ยื่นกว่าหมื่นรายชื่อ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ”

กลุ่มรณรงค์ We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง ยื่น 15,755 รายชื่อ ที่ระดมผ่าน change.org เรียกร้องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ หวังเป็นก้าวแรก จากเสียงประชาชน สู่กระบวนทางสภา

วันนี้ (1 มิ.ย. 2565) ที่อาคารรัฐสภา เกียกกาย กลุ่มประชาชนในนาม We’re all voters นำโดย สันติสุข กาญจนประกร สื่อมวลชนอิสระ ผู้ก่อตั้งแคมเปญ We’re all voters: เลือกผู้ว่าฯ ทั่วประเทศต้องเกิดขึ้นจริง เดินทางเข้ายื่นรายชื่อประชาชน จำนวน 15,755 รายชื่อ ที่รวบรวมผ่าน Change.org/WeAllVoters ยื่นให้ ซูการ์โน มะทา ประธานคณะกรรมาธิการการกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น และการบริหารราชการรูปแบบพิเศษ

สำหรับเหตุผลที่ต้องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ สันติสุข กล่าวกว่า การที่ผู้ว่าฯ มาจากการแต่งตั้ง ไม่รู้ข้อมูลพื้นที่ ไม่ยึดโยงกับประชาชน และทำการถอดถอนไม่ได้ อีกประเด็นคือจะนำไปสู่การกระจายอำนาจตามหลักคนเท่ากัน

“ทุกอย่างต้องค่อย ๆ เป็น ค่อย ๆ ไป ต้องรณรงค์ไปเรื่อย ๆ และคงต้องใช้เวลา เพราะว่ารัฐไทยเป็นการรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลางมานาน การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถทำได้ทันที เพราะอาจจะไม่ใช่แนวคิดที่คนที่ทำงานในระบบแบบเก่าเห็นด้วยเท่าไรนัก ต้องค่อย ๆ ทำให้เขาเห็น คือการรณรงค์เราไม่ได้อยากได้เพียงแค่ฝั่งที่เห็นด้วย เราอยากได้ฝั่งไม่เห็นด้วย มาร่วมกับเราด้วย และออกแบบประเทศที่พัฒนาไปข้างหน้าไม่ฉุดรั้งประเทศให้ถอยหลัง”

ด้าน ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการด้านการกระจายอำนาจ กล่าวว่าหลังปรากฏการณ์ชัชชาติ ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้หลายจังหวัดอยากกำหนดอนาคตตัวเอง และเชื่อว่าสามารถทำได้จริง พร้อมยกตัวอย่างสหราชอาณาจักรและอินโดนีเซีย

ซูการ์โน มะทา ส.ส.พรรคประชาชาติ ในฐานะประธาน กมธ.การกระจายอำนาจฯ ผู้รับเรื่องดังกล่าว ย้ำว่าการกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ ข้อเรียกร้องดังกล่าวสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “จังหวัดจัดการตัวเอง” ได้ และเชื่อว่าในอนาคตแต่ละภูมิภาคอย่างน้อยหนึ่งจังหวัด จะได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ ของตัวเอง

สำหรับ สาระสำคัญที่นำมาสู่การรณรงค์รวบรวมรายชื่อประชาชนในครั้งนี้ มีการอธิบายข้อดีของการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไว้หลายด้าน เช่น เกิดการแข่งขันเสนอนโยบายที่เหมาะสมตามแต่ละพื้นที่, เกิดการกระจายทรัพยากรที่ทั่วถึง, ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น เพื่อป้องกันการทุจริตได้ตลอดเวลา, จังหวัดได้คนที่เข้าใจปัญหาท้องถิ่นของตนอย่างแท้จริงและคนธรรมดามีสิทธิลงรับเลือกตั้ง, ตัดปัญหาผู้ว่าฯ ถูกโยกย้ายแบบตรวจสอบไม่ได้ และส่งเสริมประชาธิปไตยและความเจริญก้าวหน้าของประเทศโดยรวม

สันติสุข ระบุว่า หลักสำคัญที่สุดคือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นคันรองของประชาธิปไตย ทุกคนมีหนึ่งสิทธิ หนึ่งเสียง ทุกคนมีสิทธิเลือกผู้ว่าของตนเอง อีกทั้งจากการทำข้อมูลที่ผ่านมา พบว่าผู้ว่าราชการแต่งตั้ง ส่วนใหญ่คือ ไม่รู้ปัญหาของท้องถิ่นจริง ๆ ฉะนั้นการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด จะทำให้ผู้ว่าฯ ที่จะได้จากการเลือกตั้งนั้น ๆ ต้องแข่งขันกันด้วยนโยบาย 

“การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นแค่หมุดจุดเริ่มต้นให้ประชาชนมาร่วมกัน หลังจากนี้เราคงรณรงค์ต่อไป ในการปรับโครงสร้างการปกครอง ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น แต่มันต้องใช้ฉันทามติของประชาชนส่วนใหญ่ เราไม่อยากเสนอ หักโค่น ว่าให้ยุบส่วนภูมิภาคไปเลย เราอยากให้ทุกฝ่ายมาระดมความคิดกัน ให้นักวิชาการ นักกิจกรรมทางสังคม หรือแม้แต่ประชาชนเอง มาช่วยระดมความคิด ออกแบบความคิดกันว่าอยากให้ประเทศเป็นไปในทิศทางไหน”

ทั้งนี้ ยังกล่าวว่า เมื่อดูจากการตอบกลับในเพจ ในมุมของประชาชนที่ไม่เห็นด้วยก็มี แต่เป็นส่วนน้อย ด้วยเหตุผล กังวลว่าอาจมีการซื้อเสียง หรือแม้กระทั่งเรื่องที่ว่าคนต่างจังหวัดไม่มีความเข้าใจมากพอในการเลือกตั้ง ส่วนฝั่งที่เห็นด้วยมีการเสนอเงื่อนไขเพิ่มเติม ว่าให้เป็นการจัดการส่วนภูมิภาคเลย เหลือเพียง อบจ. อย่างเดียว

นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่ม We’re all voters ยังระบุว่า หากมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะเกิดกลไกที่เรียกว่า “สภาพลเมือง” และมีกลไกที่ท้องถิ่น สามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ ประชาชนรับรู้ได้ง่าย โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย การตรวจสอบการทุจริตจะทำได้ง่ายกว่าผู้ว่าฯ ในระบบแต่งตั้ง

รวมถึงทำให้ประชาชนมีตัวเลือก และเกิดการแข่งขันเชิงนโยบายที่เข้มข้น, ผู้ว่าฯ แต่งตั้ง มาพร้อมกฎหมายที่จัดสรรส่วนแบ่งรายได้ของแต่ละจังหวัดอย่างไม่เท่าเทียม ส่วนกลางได้ร้อยละ 65 ท้องถิ่นร้อยละ 35 และยังใช้งบประมาณอย่างไม่เป็นอิสระ แต่หากมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ จะสามารถกำหนดได้ว่าในวาระ 4 ปี ที่ดำรงตำแหน่งจะทำอะไรบ้างให้ประชาชน และจัดสรรงบฯ ได้เอง

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทำให้ได้เห็นผู้สมัครอิสระหลายคน ลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างเท่าเทียม หากมีการเลือกตั้งทั่วประเทศจริง อาจทำให้คนรักษ์บ้านเกิดมีโอกาสเลือกตั้งและเป็นผู้บริหารที่จะขึ้นมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง นอกจากนี้ยังช่วยตัดปัญหาการโยกย้ายผู้ว่าฯ ที่ไม่เคยจะตรวจสอบได้


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง