กทม.มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึงปีละ 800-900 คน ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เสนอแก้ปัญหาเร่งด่วน ด้วยมาตรการด้านถนน และ ทางม้าลายมาตรฐานและปลอดภัย
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า คนเดินถนนในกรุงเทพมหานครมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เพราะมีความหน่าแน่นของประชากรและใช้ถนนเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันช่องทางจราจรมีหลายเลน และรถขับเร็ว ซึ่งจะทำให้เกิดการบดบังสายตา พอข้ามไปอีกเลนก็จะทำให้อีกเลนมองไม่เห็นคนข้ามจากปัจจัยการถูกบดบัง เช่น เคสหมอกระกระต่าย ดังนั้นการที่มีสองช่องทางขึ้นไปจะทำให้มีค่วามเสี่ยงในเรื่องการบดบังสายตา
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่มีทางม้าลายหลายจุดและมักเป็นจุดที่มีทางแยกหลาย ๆ ทาง และทางม้ายลายบางจุดอยู่บริเวณกึ่งกลาง คล้ายบริเวณที่หมอกระต่ายถูกชน หากเป็นเช่นนี้จะทำให้เอื้อต่อการใช้ความเร็ว ที่สำคัญก็ยังไม่มีไฟสัญญาณทุกจุด ปัจจุบันมี ไฟสัญญาณเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นเอง ตรงนี้คือจุดอ่อน ที่ต้องเร่งให้เกิดความปลอดภัยในเชิงกายภาพมากขึ้น เพราะในช่วง 4 เดือนของปีนี้ (มกราคม-เมษายน 2565) มีคนเดินถนนในกรุงเทพมหานครเสียชีวิต 28 คน และยังเป็นจังหวัดที่เสียชีวิตสูงที่สุดด้วย
ก่อนหน้านี้มีข้อเสนอจากคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ซึ่งมีเป้าหมายร่วมในเรื่องความปลอดภัยของคนเดินถนน 3 ด้าน คือ 1. ด้านการบริหารจัดการ : โครงสร้าง กฎหมาย งบประมาณ และ KPI กำกับติดตาม 2. ด้านมาตรการด้านถนนและ “ทางม้าลายมาตรฐาน-ปลอดภัย” 3. ด้านการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยและความรับผิดชอบร่วมกัน
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวอีกว่า ฐานรากของเรื่องนี้คือ ด้านการบริหารจัดการ โครงสร้าง กฎหมาย งบประมาณ และ KPI กำกับติดตาม โดย 50 เขตในกรุงเทพมหานครควรมีตัวชีวัดด้านความปลอดภัย เพื่อให้ทุกเขตมีความปลอดภัยที่สูงขึ้น และเมื่อเวลามีเคส ควรมีการไปสอบเคส และต้องได้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านอุบัติเหตุเข้ามาวิเคราะห์หาสาเหตุเชิงลึก ซึ่งกรุงเทพมหนาคร สามารถทำได้เพราะมีต้นทุนด้านเครือข่ายหลากหลาย หรือทั้งจากนักวิชาการมหาวิทยาลัยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) ควรเปิดช่องให้มีความร่วมมือวิชาการ ทุก ๆ เคสที่เกิดอุบัติเหตุ ควรมีการไปสอบทุกราย เพราะจะทำให้รู้สาเหตุเชิงลึกเพื่อมาแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดได้เร็ว
ที่สำคัญอย่างทางม้าลายกว่า 2,000-3,000 แห่งในกรุงเทพมหานคร แม้อาจจะยังไม่มีงบประมาณมากนัก แต่สิ่งที่ควรดำเนินการคือควรทำให้เกิดมาตรฐานการเตือน การควบคุมความเร็ว พอกำหนดมาตรฐานทางม้าลายได้ ก็อาจสานต่อให้มีการระดมทุน สร้างเครือข่ายเชิญชวน หลายภาคส่วนเช่นเอกชนมาเป็นเจ้าของทางม้าลายปลอดภัย อาจเริ่มทางม้าลายที่โรงเรียน เพราะปกติแต่ละปีอาจเคยทำได้หลัก 100 จุดเท่านั้น แต่ถ้าสร้างความร่วมมืออาจได้เพิ่มมากว่า 1,000 แห่ง ที่จะประหยัดงบลงได้ อีกอย่างคือส่งเสริมมาตรการสร้างความปลอดภัยอาจเริ่มที่โรงเรียนใน กทม.ก่อน 437 แห่ง ไปสร้างการเรียนรู้สร้างการสื่อสาร น่าจะเป็นต้นแบบที่ทำได้เลย ซึ่งจะสามารถขยายเป็นแบบอย่างให้เมืองอื่นต่อไป
ดังนั้นสิ่งที่จะต้องทำเร่งด่วน คือ มาตรการด้านถนนและทางม้าลายมาตรฐานและปลอดภัย
- ผ่านการปรับเปลี่ยนถนนให้มีมาตรฐานสากล แบ่งช่องเดินรถที่ชัดเจนสำหรับรถที่ใช้ความเร็วต่างกัน
- ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางถนน ร่วมกำหนดทางม้าลายให้มีมาตรฐาน
- ประเมินจุดเสี่ยงที่ต้องปรับปรุง วิเคราะห์สาเหตุเชิงลึกการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มทางข้าม ทางเลือกอื่น
- กำหนดพื้นที่จำกัดความเร็วในเขตชุมชน ที่ 30-40 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งก็มีเสียงตอบรับจากผู้ว่าฯ กทม.ทันที
ถ้าดูเฉพาะพฤติกรรม การหยุดรถบริเวณทางข้าม หรือทางม้าลาย ในกรุงเทพมหานคร เทียบระหว่าง รถจักรยานยนต์ รถยนต์ และรถโดยสาร จะพบว่า พฤติกรรมผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ไม่หยุดรถ เมื่อมีคนมายืนรอบริเวณทางข้ามสูงกว่าร้อยละ 80 โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่มีแนวโน้มไม่หยุดรอ สูงที่สุดถึงร้อยละ 92 นอกเหนือจากปัจจัยอื่นคือ การขับรถเร็ว และกายภาพของถนน
ด้าน ผู้ว่าฯ กทม. ตั้งเป้าว่าจะลดอัตราการเสียชีวิตอุบัติเหตุทางถนนในกรุงเทพฯ ให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 4 ปีที่รับหน้าที่ ซึ่งหากสามารถทำได้ อาจปรับใช้ในท้องถิ่นอื่น ๆ โดยเฉพาะความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อคืนสิทธิความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้า ขณะที่ก่อนหน้านี้ธนาคารโลกเอง ก็เคยระบุว่า หากไทยลดอุบัติเหตุทางถนนได้ครึ่งหนึ่งจะมี GDP เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 22.1
ข้อมูลจากทีมวิจัยของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า พฤติกรรมผู้ขับขี่ที่ใช้ความเร็วและโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เอื้อต่อการข้ามถนน คือปัจจัยสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 32 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ถนนไม่ใช่พื้นที่สำหรับรถเพียงอย่างเดียว แต่รับรองให้เป็นสิทธิของคนเดินเท้าด้วย