‘สมาคมเทศบาล’ คัดค้าน ‘ประมวลท้องถิ่นฯ’ ขัดหลักกระจายอำนาจ พา อปท. ถอยหลังเข้าคลอง

3 สมาคม อปท. แสดงจุดยืนคัดค้าน ร่างประมวลกฎหมายท้องถิ่น เหตุลดบทบาท จำกัดอำนาจ และถูกควบคุมมากเกินไป ‘พงษ์ศักดิ์’ ขอทบทวนร่างกฎหมาย ยึดหลักความแตกต่างหลากหลายของท้องถิ่น

วันนี้ (10 มี.ค. 2565) ณ อาคารชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี ผู้บริหารเทศบาลทั่วประเทศ เข้าร่วมการประชุมและสัมมนาทางวิชาการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 ภายหลังการปาฐกถาพิเศษของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายกสมาคมฯ พร้อมด้วยผู้บริหารเทศบาล ได้อ่านแถลงการณ์ และสแดงจุดยืนคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งอยู่ในระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยนั้น

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครยะลา และนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย กล่าวแสดงจุดยืนในนามสมาคมฯ และสมาชิกเทศบาลทั่วประเทศว่า ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวนั้น บทบัญญัติบางมาตราขัดต่อรัฐธรรมนูญ และหลักการกระจายอำนาจ ไม่เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ที่ควรมีความแตกต่าง หลากหลาย จนอาจนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างท้องถิ่น

“หากประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว เหมือนพาท้องถิ่นถอยหลังเข้าคลอง พยายามจำกัดอำนาจหน้าที่ให้กลับไปตามกฎหมายจัดตั้งเดิม ความหลากหลายของแต่ละเทศบาลหายไป เพราะจะไม่มีเทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนครอีก อีกทั้ง อบต. ยังถูกยุบมาเป็นเทศบาลทั้งหมด ซึ่งไม่สอดคล้องกับบริบท และหลักปรัชญาของท้องถิ่น สมาคมจึงขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว”

พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ

พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากสมาคมเทศบาลฯ แล้วยังรวมถึงสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต. ด้วยที่ไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้ร่างกฎหมายดังกล่าว เพราะจำกัดบทบาทหน้าที่ของท้องถิ่น ทำให้การดำเนินงานไม่เป็นอิสระ และไม่มีบทบัญญัติที่กำหนดให้ท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่อื่นใดเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน จึงขอให้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น พิจารณาทบทวนร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

โดยก่อนเริ่มประชุมนายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด และกล่าวปาฐกถาพิเศษ โดยย้ำว่ารัฐบาลนั้นให้ความสำคัญกับการบริหารท้องถิ่น ที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงระเบียบ กฎหมาย และข้อบังคับมากมายเพื่อให้มีความคล่องตัวมากขึ้น พร้อมทั้งปรับปรุงเรื่องการใช้บริการภาครัฐ ให้ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ผู้บริหารท้องถิ่นจึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาให้กับประชาชนด้วยความเข้าใจ

นอกจากนั้น ยังยกตัวอย่างจากวิกฤตโควิด-19 ที่สะท้อนว่าท้องถิ่นของประเทศไทย มีความเข้มแข็งอย่างมาก ในการควบคุมโรค และดูแลประชาชน หากไม่มีท้องถิ่นคงไม่สามารถฝ่าฟันวิกฤตมาได้จนถึงตอนนี้ โดยต้องประสานสอดคล้องทั้งแผนเงิน แผนงาน แผนคน ให้ตรงตามความต้องการของประชาชน สิ่งที่สำคัญคือการใช้จ่ายงบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม และต้องเกิดผลเป็นรูปธรรมยั่งยืน ประชาชนในท้องถิ่นของท่านมีความรักสามัคคี และตั้งมั่นในการทำประโยชน์เพื่อสังคม

ภายในงานยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการเมืองกับ ฮิว ลิม ผู้อำนวยการใหญ่ Center for Liveable City ประเทศสิงคโปร์ โดยให้ความสำคัญกับการจัดการเมืองอย่างยั่งยืน และให้ประชาชนสามารถปรับตัวได้ท่ามกลางวิกฤต หลังเผชิญกับโควิด-19 เพราะวิกฤตดังกล่าวเปลี่ยนแปลงการวางแผนเมืองทั้งหมด ที่ต้องวางแผนการแก้ปัญหาอย่างยืดหยุ่น ให้ทันต่อสถานการณ์ และทันต่อเวลา

รวมถึงการจัดการพื้นที่ใช้สอยด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี หรือการเป็นเมืองอัจฉริยะ เพื่อสร้างวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) และกระบวนทัศน์ที่ทันสมัยของประชากร ตลอดจนการพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียทุกคน เมืองต้องส่งเสริมให้ประชากรสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์ และจัดการปัญหาที่ซับซ้อนได้ด้วยความร่วมมือ หรือการสร้างเครือข่ายในสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้