“ธนาธร – พริษฐ์” เดินสายเชียงใหม่ ปลุกท้องถิ่น ทวงคืนอำนาจและงบประมาณ แก้วิกฤตประเทศ

คณะก้าวหน้า เดินสายแคมเปญ “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” ด้าน ‘ไอติม พริษฐ์’ ติงรัฐบาลประยุทธ์ สอนประชาชนให้แก้ปัญหาตัวเอง แต่กลับผลักดันกระจายอำนาจน้อยมาก ‘ธนาธร’ ชี้ ปลดล็อกท้องถิ่น ช่วยแก้วิกฤตใหญ่ของชาติ ทั้งความเหลื่อมล้ำ เศรษฐกิจ และการเมืองได้

เมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2565 ที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปราศรัยบนเวที “ขอคนละชื่อปลดล็อกท้องถิ่น” โดยระบุว่า โครงการที่คณะก้าวหน้าและผู้นำท้องถิ่นหลายส่วนร่วมรณรงค์อยู่ มีการเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา หรือในวันครบรอบ 130 ปีของการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2435

ธนาธร ยกตัวอย่างโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ลำปาง ที่สร้างไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเมืองหลวง แต่คนพื้นที่ไม่ได้ดอกผลจากการพัฒนา ได้รับแต่มลพิษจากโรงไฟฟ้าและผลกระทบต่าง ๆ เขื่อนปากมูลที่ส่งไฟฟ้าหล่อเลี้ยงเมืองหลวง เหมืองตะกั่วคลิตี้ ที่คนออกประทานบัตรคือรัฐส่วนกลาง คนพื้นที่ไม่ได้เห็นชอบด้วย แม้จะปิดไปแล้ว แต่มลพิษยังคงตกค้างอยู่ กำจัดไม่หมดจนถึงทุกวันนี้ นี่คือความจริงที่น่าเศร้าของประเทศไทย

เขาบอกอีกว่า นี่คือเรื่องของปัญหาการเมือง เศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ทุกวันนี้หลายพื้นที่ยังมีน้ำประปาที่มีสีขุ่น ถนนหนทางเป็นลูกรัง ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ นี่คือประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่เราไม่มีความรู้และเทคโนโลยี แต่เป็นเพราะประชาชนไม่มีทั้งอำนาจและงบประมาณในมือของตัวเอง ทุกวันนี้ส่วนกลางโยนภารกิจมาให้ท้องถิ่นจัดการ แต่ไม่ให้งบประมาณมาด้วย กฎหมายหลายฉบับซ้อนกันเอง ต้องวิ่งหาหน่วยงานส่วนกลาง ท้องถิ่นไม่มีอำนาจจัดการเองได้

“เขาบอกว่าคนต่างจังหวัดโง่จึงจน เขาบอกว่าที่จนเป็นเพราะชาติที่แล้วทำบุญมาไม่พอ ผมปฏิเสธที่จะเชื่ออยางนั้น สิ่งที่ผมเชื่อคือความจน ความเหลื่อมล้ำ ล้วนเกิดจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน และนี่คือหลักใหญ่ใจความของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เราเสนอ เพื่อให้เกิดการจัดสรรอำนาจและงบประมาณเสียใหม่”

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

ธนาธรยังกล่าวต่อ ว่าการจัดสรรรายได้ของแผ่นดินวันนี้ แบ่งเป็น 70% ให้ส่วนกลาง อีก 30% ให้ท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งไปหารกันเอง ถ้าคิดตามปีงบประมาณ 2565 คือ 2.49 ล้านล้านบาท จะมีเงินรายได้มาถึงท้องถิ่นเพียง 7 แสนล้านบาท เฉลี่ยไปในท้องถิ่น 7 พันกว่าแห่งเท่านั้น แต่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ การจัดสรรภาษีจะถูกเปลี่ยนเป็น 50-50 ท้องถิ่นจะได้งบประมาณรวมกันกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 แสนล้านบาท เมื่อหาร 7 พันกว่าแห่ง เท่ากับว่าท้องถิ่นทุกที่จะได้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกที่ละเฉลี่ย 63 ล้านบาทต่อปี

“นี่จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นตาง ๆ สามารถซ่อมถนน สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ดีให้ลูกหลานของเรา ลงทุนในน้ำประปา จัดสวนสาธารณะที่ดีได้ จะเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นและคนทุกคนกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตัวเองได้ ถ้ามีงบฯ ลงมาอีกที่ละ 60 ล้าน จะมีการพัฒนา มีการจัดซื้อจัดจ้าง จะเกิดการจ้างงานในพื้นที่ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ภาษีที่ไปหล่อเลี้ยงรัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ จะถูกดึงกลับมาสู่ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่ห่างไกลกันอย่างทุกวันนี้ ไม่ต้องผ่านตัวกลางมากมายกว่างบประมาณจะลงมาถึงประชาชน ตัวกลางเดียวที่มีอยู่คือบัตรเลือกตั้ง”

เขาย้ำว่า แนวทางนี้ จะทำให้ประชาธิปไตยในระดับชาติเข้มแข็ง จากการเมืองที่เข้มแข็งในระดับท้องถิ่น คนเข้าใจความหมายของบัตรเลือกตั้งมากขึ้น การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความหมายมากขึ้น

