หลังอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ที่เสียหายจากพายุโซนร้อนเซินกา เมื่อ ก.ค. 2560 ซ่อมเสร็จ นักวิชาการ ชี้ เป็นบทเรียนเพื่อประเมินความปลอดภัยเขื่อนและความคุ้มค่า โดยเฉพาะเขื่อนอายุมากกว่า 50 ปี ในไทย จะช่วยลดความเสียหายสาธารณะ
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2565 ประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากที่อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ได้เปิดใช้งานอย่างเต็มรูปแบบมาแล้ว 2 ปี หลังจากที่เสียหายจากพายุโซนร้อนเซินกา เมื่อ 24-27 กรกฎาคม 2560 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน ได้สนองพระราชดำริในการปรับปรุงเพิ่มความจุอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น
จากความจุเดิม 2.40 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 3.18 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามข้อจำกัดของสภาพภูมิประเทศ ขณะนี้สามารถส่งน้ำเพาะปลูกพืชฤดูฝนได้ประมาณ 3,000 ไร่ และฤดูแล้งได้ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดสกลนคร ที่สร้างได้รายเสริมให้เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ได้
ด้าน โรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กล่าวว่า หลังจากที่อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ได้ดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จ ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ ได้ตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทานโครงการชลประทานสกลนคร (ลุ่มน้ำย่อยห้วยทรายขมิ้น) หรือ JMC โดยบริหารในลักษณะอ่างพวง หรือ โครงการเครือข่ายอ่างเก็บน้ำ ที่มีด้วยกัน 5 อ่างเก็บน้ำ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยบ่อ อ่างเก็บน้ำห้วยทรายตอนบน 1 -3 และอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น
ซึ่งกรรมการฯ จะประชุมวางแผนการบริหารจัดการน้ำทั้ง 5 แห่ง และแบ่งสรรปันส่วนกันสำหรับใช้ในการปลูกพืชทั้งปี ในการประชุมจะมีการนำเสนอปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประโยชน์สูงสุด ผลจากการมี JMC สามารถลดปัญหาการจัดสรรน้ำได้ค่อนข้างดี จากเดิมที่มักมีปัญหาในช่วงฤดูแล้ง
“ทุกวันจะมีประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงและจากตัวเมืองสกลนคร ซึ่งห่างออกไปประมาณ 10 กิโลเมตร มาออกกำลังกาย มาปั่นจักรยาน และวันหยุดกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เกษตรกรและคนในพื้นที่มีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าพอใจ และล่าสุดได้เข้าไปอยู่ในการดูแลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีการส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฏีใหม่และโครงการเกษตรกรต้นแบบ การให้ความรู้ การทำเกษตรที่ถูกต้อง รวมถึงปัจจัยการผลิตที่ขาดแคลน“
โรจน์วัฒน์ อินทร์ทุ่ง
นักวิชาการ ชี้ เป็นบทเรียนเพื่อประเมินความปลอดภัยเขื่อนและความคุ้มค่า
ด้าน รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ นักวิชาการด้านวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเกษตรศาตร์ ระบุว่า แม้เราจะเห็นบทเรียนจาก อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ในจังหวัดสกลนคร ที่มีปริมาณน้ำฝนที่มากเกินไป จนทำให้เกิดการชำรุด และมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำต่อในอนาคตสำหรับความปลอดภัยเขื่อนในทุก ๆ ขนาดของไทย อาจจะต้องมีการทบทวนถึงการประมินความปลอดภัยเขื่อนหรือความเสี่ยงหรือแผนปฏิบัติการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Action. Plan, EAP) ที่เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการด้านความมั่นคงปลอดภัย และต้องมองเป็นการมีส่วนร่วมบริหารจัดการเขื่อนไปพร้อมกันด้วย ไม่ใช่เพียงมองว่าเป็นภาระของกรมชลประทานที่เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องจัดการเพียงหน่วยงงานเดียว หรือท้องถิ่นที่ดูแลเขื่อนขนาดเล็กเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ร่วมคิดร่วมจัดการ สร้างความเข้มแข็ง
“เพราะหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินก็จะรับมือแบบร่วมคิดร่วมทำ และให้มองความปลอดภัยเขื่อนเป็นเรื่องสาธารณะด้วย”
รศ.สุทธิศักดิ์ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมว่า ประเด็นแรก ถ้ามองแนวทางอนาคตต่อประโยชน์สาธารณะ อยากให้สังคมปรับวิธีคิดร่วมกัน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเขื่อน เช่น รัฐ ท้องถิ่น ชุมชน อุตสาหกรรม ที่นำน้ำจากเขื่อนไปใช้ประโยชน์ ต้องมีวิธีการร่วมคิด ร่วมสร้าง เพราะน้ำจากเขื่อนคือประโยชน์สาธารณะที่ใช้ด้วยกัน เพราะหากเกิดเหตุการณ์มันกระทบรวมกันไปหมด ดังนั้น ต้องรวมกันคิดแก้ปัญหา
ประเด็นที่สอง การทำแผนที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยเขื่อน มีความสำคัญที่ต้องจัดทำในเขื่อนที่มีความเสี่ยง เพราะขณะนี้แม้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะสามารถประเมินความปลอดภัยเขื่อน แต่ก็ยังขาดการประเมินความคุ้มค่าถึงผลกระทบร่วมกันจำนวนมากจะทำให้เกิดความรัดกุมมากกว่านี้ หากเริ่มตรวจสอบมองเป็นองค์รวม ประเมินทั้งความปลอดภัยเขื่อนและความคุ้มค่าไปพร้อมกัน ก็จะลดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้มาก
ด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา ขณะนี้ได้วิเคราะห์สถานการณ์ภาพรวมฝนสะสมตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงปัจจุบัน ทั่วประเทศสูงกว่าค่าปกติ ร้อยละ 52 ปริมาณฝน 557.3 มิลลิเมตร จากค่าปกติที่อยู่ 366 มิลลิเมตร ซึ่งแนวโน้มหลังจากนี้ กรณีเดือนมิถุนายนฝนจะทิ้งช่วง หลังจากนั้น กรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน ฝนจะมีมากขึ้นซึ่งอาจเสี่ยงท่วมหลากได้ในหลายจังหวัด และในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน 2565 ไทยมีโอกาสได้รับอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อน จึงมีโอกาสที่ปริมาณฝนประเทศไทยจะสูงกว่าค่าปกติต่อเนื่อง
ขณะที่นักวิชาการ หลายหน่วยงานด้านน้ำ มองว่า แม้จะมีความพร้อมเรื่องการรับมือในระดับหน่วยงาน แต่หากฝนตกหนักเกินกว่า 100 มิลลิเมตร ที่มีโอกาสเป็นไปได้จากความแปรปรวนสภาพอากาศ ซึ่งอาจเกิดใกล้เขื่อนที่มีอายุมากและอาจยังไม่ได้ประเมินความเสี่ยงความปลอดภัยเขื่อน อาจมีความเสี่ยสูงที่จะเกิดบทเรียนซ้ำรอย แต่เพื่อเป็นการป้องกัน ชุมชน ท้องถิ่น หน่วยงาน ในพื้นที่อาจเป็นหูเป็นตาร่วมหากทางแก้ไขเฝ้าระวัง เพราะเมื่อป้องกันไว้ก่อนเหตุการร้ายแรงก็ลดความเสี่ยงลงได้