บรรเจิด สิงคะเนติ ชี้ ปัญหาการเมืองไทยวนลูปเพราะโครงสร้างอำนาจรวมศูนย์ เสนอสร้าง ‘จุดคานงัด’ ด้วยโมเดลจังหวัดจัดการตนเอง เชื่อท้องถิ่นมีศักยภาพมาก หวังพลิกโฉมการกระจายอำนาจใน 1 – 2 ปีข้างหน้า
28 ธ.ค. 2567 ศาสตราจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ ผู้อำนวยการหลักสูตรนิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวเสวนาหัวข้อ “ถ่วงดุลการเมืองไทย ด้วยการสร้างจุดคานงัดในพื้นที่ส่วนกลาง” โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาวังวนทางการเมืองที่ยืดเยื้อมานานกว่า 20 ปี ตลอดจนปัญหาอำนาจท้องถิ่นบ้านใหญ่ที่ครอบงำการพัฒนาในหลายจังหวัด พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขผ่านการสร้างโมเดลจังหวัดจัดการตนเองที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ช่วงต้น ศ.บรรเจิด เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยระบุว่าแม้จะมีความพยายามผลักดันการกระจายอำนาจและสร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ จากการมีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องประสบกับอุปสรรคจากระบบการบริหารแบบรวมศูนย์และเหตุการณ์การเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น การรัฐประหารในปี 2557 ที่ส่งผลให้การปฏิรูปท้องถิ่นและการกระจายอำนาจหยุดชะงัก และจนมาถึงปัจจุบัน ยังไม่มีแรงหนุนทางการเมืองที่ชัดเจนพอในการผลักดันประเด็นดังกล่าว
โครงสร้างท้องถิ่น 5 ชั้น และการบริหารแบบ “ท็อปดาวน์”
ศ.บรรเจิด อธิบายว่า คำว่า ‘คานงัด’ คือจุดถ่วงดุลอำนาจที่กระจายตัวตามพื้นที่ส่วนกลางของแต่ละจังหวัด โดยมีประชาชนเป็นส่วนหนึ่งของการคานงัดอำนาจ แต่ด้วยโครงสร้างการบริหารระดับจังหวัดในประเทศไทยมีความซับซ้อน ทำให้การปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นและทำได้ยาก โดยโครงสร้างท้องถิ่นมีการซ้อนทับกันถึง 5 ชั้น ได้แก่
- หน่วยงานราชการส่วนภูมิภาค – ประกอบด้วยหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับของผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ซึ่งเป็นชั้นแรกของการบริหารงานในพื้นที่ท้องถิ่น
- องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น – แบ่งเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์กรระดับย่อย เช่น เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
- ส่วนราชการที่ไม่ขึ้นตรงกับผู้ว่าราชการจังหวัด – หน่วยงานเหล่านี้ดำเนินงานในจังหวัดโดยไม่ผ่านสายการบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการ ทำให้เกิดการบริหารงานแบบแยกส่วน
- จังหวัดบูรณาการ – เป็นหน่วยงานที่พยายามรวบรวมการทำงานของส่วนราชการต่าง ๆ ในจังหวัด แต่ยังขาดประสิทธิภาพในการประสานงาน
- ภูมิภาค – ระดับนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายและการบริหารงานที่กระจายมาจากส่วนกลางสู่ภูมิภาค แต่ไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
“การแก้ปัญหาในระดับจังหวัดเป็นเรื่องสำคัญ แต่โครงสร้างที่ซับซ้อนนี้ทำให้การบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ แผนการพัฒนาส่วนใหญ่กลับถูกกำหนดจากส่วนกลาง ไม่ได้มาจากประชาชน”
ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ
สร้าง “จุดคานงัด” ผ่านโมเดลจังหวัดจัดการตนเอง