ธนาธร ท้องถิ่น

“พริษฐ์” ชูปลดล็อกท้องถิ่น สร้างการเมืองที่ไว้ใจประชาชน

สำหรับ พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือ ไอติม เป็น 1 ใน 22 คน ผู้เชิญชวนริเริ่มเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อกท้องถิ่น ผ่านแคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” และผู้ก่อตั้งกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า กล่าวบนเวทีในหัวข้อ “เส้นทางคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น” ตอนหนึ่งว่าวันนี้ตนคงไม่จำเป็นต้องพูดถึงปัญหาของจังหวัดเชียงใหม่ เพราะคนที่รู้ดีที่สุดว่าปัญหาของเชียงใหม่คืออะไร คือคนเชียงใหม่เอง และนี่คือความจำเป็นที่เราต้องกระจายอำนาจให้จังหวัดสามารถบริหารจัดการและกำหนดอนาคตของตนเองได้ เพราะปัญหาในปัจจุบันไม่ว่าที่เชียงใหม่หรือจังหวัดอื่น ไม่ได้เป็นเพราะคนในจังหวัดนั้นไม่รู้ปัญหาหรือไม่มีทางออก แต่เพราะไม่มีการกระจายอำนาจ

พริษฐ์ วัชรสินธุ

พริษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ตั้งแต่การรัฐประหารของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี 2557 มาถึงรัฐบาลสืบทอดอำนาจในปัจจุบัน เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เรามีรัฐบาลที่มักสอนประชาชนอยู่เสมอให้แก้ปัญหาของตัวเอง มีหลายพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่ประกาศสนับสนุนการกระจายอำนาจ แต่เรากลับเห็นความพยายามของรัฐบาลน้อยมากในการกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดการปัญหาของตนเองได้

โดยหัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจคือการพยายามโอนถ่ายอำนาจจากราชการส่วนกลางหรือภูมิภาคมาสู่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจจะสร้างประโยชน์ให้เรา 2 ต่อ อย่างแรกคือทำให้ท้องถิ่นมีศักยภาพและประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาของตัวเองมากขึ้น โดยการกระจายอำนาจที่มีประสิทธิภาพ ต้องกระจายอย่างน้อย 3 อย่าง คือ 1. กระจายงาน หมายถึง ควรให้ท้องถิ่นเป็นหน่วยหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ เพราะท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชน สามารถทำงานตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ ต่อเมื่อท้องถิ่นทำเรื่องใดไม่ได้ จึงค่อยไล่ระดับขึ้นไปหาส่วนกลาง

2. กระจายเงินคือทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีอิสรภาพในการหารายได้และตัดสินใจใช้งบประมาณด้วยตัวเองได้มากที่สุดโดยส่วนกลางต้องเข้ามามีบทบาทในการทำให้ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นมีความพร้อมแตกต่างกัน 3. กระจายคน ซึ่งไม่ใช่เพียงการเพิ่มจำนวนคนที่เข้ามาทำงานการเมืองหรือราชการในท้องถิ่นแต่รวมถึงการให้ผู้บริหารสูงสุดในพื้นที่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่วนประโยชน์อย่างที่สอง คือทำให้ส่วนกลางมีประสิทธิภาพมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาของประเทศในภาพรวมการกระจายอำนาจ จึงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น

“เราไม่ได้มองการกระจายอำนาจเป็นประเด็นเฉพาะหรือนโยบายเดียว แต่การกระจายอำนาจเป็นหัวใจหรือต้นตอสำคัญของการแก้ไขหลายปัญหา เช่น ถ้าเราอยากให้เศรษฐกิจเติบโต เป็นไปไม่ได้เลยถ้าเราไม่กระจายอำนาจเพื่อให้เกิดการสร้างงานในแต่ละพื้นที่ ถ้าอยากแก้ความเหลื่อมล้ำระหว่างแต่ละจังหวัด เราไม่สามารถกระจายความเจริญไปทั่วประเทศได้หากไม่กระจายอำนาจ ถ้าเราอยากทำให้บริการสาธารณะมีคุณภาพมากขึ้น ก็ต้องให้ท้องถิ่นที่มีความใกล้ชิดกับประชาชน เป็นคนรับผิดชอบ ถ้าเราอยากสร้างระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและไว้ใจประชาชนเราต้องเริ่มต้นจากการไว้ใจให้ท้องถิ่นสามารถจัดการแก้ไขปัญหาของตัวเองได้ก่อน”

พริษฐ์ ระบุอีกว่า หากลองจินตนาการภาพสุดท้าย สร้างบ้านหลังใหม่ที่ชื่อประเทศไทย แต่ละห้องในบ้านหลังนั้นคือมิติของคุณภาพชีวิตแต่ละด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การสาธารณสุข ความปลอดภัยในชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ดี การกระจายอำนาจไม่ใช่แค่ห้องห้องเดียวในบ้านหลังนั้น แต่เป็นกุญแจที่ทำให้เราเข้าไปสู่บ้านหลังนั้น

พริษฐ์ วัชรสินธุ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active