สถิติอุบัติเหตุสงกรานต์ สะสม 5 วัน เสียชีวิตแล้ว 204 คน ‘เชียงใหม่’ อุบัติเหตุสูงสุด 60 ครั้ง

นักวิชาการ เผยช่วงเริ่มต้นเทศกาลสงกรานต์ 1-2 วันแรก ​และ 5-7 วัน หลังเฉลิมฉลองสงกรานต์ มักเกิดอุบัติเหตุบนถนนสายหลักมากขึ้น เตือนวันเดินทางกลับระวังอย่าขับรถเร็วและให้จอดแวะพักหากเหนื่อยล้า ช่วยป้องกันอุบัติเหตุ

รศ.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เปิดเผย สาเหตุในการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ส่วนใหญ่จะเป็นเมาแล้วขับ และการขับรถเร็ว ขณะที่สัดส่วนของรถจักรยานยนต์จะเกิดมากที่สุดมากถึงร้อยละ 80 ในช่วง การเดินทางวันแรกๆ 1-2 วัน และวันที่ 6-7 ของการเฉลิมฉลองซึ่งมักเป็นช่วงที่คนกำลังเดินทางกลับ โดยการเกิดอุบัติเหตุจะมาเกิดบนถนนสายหลักมากขึ้น ดังนั้นการจัดตั้งด่านตรวจ จะสามารถช่วยลดและป้องกันอุบัติเหตุได้ในระดับหนึ่ง

อีกปัญหาคือการหลับใน หรือการหลับระยะสั้น ๆ (Microsleep) เป็นปรากฏการณ์การสับสนระหว่างการหลับและการตื่น โดยการหลับเข้ามาแทรกการตื่นอย่างเฉียบพลันโดยไม่รู้ตัวในช่วงเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1 – 2 วินาที มีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากขับรถในเส้นทางตรงนานๆ หรือถ้าร่างกายเหนื่อยล้า นอนไม่พอ หลังเฉลิมฉลอง ก็เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้ ควรจอดรถแวะพักเพื่อลดปัญหา

รศ.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย

ขณะที่วันนี้ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2565 สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนน สถิติอุบัติเหตุสะสม 5 วัน (11 – 15 เมษายน 2565) เกิดอุบัติเหตุรวม 1,478 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 1,452 คน ผู้เสียชีวิต 204 คน เสียชีวิตมากกว่าปีที่แล้ว 12 คน ( ปี 2564 ตัวเลขสะสม5 วันในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีผู้เสียชีวิต 192 คน )

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 60 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 58 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 8 คน โดยจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตรวม 12 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครพนม บึงกาฬ ปราจีนบุรี ปัตตานี ยะลา ระนอง ลำพูน สมุทรสงคราม สิงห์บุรี หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ

สำหรับสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 15 เมษายน 2565 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 277 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 263 คน ผู้เสียชีวิต 44 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 39.35 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 28.52 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 77.70 รถปิกอัพ 11.87 ส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 32.85 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 39.35 บริเวณจุดเกิดเหตุเป็นทางตรง ร้อยละ 79.42

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 20.01 – 21.00 น. ร้อยละ 8.30 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่ในช่วงอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 22.48 โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 16 ครั้งจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 16 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ เชียงราย 5 คน เจ้าหน้าที่ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,897 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 56,311 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 394,460 คันมีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 67,111 คน มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 18,323 คน ไม่มีใบขับขี่ 17,729 คน

บุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กล่าวว่า วันนี้ประชาชนทยอยเดินทางกลับเข้าสู่กรุงเทพมหานครและจังหวัดเขตเศรษฐกิจ ทำให้มีปริมาณรถหนาแน่นเส้นทางหลักและเส้นทางสายรองที่เชื่อมต่อระหว่างจังหวัด ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจบังคับใช้กฎหมายอย่างต่อเนื่องในเส้นทางสายต่าง ๆ โดยเฉพาะเส้นทางสายหลัก สายรอง ทางเลี่ยง ทางลัด ทางตรง วิ่งสวนเลน และไม่มีเกาะกลาง พร้อมคุมเข้มผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง

นอกจากนี้ ในวันนี้ 16 – 18 เมษายน 2565 ประเทศไทยจะเกิดพายุฤดูร้อนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร โดยมีพายุฝนฟ้าคะนอง ลมแรง และอาจมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ ทำให้สภาพถนนเปียกลื่น และทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ชัดเจน จึงขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่เป็นพิเศษ โดยไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ กรณีฝนตกหนักพายุลมแรง ให้จอดพักรถในบริเวณที่ปลอดภัยห่างจากต้นไม้ใหญ่เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณา เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย

สำหรับประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งเหตุทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์