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำ
- ในช่วงระยะเวลาร่วมปีที่คาบเกี่ยวกันนั้น เป็นช่วงที่พวกเรากำลังพยายามมีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า micro cinema หรือโรงภาพยนตร์/ที่ฉายหนังขนาดเล็กๆ ทั่วประเทศ เพราะตลอดการทำงานที่ผ่านมา เราพบว่ามีสเปซมากมายในหลากหลายจังหวัดที่อยากนำหนังนอกกระแสไปเผยแพร่ มีกลุ่มผู้ชมที่ไม่สามารถพบเจอหนังเหล่านี้ในโรงทั่วไปและเฝ้ารอโอกาสที่จะได้ชม เราจึงพยายามส่งหนังของเราไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างวัฒนธรรมแห่งการชมหนังด้วยกันอย่างหลากหลายและเป็นอิสระ เพราะเราเชื่อว่านี่แหละคือรากฐานที่สำคัญของการมีอุตสาหกรรมหนังที่แข็งแรง
- และเป็นเพราะการทำงานในข้อ 4 นี้เอง ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า อุปสรรคสำคัญที่สุดที่จะทำให้ micro cinema เกิดขึ้นได้ยากนั้น ไม่ใช่เรื่องของโลเคชั่น ทุน หรือแม้แต่คอนเทนต์ มากเท่ากับการที่ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และกฎกระทรวงในปัจจุบัน ซึ่ง ใช้หลักเกณฑ์ในการอนุญาตตัวอาคารและโรงมหรสพ เกณฑ์เดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นโรงขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้าขนาดยักษ์ หรือห้องฉายหนังเล็กจิ๋วในอาคารห้องแถว ทั้งเรื่องการกำหนดระยะทางเดิน ความกว้างของบันได ฯลฯ
หรือกล่าวง่าย ๆ ก็คือ อาคารที่เราตั้งอยู่และอาคารโดยทั่วไปส่วนใหญ่ที่เราพบเห็นในประเทศนี้จะไม่สามารถได้รับอนุญาตให้เป็นที่ตั้งของห้องฉายหนังได้เลย สิ่งที่เรียกว่า “โรงหนังห้องแถว” ไม่สามารถมีอยู่จริงได้ในบริบทนี้ และสำหรับประเทศของเรา โรงมหรสพจะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะในอาคารที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เท่านั้น น่าสนใจที่ในอารยประเทศ หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเวียดนาม เขาไม่นับโรงเล็กเหล่านี้ว่าเป็น “โรงมหรสพ” - มีเรื่องเล่าเพิ่มเติมเล็กน้อย ในวันที่เราไปยื่นเอกสารขอจดเป็นโรงมหรสพและถูกท้วงติงกลับมาว่ายังขาดใบอนุญาตอาคารนั้น เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีที่ฉายหนังแบบเราไปขออนุญาตมาก่อนเลย จึงสงสัยอยู่เหมือนกันว่าควรจะทำอย่างไร
- หลังจากนั้น เราได้พยายามสื่อสารถึงอุปสรรคข้อนี้ออกไปในที่สาธารณะและเวทีพูดคุยเรื่อง micro cinema ต่าง ๆ โดยนำเสนอความคิดเรื่องการปรับแก้กฎกระทรวงให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นไปยังผู้ที่อาจจะเกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ดี ความพยายามของเราไม่อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ทันการ ไม่กี่วันหลังจากไปพูดบนเวทีดังกล่าว เราก็ได้รับจดหมายจากกระทรวงแจ้งว่า พวกเราทำการเปิดกิจการฉายหนังโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงินจำนวนหนึ่งซึ่งสูงพอสมควร (โชคยังดีเล็กน้อยที่คำตัดสินให้เลือกได้ว่าจะถูกลงโทษด้วยการบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะแทนก็ได้หากไม่มีเงิน ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องเลือกข้อนี้) - นั่นเป็นจดหมายฉบับแรก เรายังพยายามเสนอความคิดเรื่องการแก้กฎหมายต่อไปเพราะหวังว่าอย่างน้อย หลังจากนี้ทั้งเราและทุกคนควรจะมีโอกาสได้ทำที่ฉายหนังเล็กๆ ได้เพื่อร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการดูหนังได้ แต่ไม่กี่วันหลังจากนั้น จดหมายฉบับที่สองซึ่งว่าด้วยตัวอาคารก็ตามมา พร้อมคำสั่งให้เราหยุดการฉายภาพยนตร์
- ดังนั้น Doc Club & Pub. จึงจำเป็นต้องหยุดให้บริการเฉพาะในส่วนของการฉายภาพยนตร์และจำหน่ายบัตรดังที่ทำอยู่ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป แต่เราจะยังจัดกิจกรรมอื่น ๆ ต่อ พร้อมกับมองหาอาคารสถานที่แห่งใหม่ที่จะเอื้อให้เรากลับมาทำพื้นที่ฉายภาพยนตร์เล็ก ๆ ได้