ศ.บรรเจิด เสนอว่า การสร้างโมเดลจังหวัดจัดการตนเอง โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางพัฒนา สามารถเป็นจุดคานงัดที่ช่วยถ่วงดุลอำนาจจากส่วนกลางได้ ตัวอย่างเช่น จังหวัดพังงา ซึ่งภาคประชาสังคมเคยใช้วิธีประท้วงผู้มีอำนาจในจังหวัด แต่ไม่สำเร็จ ปัจจุบันจึงเปลี่ยนวิธีการเป็นการจัดทำแผนพัฒนาร่วมกับหน่วยงานรัฐ ผ่านงบฯ ของจังหวัด จนสามารถบูรณาการแผนงานให้เป็นของจังหวัดได้สำเร็จ
อีกตัวอย่างคือ จังหวัดตราด ที่มีสภาองค์กรชุมชนถึง 47 แห่ง ขับเคลื่อนโดยการร่วมมือกับศูนย์พัฒนาการเมืองของสถาบันพระปกเกล้า เพื่อสร้างระบบการจัดการที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
“เรามีต้นทุนจากชุมชนที่เข้มแข็ง แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยลงทุนกับสิ่งนี้อย่างจริงจัง หากสามารถขยายโมเดลเหล่านี้ไปยัง 10 จังหวัดในช่วง 1 – 2 ปีข้างหน้า จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในนโยบายการกระจายอำนาจ”
ศ.บรรเจิด สิงคะเนติ
จากตัวอย่างข้างต้นยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีศักยภาพในการจัดการตนเอง ศ.บรรเจิด อธิบายย้ำว่าแนวคิดการบริหารจัดการท้องถิ่นมันไม่ใช่เรื่องของ ‘การปกครอง’ มันเป็นการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และภาคประชาสังคมในพื้นที่ กล่าวคือเป็น ‘การจัดการร่วมกันในแนวราบ’ ไม่ใช่แนวดิ่ง อำนาจที่กำหนดให้ต้องลงไปถึงชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่นักการเมืองท้องถิ่นเพียงอย่างเดียว
ท้องถิ่นเข้มแข็ง ต้นทุนสังคมที่ถูกมองข้าม
ศ.บรรเจิด ย้ำว่า ชุมชนท้องถิ่นในไทยมีความเข้มแข็งและเป็นต้นทุนทางสังคมที่สำคัญ โดยยกตัวอย่างวิกฤตต้มยำกุ้งและการระบาดของโควิด-19 ซึ่งชุมชนสามารถจัดการความมั่นคงทางอาหารและความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าผู้คนจะหลั่งไหลกลับบ้านเกิดในช่วงวิกฤต แต่ท้องถิ่นและเครือข่ายสถาบันทางสังคมยังเกื้อหนุนจุนเจือกันได้ สะท้อนว่า ท้องถิ่นไทยมีศักยภาพ และมีคุณค่าในเชิงประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ยังไม่มีระบบที่จะสนับสนุนให้ชุมชนกลายเป็นพลังหลักในการพัฒนาประเทศ ยังเป็นการเมืองของชนชั้นนำ รัฐจำเป็นต้องกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ให้ใกล้ชิดกับปัญหาและการแก้ปัญหามากขึ้น โดย ศ.บรรเจิด ยกตัวอย่างประเด็นเรื่องของภัยพิบัติ ที่ต้องให้พื้นที่ที่ใกล้ที่สุดเป็นคนจัดการและรับมือ อำนาจต้องอยู่ใกล้กับปัญหา จะรอรัฐส่วนกลางลงมาช่วยเหลือไม่ทันการได้ โดยมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในภัยพิบัติล่าสุดที่ผ่านมา
ช่วงท้าย ศ.บรรเจิด ยังเตือนว่า หากการเมืองไทยยังคงรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย ประเทศไทยจะไปไม่รอดแน่นอน พร้อมเสนอให้รัฐและประชาสังคมร่วมมือกันสร้างโครงสร้างการบริหารที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยกล่าวถึง เครือข่ายเล็ก ๆ ที่เชื่อมโยงกันอย่าง ‘สภาองค์กรชุมชน‘ ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งทำหน้าที่แทนรัฐแบบอาสาสมัคร แม้วันนี้รัฐยังไม่เห็นค่า แต่พวกเขากำลังพยายามเชื่อมโยงกลุ่มต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าไปได้อย่างยั่งยืน