ส่องบทเรียน ‘เทศบาลแม่เหียะ’ ขับเคลื่อนท้องถิ่นยุคใหม่ ชี้ ‘ข้อมูล’ คือกุญแจ ‘ความโปร่งใส’ คือหัวใจ ชูธงบริหารท้องถิ่นด้วย Open Data หวังสร้างคอมแพคซิตี้ รับมือเมืองเติบโตก้าวกระโดด แนะผู้นำท้องถิ่นรุ่นใหม่ หลังเลือกตั้ง เปิดกว้าง รับฟัง ใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ ภาคเอกชน หนุนแนวคิด Zero Food Waste ลดขยะได้กว่า 70%
กริณย์พล ไชยยาพิบูล นายกเทศมนตรีเทศบาลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยกับ The Active ถึงแนวทางการบริหารท้องถิ่นยุคใหม่ที่เน้นการใช้ข้อมูล (Data-driven management) เป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารจัดการเมือง รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจและชุมชนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว พร้อมชูหลัก Open Data หรือ ความโปร่งใสในการทำงานให้ประชาชนเข้าถึงได้
นายกเทศมนตรีแม่เหียะ ระบุว่า เมืองแม่เหียะกำลังเผชิญความท้าทายจากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีประชากรแฝง ร้านอาหาร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาหนึ่งที่ต้องเร่งจัดการคือปริมาณขยะจากชุมชนและร้านอาหารที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเทศบาลได้ใช้ฐานข้อมูลแผนที่ภาษี และข้อมูลประชากรเป็นเครื่องมือสำคัญในการวิเคราะห์ และออกแบบมาตรการแก้ไข เช่น การจัดเก็บขยะแยกประเภท และการส่งเสริมการรีไซเคิลร่วมกับหน่วยงานภายนอก

“ข้อมูลเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารยุคนี้ เราต้องมีฐานข้อมูลที่แม่นยำ เพื่อเจาะลึกถึงกลุ่มประชากรต่าง ๆ ทั้งในเรื่องการจัดการขยะ ผู้สูงอายุ การศึกษา หรือสาธารณสุข ข้อมูลจะช่วยให้เราเข้าใจความต้องการที่แท้จริง และสามารถวางนโยบายตอบโจทย์ประชาชนได้ตรงจุด”
กริณย์พล ไชยยาพิบูล
นอกจากการใช้ข้อมูลเพื่อบริหารจัดการแล้ว นายกเทศมนตรีแม่เหียะ ยังเน้นย้ำถึงการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการบริหารงานของเทศบาลได้อย่างโปร่งใส และสามารถมีส่วนร่วมตรวจสอบได้
“การบริหารงานยุคใหม่ต้องโปร่งใส เราต้องทำให้ประชาชนรู้ว่าข้อมูลอะไรเกิดขึ้นบ้าง นำข้อมูลมาเปิดเผยให้ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือในการพัฒนาเมืองร่วมกัน การเปิดข้อมูลเชิงรุกจะช่วยลดข้อสงสัย และสร้างความเข้าใจระหว่างเทศบาลกับประชาชน”
กริณย์พล ไชยยาพิบูล

สำหรับแนวทางการพัฒนาเมืองในอนาคต นายกเทศมนตรีแม่เหียะ ตั้งเป้าสร้างศูนย์รวมชุมชนในรูปแบบ Compact City ที่เชื่อมโยงศูนย์บริการสาธารณะ ศูนย์กีฬาชุมชน โรงพยาบาลท้องถิ่น และแหล่งส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชน และลดภาระการเดินทางออกนอกพื้นที่
ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่หลายเทศบาลทั่วประเทศกำลังเตรียมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น นายกเทศมนตรีแม่เหียะ ซึ่งพึ่งชนะการเลือกตั้งมาเมื่อไม่นานนี้ ได้ฝากถึงผู้นำท้องถิ่นรุ่นใหม่ ว่า การทำงานในยุคดิจิทัลต้องเปิดกว้าง รับฟัง และใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อขับเคลื่อนเมืองไปข้างหน้าอย่างโปร่งใสและยั่งยืน
เอกชนหนุนแนวทางเทศบาลแม่เหียะ ขยายแนวคิด Zero Food Waste
ขณะที่ ธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ ซึ่งประกอบธุรกิจร้านอาหารในพื้นที่เทศบาลแม่เหียะด้วย บอกกับ The Active ว่า สถานการณ์ร้านอาหารในพื้นที่แม่เหียะขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กว่าทศวรรษที่ผ่านมา สอดคล้องกับการขยายตัวของเมือง ทั้งจากการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบสอง รอยต่อวงแหวนรอบสาม รวมถึงความใกล้ชิดกับสนามบิน ทำให้มีชุมชนและร้านอาหารเกิดใหม่จำนวนมาก นำมาซึ่งความท้าทายเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาขยะมูลฝอยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“เมื่อ 10 ปีก่อน แถวนี้ยังถือว่าเป็นชานเมือง ไม่ค่อยมีร้านอาหารหรือหมู่บ้านจัดสรรมากนัก แต่ปัจจุบันทุกอย่างเปลี่ยนไปเร็วมาก เทศบาลต้องรับมือกับปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการจัดระบบขยะจากร้านอาหารที่ขยายตัวรวดเร็ว”
ธนิต ชุมแสง
ในฐานะผู้ประกอบการ ธนิช ยังเล่าว่า ร้านของตนได้นำแนวคิด Zero Food Waste มาปรับใช้ เพื่อบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เช่น การคัดเลือกวัตถุดิบตั้งแต่ต้นทางเพื่อลดเศษขยะในร้าน ออกแบบเมนูอาหารให้ลดของเหลือ และนำเศษอาหารที่เหลือไปใช้ประโยชน์ เช่น ร่วมโครงการผลิตไบโอแก๊สกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่งผลให้สามารถลดปริมาณขยะลงได้ถึง 70% และลดค่าใช้จ่ายในการจัดการขยะลงอย่างมีนัยสำคัญ
ธนิช ยังเสนอว่า เทศบาลแม่เหียะควรจัดทำแคมเปญรณรงค์ลดขยะในกลุ่มร้านอาหารอย่างจริงจัง นำแนวคิด Zero Food Waste ไปเผยแพร่ให้ร้านค้าต่าง ๆ นำไปปฏิบัติ พร้อมกับจัดเก็บข้อมูลร้านอาหารในเขตเทศบาลอย่างเป็นระบบ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ เทศบาลควรมีฐานข้อมูลร้านอาหารที่ชัดเจน และสมาคมของเราก็ยินดีร่วมมือกับเทศบาลในการให้คำแนะนำและเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ได้ผลจริง ไม่ใช่เรื่องยากเลย ถ้าทำได้ก็จะช่วยลดภาระในการกำจัดขยะ และทำให้เมืองน่าอยู่มากขึ้น”
ธนิต ชุมแสง