ปรับแผนเตือนภัยสึนามิกรณีทุ่นฯ ใช้งานไม่ได้ทั้ง 7 ตัว

ศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ กางแผนแจ้งเตือน หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 จะกดเตือนภัย เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลยืนยันว่าจะเกิดสึนามิ จะประกาศแจ้งอพยพ 5 ภาษา ย้ำติดตามข้อมูลจากสถานีวัดระดับน้ำต่างประเทศ มีเวลา 1 ชม. ในการหนีภัยสึนามิ

จากกรณีที่ทุ่นตวรจวัดคลื่นสึนามิของประเทศไทย และทุ่นฯ ของสาธารณรัฐอินเดียที่ติดตั้งในมหาสมุทรอินเดียใช้งานไม่ได้ ทั้ง 7 ตัว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ยืนยันยังคงติดตามเฝ้าระวังและเจ้งเตือนตามระเบียบประจำ ด้วยการใช้ข้อมูลวิเคราะห์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถ้าเกิดสึนามิจริง 6 จังหวัด ติดชายฝั่งอันดามันจะรู้ทันที และหอเตือนภัยสึนามิขนาดใหญ่ 130 แห่งจะดังขึ้นหลังกดสัญญาณเตือนภัย ภายใน 5 นาที

กลวัชร ทรัพย์ส่งสุข ผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เปิดเผยว่า การแจ้งเตือนภัยสึนามิผ่านหอเตือนภัยจะเป็นข้อความเสียงที่ส่งไปยังหอเตือนภัยและอุปกรณ์เตือนภัย ตามข้อความ “โปรดทราบ โปรดทราบ เกิดแผ่นดินไหวในทะเล อาจเกิดคลื่นสึนามิ ขอให้ออกจากชายหาดให้ไกลที่สุด ไปยังพื้นที่สูงโดยด่วน” และเมื่อได้รับการยืนยันการเกิดสึนามิจากการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องมือเฝ้าระวัง ร่วมกับข้อมูลจากหน่วยงานเครือข่ายต่างประเทศ จะแจ้งเตือนเป็นข้อความเสียงอีกครั้ง ด้วยข้อความว่า “โปรดทราบ โปรดทราบ ขณะนี้เกิดคลื่นสึนามิ ขอให้ออกจากชายหาาดให้ไกลที่สุด ไปยังพื้นที่สูงโดยด่วน” ซึ่งจะมีถึง 5 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ เยอรมัน จีน และญี่ปุ่น เพื่อให้อพยพไปที่สูงได้ทันท่วงที หลังกดสัญญาณเตือนภัยสึนามิจากกรุงเทพมหานคร หอเตือนภัยจะดังขึ้น ภายใน 5 นาที

แม้ขณะนี้ทุ่นเตือนภัยสึนามิ 2 ตัว ที่เป็นทุ่นตัวไกล ที่ห่างจากเกาะภูเก็ต เป็นระยะทาง 965 กิโลเมตร และทุ่นตัวใกล้ที่ติดตั้งห่างจากเกาะภูเก็ตประมาณ 340 กิโลเมตร ยังใช้งานไม่ได้ แต่ประชาชนไม่ต้องกังวล เพราะยังมีระบบการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยสึนามิที่ใช้ร่วมกับข้อมูลจากเครื่องมือเฝ้าระวังของหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญทั้งภายในและต่างประเทศ ได้แก่ หน่วยงานบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) ข้อมูลสถานีวัดระดับน้ำทะเลจากเว็บไซต์ของ The Intergovernmental Oceanographic Commission : IOC โดยเฉพาะข้อมูลระดับน้ำจากสถานีวัดระดับน้ำทะเลของประเทศอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งการเกิดคลื่นสึนามิจริง และเกิดการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ จะมีเวลา 1 ชั่วโมงในการหนีภัยสึนามิ