อย่างไรก็ตาม เรายังขอยืนยันว่ากฎหมายที่มีอยู่นั้น จำเป็นที่สุดที่จะต้องถูกแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อให้พื้นที่ฉายหนังขนาดเล็กเกิดขึ้นได้อย่างเป็นอิสระ หรืออย่างน้อยก็อยู่ภายใต้กฎกติกาที่เหมาะสม และมุ่งส่งเสริม ไม่ใช่มุ่งปราบปรามทำลาย - สุดท้ายนี้ เราขอขอบคุณทุก ๆ ท่านมาก ๆ นะคะที่กรุณาสนับสนุน Doc Club & Pub. มาโดยตลอด หากไม่มีทุกท่าน เราก็ไม่สามารถจะยืนอดทนมาจนถึงตอนนี้ได้แน่นอน และต้องขออภัยอย่างที่สุดที่ความอ่อนด้อยทำให้เราเดินมาถึงได้แค่ตรงนี้
“หากสิ่งที่เราทำยังพอมีความสำคัญ เราก็จะพยายามหาโอกาสเผยแพร่หนังดี ๆ อีกจำนวนมากที่เราติดต่อไว้ และทำกิจกรรมอีกหลายอย่าง รวมถึงเทศกาลหนังที่เราวางแผนไว้”
ภายหลัง Doc Club & Pub. ออกมาประกาศดังกล่าว ผู้คนในโลกออนไลน์ได้ร่วมแสดงความเห็นกันกว้างขวาง อาทิ
“สนับสนุนการแก้กฎหมาย และเป็นกำลังใจให้ทีมงาน doc club ทุกท่านนะครับ เรายังอยากเห็นพื้นที่เล็ก ๆ ที่สามารถฟูมฟักความรักหนัง ส่งเสริมการทำงานเชิงสร้างสรรค์ได้ต่อไป โดยไม่ถูกกำหนดด้วยเงื่อนไขว่าด้วยพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งเอื้อเฟื้อเพียงนายทุนครับ”
“รัฐบาลนี้สนับสนุนอุตสาหกรรมวัฒนธรรม (ซอฟต์พาวเวอร์ ?) มีการตั้ง thacca ก็น่าจะลงมาดูแลเรื่องนี้นะ เชื่อว่าแก้ไขได้ไม่ยาก”
“Space ทางวัฒนธรรมที่ดีขนาดนี้ ยังไม่ถูกยอมรับ ส่งเสริม และผลักดันจากรัฐ ก็ไม่รู้จะว่ายังไง ไม่สร้างสรรค์แล้วยังจะมาทำลายอีก ไม่รู้แบบนี้จะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งไปทำไม เอ๊ะ หรือไม่มี”
“สนใจอยากทำ micro cinema อยู่พอดี เจอแบบนี้แล้วท้อเลย กฎหมายล้าหลัง ผูกขาดทุนใหญ่ คงต้องรอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ครับ รออย่างมีความหวังไปด้วยกันครับ”
สำหรับ Doc Club & Pub. คือ โรงหนังขนาดเล็ก หรือที่เรียกกันว่า micro cinema เป็นพื้นที่ฉายหนังสารคดีนอกกระแสที่มีชื่อเสียงและถูกยอมรับอย่างวงกว้าง ในวงการหนัง นอกจากฉายหนังแล้วสถานที่ตรงนี้ก็เป็นพื้นที่ในการจัดเสวนาพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการทำหนัง ที่ดันเพดานการพูดคุยที่กว้างขึ้น และประเด็นยึดโยงกับสังคม แต่อย่างที่ Doc Club & Pub. ได้ชี้แจงไปว่ากฎหมายและความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ยังคงเป็นอุปสรรค ไม่เอื้อให้เกิดพื้นที่โรงหนังขนาดเล็กขึ้นได้ กรณีนี้นับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และคงต้องติดตามกันต่อไป
ก่อนหน้านี้มีการผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. …. ที่เสนอโดย อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะ โดยมองว่า กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้ง การจำกัดเสรีภาพเกินสมควร จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย ไม่สามารถทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ
ทั้งนี้การเสนอเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญจากเดิมในส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประกอบของ คณะกรรมการภาพยนตร์แห่งชาติ ให้มีภาคส่วนอื่นนอกเหนือจากภาครัฐได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศไทย, เปลี่ยนแปลงอำนาจหน้าที่บางประการของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์แห่งชาติ, การยกเลิกการกำหนดประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่, การปรับเกณฑ์อายุผู้ชมภาพยนตร์ เพื่อลดอำนาจการควบคุมจากภาครัฐ
ตลอดจน การปรับมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก, การยกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการประกอบกิจการวีดิทัศน์ ซึ่งหมดความจำเป็นในปัจจุบัน และการยกเลิกโทษทางอาญา โดยให้ใช้มาตรการปรับทางพินัยแทน เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการภาพยนตร์ในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมมากกว่าการควบคุม และสนับสนุนเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงสื่อภาพยนตร์ได้กว้างขวางมากขึ้น
ที่มา :Doc Club & Pub
อ้างอิง ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. ….