นอกจากนี้ ยังใช้ข้อมูลจากติดตามการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลบริเวณสถานีเกาะเมียง จังหวัดพังงาของกรม อุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถานีเกาะราชาน้อย จังหวัดภูเก็ต ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะเตือนภัยได้ภายใน 20 นาที

ปัจจุบันหอเตือนภัยสึนามิและอุปกรณ์เตือนภัย บริเวณ 6 จังหวัด พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และ ตรัง มีมากกว่า 200 แห่ง แต่หากแยกเฉพาะหอเตือนภัยขนาดใหญ่ จะมี ทั้งหมด 130 แห่ง ปัจจุบัน ที่ตำบลไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต ถูกขโมย ทั้งตู้อุปกรณ์และสายไฟ โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปซ่อมแซมพร้อมนำอุปกรณ์ไปติดตั้งใหม่อย่างเร่งด่วนคาดว่าภายใน 2-3 วันนี้จะกลับมาใช้ได้ตามปกติ แต่ถ้ารวมทั้งอุปกรณ์เตือนภัยและหอเตือนภัยในภาพรวมทั้งประเทศจะมีทั้งหมดประมาณ 1,460 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้กำชับท้องถิ่นดูแลตรวจสอบการใช้งานให้เป็นปกติ

ด้านผู้อำนวยการศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ยังเปิดเผยอีกว่า สำหรับข้อปฏิบัติในการกดสัญญาณเตือนภัยสึนามิ หากมีการแจ้งยืนยันแผนดินไหว ขนาด 7.8 ขึ้นไปถือเป็นข้อปฏิบัติให้มีการกดสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ขณะที่ข้อส่งสัยว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขนาดต่ำกว่าเช่นขนาด 7 จะทำอย่างไร ซึ่งเคยมีข้อมูลยืนยันแล้วว่า บางเหตุการณ์ไม่เกิดสึนามิ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อความปลอดภัย ถ้าเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่จะมากจะน้อย ระหว่างนี้ และมีการยืนยันจากการวิเคราะห์ข้อมูลเตือนสึนามิ ก็จะต้องแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบทันทีให้เร็วที่สุดเมื่อเกิดภัย

การตื่นตัวครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่หลายคนต้องตระหนัก เพราะขณะที่ในอดีต เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นบทเรียนที่คนไทยไม่เคยลืม เพราะเมือเกิดแผ่นดินไหว ที่มีศูนย์กลางอยู่ลึกลงไปในมหาสมุทรอินเดีย ใกล้ด้านตะวันตกของตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย พบว่าแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ทำให้เกิดความเสียหายบนเกาะสุมาตรา และยังรับรู้ได้ในภาคใต้ของประเทศไทย

นับเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีประเทศที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดได้แก่ ประเทศอินโดนีเซีย รองลงมาคือประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย และประเทศไทย ตามลำดับ โดยความรุนแรงของแผ่นดินไหวครั้งนั้นมีขนาด 9.1 ถึง 9.3 นับเป็นแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงเป็นอันดับที่สามตามที่เคยวัดได้จากเครื่องวัดแผ่นดินไหว (Seismometer) นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นแผ่นดินไหวที่มีคาบเวลายาวนานที่สุด

นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผย ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2565 จะปรับการทดสอบหอเตือนภัยสึนามิ ให้ได้ยินเสียงเพลงชาติ ทุกๆ 8 โมงเช้า ทุกวัน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับแระชาชน ในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน กว่า 27 อำเภอ 102 ตำบล หรือกว่า 500 ชุมชน สบายใจว่าระบบเตือนภัยยังใช้การได้ และกำชับทุกหน่วยงานให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับสาธารณภัยดูแลและเตรียมพร้อมแผนปฎิบัติการในช่วงหยุดยาว 13-17 กรกฎาคม 2565 ขณะเดียวกัน ยังกำหนดให้มีการฝึกซ้อมระดับจังหวัด อย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมพร้อมกับการรับมือทุกสาธารณภัย

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์